xs
xsm
sm
md
lg

“ปู” ไม่กล้าการันตีหลัง 31 ต.ค.พ้นวิกฤตหรือไม่ ขอประเมินอีกครั้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)
“ยิ่งลักษณ์” ปัดไม่เคยบอกไม่มีน้ำเหนือไหลเข้า กทม. บอกน้ำก้อนใหญ่ถูกฝั่งออกทางตะวันออกผ่านสมุทรสาครมากขึ้น ชี้ฝั่งตะวันตกระบายน้ำได้ยากเหตุคลองขวางมาก ไม่กล้าบอกพ้นขีดอันตรายหลัง 31 ต.ค.หรือไม่ ขอประเมินสถานการณ์อีกครั้ง วางแผนงบ 8 หมื่นล้านบาทกอบกู้อุตสาหกรรมในนิคมหลังจมน้ำ ขอญี่ปุ่นหนุนเครื่องจักรเข้าซ่อมแซมแบบฟาสต์แทร็ก ยกเว้นภาษีอากร ส่งผู้เชี่ยวชาญเร่งกู้เครื่องจักรให้เร็ว พร้อมขอเจบิกปล่อยเงินกู้ให้บริษัทไทย-ญี่ปุ่น เตรียมสินเชื่อให้ประชาชน 3 แสนล้าน ตั้งเป้า 3 เดือน



วันนี้ (31 ต.ค.) เมื่อเวลา 08.45 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ออกมาระบุว่า ไม่เชื่อว่าน้ำที่มาจากทางเหนือไหลเข้าสู่พื้นที่กรุงเทพมหานครจะหมดแล้วอย่างที่ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยกล่าวอ้างว่า ตนได้ฟังข่าวแล้ว จริงๆ แล้วเราเชื่อว่าเป็นการพูดคุยกันคนละมุม น้ำที่เคยบอกว่าเป็นน้ำก้อนใหญ่ ที่คุยกันเป็นจำนวนเป็นหมื่นล้านลูกบาศ์กเมตร ตรงนั้นวันนี้ที่สบายใจขึ้น คือ มวลน้ำก้อนนั้นได้ถูกออกไปทางด้านคลอง และทางตะวันออกมากขึ้น จึงทำให้ปริมาณน้ำที่ออกไปทางจังหวัดนครสวรรค์ ชัยนาทลดลง เหมือนที่ได้เรียนเป็นข่าวว่าจำนวนลดลง และบางส่วนก็ค่อยๆ ระบายน้ำลง ดังนั้น คำว่าก้อนใหญ่จะไม่เห็น แต่ไม่ได้บอกว่าจะไม่มีน้ำเข้ามาในกรุงเทพมหานครแล้ว นั่นก็คือ สิ่งที่ผู้ว่าราชการจังหวัดบอกว่าไม่เชื่อว่าจะไม่มีมีน้ำ แต่ว่าไม่ใช่มวลก้อนใหญ่

นายกฯ กล่าวต่อว่า แต่จะมีน้ำในส่วนที่ขณะนี้อยู่ตามจังหวัดนครสวรรค์ ชัยนาท ที่ค่อยๆ ไหลลงมา ดังนั้นหลังจากนี้ถ้าสมมติว่าน้ำหนุนจากทะเลลดลง น้ำก็จะแห้งสามารถระบายน้ำจากปลายน้ำจากคลองข้างใน ลงสู่ทะเลมากขึ้น มวลน้ำก้อนที่อยู่ทางเหนือ จะค่อยๆ ไหลมาตามคันคลอง ตามระบบสูบน้ำ หรือผลักดันน้ำก็แปลว่ามา แต่อาจจะเห็นตามกรุงเทพมหานคร แต่ถ้าส่วนตรงนั้นไม่มีน้ำจากส่วนอื่นเข้ามา การไหลก็อาจจะทำให้ไม่ท่วมมาก แต่อาจจะมีการเจิ่งนองบ้างนิดหน่อย ในส่วนของแนวตามคันคลองเพื่อที่จะไหลลงสู่ทะเล ก็น่าจะเป็นการพูดกันคนละมุมคือ น้ำก้อนใหญ่เป็นในส่วนนี้ ไม่ได้หมายความว่า วันนี้น้ำแห้งหมดแล้วไม่ใช่

