xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

สถานีต่อไป “บางชัน-ลาดกระบัง” รัฐบาลยิ่งลักษณ์แพ้ทุกแนวรบ นิคมอุตสาหกรรมตายหยังเขียด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -นับตั้งแต่น้ำท่วมในพื้นที่แรกๆ ที่จังหวัดพิษณุโลก พิจิตร และลุกลามเรื่อยมาถึงนครสวรรค์ อยุธยา กินเวลากว่า 2 เดือน ซึ่งสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนชนิดไม่สามารถประเมินค่าได้ รวมไปถึงพื้นที่เศรษฐกิจทั้งการเกษตร และภาคการผลิต โดยเฉพาะในนิคมอุตสาหกรรมถึง 7 แห่งที่ต้องอยู่ในสภาพจมน้ำไปเรียบร้อยแล้ว สถานการณ์น้ำท่วมก็ดูเหมือนจะไม่คลี่คลายลงไปสักเท่าไหร่

โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิคมอุตสาหกรรมอีก 2 แห่งที่กำลังถูกมวลน้ำกรีฑาทัพเข้าถล่มคือเริ่มจากนิคมอุตสาหกรรมบางชันที่ทำท่าว่าจะไม่รอดดังคำให้สัมภาษณ์ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีที่ประกาศปกป้องเต็มที่ แต่ไม่รับรับว่าจะน้ำจะท่วมหรือไม่ท่วมโดยอ้างว่า ไม่สามารถฝืนธรรมชาติได้ และตามต่อด้วยนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบังอันเป็นสถานีต่อไป

ทั้งนี้ ถ้าตรวจสอบสถานการณ์ย้อนหลังถึงวิกฤตการณ์ของนิคมอุตสาหกรรมก็จะพบว่า กองทัพน้ำเริ่มบุกโจมตีที่เขตประกอบการสวนอุตสาหกรรมโรจนะเมื่อวันที่ 8 ต.ค. 54 เป็นแห่งแรก จากน้ำก็ทะลุทะลวงต่อที่นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า(ไฮเทค) เมื่อวันที่ 13 ต.ค. นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน 15 ต.ค. เขตประกอบการแฟคตอรี่แลนด์ 16 ต.ค. 54 นิคมอุตสาหกรรมนวนคร เมื่อ 18 ต.ค. และนิคมอุตสาหกรรมบางกะดีเมื่อวันที่ 20 ต.ค. ซึ่งทั้งหมดนี้มีโรงงานรวมกันประมาณ 840 โรงงาน มีการจ้างงานกว่า 430,000 คน และมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 406,800 ล้านบาท

นิคมอุตสาหกรรมที่โดนน้ำท่วม 7 แห่งนี้ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อโรงงานเฉพาะในนิคมอุตสาหกรรมที่ต้องหยุดการผลิตและมีผลให้แรงงานทั้งหมดต้องหยุดงานชั่วคราวเท่านั้นหากแต่โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมเหล่านี้ยังเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนสำคัญป้อนให้กับโรงงานอื่นๆ ไมว่าจะเป็นรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ ผลกระทบจึงยังลามไปยังโรงงานอื่นๆ

ที่ไม่โดนน้ำท่วมต้องชะลอการผลิตและหยุดการผลิตไปด้วยเนื่องจากขาดชิ้นส่วน

นักลงทุนรายใหญ่สุดของไทยและได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมมากสุดจึงหนีไม่พ้น นักลงทุนจากญี่ปุ่นจึงทยอยกันออกมาจี้รัฐบาลไทยที่ต้องการเห็นการบริหารจัดการน้ำให้คลี่คลายโดยเร็วที่สุด ถึงขั้นระบุชัดเจนว่ามาตรการฟื้นฟูและเยียวยานั้นก็จำเป็นแต่ขอให้จัดลำดับความสำคัญไว้ในอันดับรองๆ ก่อน ....เพราะรัฐบาลประกาศว่า “เอาอยู่ เอาอยู่” แต่ที่รู้ๆ นิคมอุตสาหกรรมก็ทยอยแตกทีละแห่ง ทำให้นักลงทุนเริ่มหวั่นๆ ว่าแล้วนิคมฯที่เหลือจะรอดหรือไม่

แน่นอน ความรู้สึกของนักลงทุนญี่ปุ่นคงไม่ต่างจากความรู้สึกคนไทย โดยเฉพาะคนกรุงเทพมหานครและชาวจังหวัดสมุทรสาครที่ขณะนี้ยังต้องลุ้นกันวันต่อวันเพราะจะเป็นพื้นที่รับน้ำเพื่อลงทะเลไปอีกเต็มๆ เช่นเดียวกับพื้นที่ตะวันออกของกทม.ในส่วนของนิคมฯบางชันและลาดกระบัง

ทั้งนี้ เมื่อรวมพื้นที่เสี่ยงทั้งหมดแล้วเรียกว่ายังมีนิคมอุตสาหกรรมและเขตอุตสาหกรรมที่ต้องจับตาใกล้ชิดอีก 9 แห่ง ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมบางชัน ลาดกระบัง อัญธานี เวลโกรว์ บางพลี บางปู สมุทรสาคร สินสาคร และพื้นที่อุตสาหกรรมอำเภอบ้านโพธิ์ ซึ่งมีโรงงานทั้งหมด 1,291 แห่งเงินลงทุนรวมประมาณ 4.5 แสนล้านบาท

นี่ยังไม่รวมกับโรงงานนอกนิคมฯ ที่สมุทรสาคร เพราะหากรวมไปด้วยจะมีรวมกันมากว่า 4,000 แห่งและที่นี่นอกจากจะมีนิคมอุตสาหกรรมสินสาครที่ถือว่าเป็นอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ครบวงจรแล้ว ยังมีอุตสาหกรรมอาหารที่สำคัญ รวมถึงชิ้นส่วนด้านเครื่องนุ่งห่มที่หากกระทบจะลามไปยังอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มที่อื่นๆ อีก ......