เมื่อถามว่า การระบายน้ำที่ระบายออกทางตะวันออก และทางตะวันตกปริมาณมาก-น้อยแค่ไหน น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ตะวันออกก็ไปได้เยอะขึ้นแล้ว ส่วนตะวันตกยังไม่ลงข้างล่าง ซึ่งเราก็หารือกันพยายามที่จะผลัดน้ำฝั่งตะวันตกลงสู่ทะเล แต่ทั้งหมดนี้ยังไม่ค่อยลงไปทางด้านใต้ที่เรามีการขุดคลองไว้ ก็ยังมีการหารือกันอยู่ในส่วนของทีมงานในการที่จะเร่งระบายน้ำ บางส่วนก็ต้องมีการควบคุม เนื่องจากฝั่งตะวันตกจากที่ประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำที่เรามีการประชุมทุกวัน โดยคณะกรรมการก็เป็นเอกภาพร่วมกับทางด้าน กทม.ด้วย ก็จะพบว่าในฝั่งตะวันตกที่ทำได้ยาก เพราะว่า ส่วนใหญ่คลองตะวันตกจะเป็นแนวนอน แนวขวาง ดังนั้นจึงไม่ไหลลงสู่ทะเล เราจึงพยายามที่จะผลักดันให้ออกทางซ้ายก่อน คือ ฝั่งตะวันออก ขณะเดียวกันก็พยายามที่จะไปดูบานประตูน้ำ และตั้งเครื่องผลักดันน้ำต่างๆ เพื่อให้ไหลลงทางตรงเพื่อลงสู่ทะเล ทางด้านของจังหวัดสมุทรสาครมากขึ้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้อุตสาหกรรมของบริษัทญี่ปุ่นจมในนิคมต่างๆ กว่า 500 บริษัท จะมีแผนรองรับอย่างไร น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ในส่วนของนิคมอุตสาหกรรมได้มีการขอความร่วมมือไปยังสถานทูตญี่ปุ่นใน 2 ส่วนคือ เราเองจะอนุญาตให้นำเครื่องจักรต่างๆ ที่เป็นอุปกรณ์ในการซ่อมแซมเข้ามาในลักษณะของฟาสต์แทร็คคือ เร็วขึ้น และมีการยกเว้นภาษีอากรให้ และขอผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ ความชำนาญในการเร่งกู้เครื่องจักรให้เร็ว และในส่วนของธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (เจบิก) จะให้เงินกู้กับบริษัทญี่ปุ่น และบริษัทไ ทย-ญี่ปุ่น ที่ลงทุนในประเทศไทยด้วย ซึ่งมีการหารือกันแล้ว เราได้มีการเตรียมสั่งเครื่องสูบน้ำที่จะระดมกันกู้ในส่วนของนิคมให้ฟื้นโดยเร็ว อย่างที่เรียนว่า การที่ย้าย ศปภ.มาที่กระทรวงพลังงานก็จะเริ่มเตรียมทีมในการกอบกู้ในการฟื้นฟูเรื่องต่างๆ หลังจากที่น้ำลดลงในแต่ละจังหวัดโดยเฉพาะในส่วนของนิคม

เมื่อถามว่า มีมาตรการอย่างไรในการสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนญี่ปุ่น นายกฯ กล่าวว่า อันที่จริงนักลงทุนญี่ปุ่น เราคุยแล้ว ส่วนใหญ่ให้ความมั่นใจต้องเรียนอย่างนั้น เพราะว่าเราเองได้มีการชี้แจงทางด้านทุกกระทรวงที่กระทรวงการต่างประเทศได้มีการชี้แจงผ่านทางท่านทูตไปด้วย และในส่วนนี้เราก็จะมีการชี้แจงแผนระยะยาวให้ด้วย แต่เบื้องต้นในเรื่องของแผนการกอบกู้ เราได้มีการคุยกับอุตสาหกรรมไปด้วย รวมถึงจะมีนโยบายในส่วนของการส่งเสริมการลงทุนให้กับผู้ลงทุนทุกราย

เมื่อถามว่า ได้เตรียมงบประมาณที่จะฟื้นฟูกอบกู้หลังน้ำลดไว้จำนวนเท่าไร นายกฯ กล่าวว่า จากที่เราได้มีการบริหารจัดการหลังคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ตัดงบแต่ละกระทรวง อย่างน้อยที่เห็นแน่ๆ คือ 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมเงินสินเชื่อที่เราได้ขอความร่วมมือทั้งในส่วนของแบ็งค์รัฐและแบ็งค์พาณิชย์อีกทั้งหมดประมาณ 3 แสนกว่าล้านบาท อันนี้จะเป็นวงเงินสินเชื่อพิเศษที่จะให้ผู้ประสบอุทกภัย เราจะช่วยเหลือดูแลทุกกลุ่มไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ ภาคอุตสากรรม หรือรายย่อยหรือประชาชนทุกท่านที่ประสบกับภาวะนี้ เราจะทบทวนช่วยเหลือดูแลและยังไม่รวมในสิ่งที่เราจะบูรณาการระยะยาว ซึ่งเราจะประกาศอีกครั้งในเรื่องของการระดมเงินส่วนนี้