กล่าวเฉพาะนิคมอุตสาหกรรมบางชันและนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบังนั้น เวลานี้ตกอยู่ในภาวะลูกผีลูกคนและไม่สามารถรับประกันได้เต็มปากเต็มคำได้ว่าจะรอดพ้นจากน้ำท่วม โดยนิคมฯ บางชันได้ถูกน้ำโอบรอบกระชับพื้นที่มาในทุกทิศทุกทาง และสถานการณ์ได้เข้าสู่แผนรางรับฉุกเฉินขั้นที่ 1 ไปเรียบร้อยแล้ว เช่นเดียวกับนิคมฯ ลาดกระบังที่ “นายสมคิด แท่นวัฒนกุล” รองผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) ระบุว่า ขณะนี้สถานการณ์ที่นิคมฯ ลาดกระบังอยู่ในภาวะที่เสี่ยงมาก เนื่องจากปริมาณน้ำมาจากคลอง 8 คลอง 9 คลอง 10 ที่รวมเป็นน้ำเดียวกัน และคลอง 13 ที่มาเชื่อมกับคลองลำประทิว

หรือดังที่ นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวยอมรับเมื่อวันที่ 9 พ.ย.ว่านิคมอุตสาหกรรมบางชันมีภาวะกดดันหนักเนื่องจากปริมาณน้ำมีมากขึ้นโดยมีโรงงานประมาณ 20 แห่งได้ประกาศหยุดการผลิตชั่วคราวแล้วเพื่อความไม่ประมาท

ทีนี้ ลองมาฟังความเห็นนักธุรกิจต่อกรณีดังกล่าวการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.)เมื่อวันที่ 7 พ.ย.นายพงษ์ศักดิ์ อัสกุล ประธานหอการค้าแห่งประเทศไทยยังต้องเอ่ยปากว่า เมื่อน้ำเข้าเขตกทม.ที่ยังไม่มีวี่แววว่าจะหยุดอยู่ และยังมีแนวโน้มว่านิคมอุตสาหกรรมที่เหลืออย่างบางชันอาจเอาไม่อยู่ด้วย ตรงนี้ถ้าไม่สามารถดูแลนิคมอุตสาหกรรมต่างๆที่เหลืออยู่ได้จะเอาอะไรไปสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้อีก

สอดคล้องกับ นายสมมาต ขุนเศษฐ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า ตามหลักการแล้วน้ำไม่ควรจะเข้าท่วมกรุงเทพฯ ชั้นในเพราะเปรียบเสมือนปล่อยให้ข้าศึกเข้าเมืองหลวงแต่หากจำเป็นจริงก็ไม่ควรจะให้ท่วมเกินระดับ 50 เซนติเมตรเพราะไม่เช่นนั้นความเชื่อมั่นจากนักลงทุนจะไม่เหลือเพราะนักลงทุนต่างชาติเห็นอยู่แล้วว่าน้ำเหนือมาตั้งแต่ 3เดือนที่ผ่านมาเท่ากับไทยมีปัญหาในเรื่องการบริหารจัดการ ดังนั้นจึงขอให้รัฐบาลพูดความจริงเพื่อให้ประชาชนและนักลงทุนที่มีสำนักงานใหญ่ในกรุงเทพฯได้มีเวลาเตรียมตัว

วันนี้ภาพของรัฐบาลดูจะมุ่งเน้นไปที่การฟื้นฟูและเยียวยาภาคธุรกิจโดยเฉพาะเมื่อโฟกัสไปที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ที่ถูกมอบหมายให้เร่งฟื้นฟูนิคมอุตสาหกรรมร่วมกับน.พ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล

รมว.อุตสาหกรรมที่ขมีขมันแต่จะเร่งสูบน้ำออกจากนิคมอุตสาหกรรมทั้งที่น้ำก็ยังไม่มีวี่แววจะลดลง.....เป็นการชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลมองแต่จะใช้เงินในการฟื้นฟู ทั้งที่เสียงเอกชนเองก็สอดแทรกเสมอว่าสิ่งสำคัญคือให้เร่งลดน้ำภาพรวมลงเร็วๆ แต่ก็ดูจะไร้ผล
เพราะน้ำยังคงไหลบ่าลามไปยังพื้นที่อื่นๆ อย่างต่อเนื่อง

รู้แต่ว่าปลายทางคือทะเล แต่ไม่รู้จะไปจบยังพื้นที่ใดและความเสียหายจะเพิ่มขึ้นอีกมากน้อยเพียงใด

...นี่คือคำถามที่รัฐบาลไม่สามารถตอบได้แต่ที่แน่ๆ เวลานี้น้ำเข้าท่วมกทม.รัฐบาลบอกได้เพียง....รัฐบาลไม่เชี่ยวชาญพื้นที่เท่ากับกทม. เป็นการส่งสัญญาณลอยแพกันชัดๆ ไร้ความรับผิดชอบ

....น่าจะหมดเวลาสำหรับรัฐบาลนี้จริงๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น