เมื่อถามว่า ระยะเวลาในการฟื้นฟูกอบกู้หลังน้ำลดจะต้องใช้ระยะเวลาเท่าใด ล่าสุด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกมาระบุว่า รัฐบาลจะต้องใช้ระยะเวลาเบื้องต้นในการฟื้นฟูประมาณ 3 เดือน นายกฯ กล่าวว่า บางส่วนต้องทยอยทำ เบื้องต้นเร็วสุดคือ 3 เดือน แต่คำว่า 3 เดือนคือการเร่งระบายน้ำ เพื่อที่จะเข้ามาทำการกอบกู้ไม่ว่าจะเป็นถนน หรือส่วนต่างๆ อย่างนิคมอุตสาหกรรม เราได้มีการพูดคุยกันเรื่องแผนการป้องกัน เช่นการทำเขื่อนหรือเครื่องสูบน้ำต่างๆ หรืออุปกรณ์รองรับ เพราะบางที่ไม่ได้เตรียมพร้อมในส่วนนี้ เราจะให้ผู้เชี่ยวชาญหารือร่วมกับนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งนิคมอุตสาหกรรมมีด้วยกัน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่พัฒนานิคมแล้ว เช่น นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ นิคมอุตสาหกรรมไฮเทคต่างๆ ตรงนี้เราจะคุยกับผู้ประกอบการในการวางแผนร่วมกัน แต่นิคมอุตสหกรรมรายย่อยๆ ทางด้านส่วนกลางจะเข้าไปดูแลให้ความช่วยเหลือ

เมื่อถามว่า จากการประเมินสถานการณ์น้ำ จะเข้าไปลึกถึงพื้นที่กรุงเทพฯชั้นในขนาดไหน นายกฯ กล่าวว่า วันนี้ระดับน้ำทะเลต่างจากเมื่อวาน (30 ต.ค.) 2 เมตร ถือว่าดีขึ้นและในวันนี้(31 ต.ค.) ระดับน้ำทะเลจะสูงประมาณ 2.62 เมตร จากเดิม 2.64 เมตร แต่วันนี้ที่คน กทม.ยังรู้สึกว่าน้ำไม่ได้ลดลง เป็นเพราะในส่วนของแนดยมีการขอให้ภาคเอกชนเข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งมีจุดสำคัญสองสามจุดที่เราเร่งดำเนินการซ่อมแซมอยู่หากเสร็จเรียบร้อยคง จะเข้าใจได้มากขึ้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า น้ำที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะและนิคมอุตสาหกรรมนวนคร จะลดลงเมื่อไร พอตอบได้หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า คงต้องใช้เวลา ขอให้ดูระดับน้ำในวันนี้ (31 ต.ค.) ก่อน เพราะระดับน้ำที่พระนครศรีอยุธยาเริ่มทรงตัวแล้ว คงต้องให้ทาง กทม.ระบายน้ำลงไปก่อน ซึ่งจะทำให้ในส่วนของนิคมอุตสหกรรมทั้งสองแห่งดังกล่าวระบายเร็วขึ้น แต่คงต้องใช้เวลาเป็นอาทิตย์สองอาทิตย์

เมื่อถามว่า นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ ออกมารระบุมวลน้ำที่ยังเหลือมีปริมาณนับหมื่นล้านลูกบาศก์เมตรเลยใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ไม่ ถ้ารวมกันใช่ แต่หากเราบริหารเป็นบล็อกๆ จะลดความเสี่ยงลง คือวันนี้ที่คุยกันจะบริหารเป็นบล็อกๆ เพราะให้น้ำลงสู่ทะเลโดยเร็ว เราไม่บริหารและปล่อยลงมาทั้งก้อนจะลงมาโถมที่กรุงเทพฯ ซึ่งอาจจะควบคุมไม่อยู่ ดังนั้นแต่ละบล๊อกเราจะปิดปะตูระบายน้ำเพื่อให้ออกทางขวา ซึ่งชะลอน้ำไม่ให้รุนแรง ดังนั้นน้ำที่ชาวกรุงเทพฯประสบจะไม่เห็นสภาพรุนแรงอย่างที่ชาวต่างจังหวัดได้รับ

“กราบเรียนว่า ดิฉันมีความเห็นใจทุกส่วนรวมถึงพี่น้องชาวจังหวัดต่างๆ ด้วย ทั้งปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ หรือพื้นที่อื่นๆ ในอยุธยา ที่กำลังเจอน้ำที่ยังไม่ลดลง ต้องขอเวลาให้ระดับน้ำทะเลลงก่อนแล้วเราจะเข้ามาทำงานได้” นายกรัฐมนตรีกล่าว

เมื่อถามว่า น้ำทะเลจะหนุนสูงช่วงวันลอยกระทงอีกรอบใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า เท่าที่สอบถามมาตัวเลขอาจไม่สูงเท่าวันนี้ แต่วันนั้นเราน่าจะระบายน้ำลงได้เร็วกว่านี้และจะทำให้ประตูระบายน้ำทำงาน ได้เต็มที่ แต่วันนี้เต็มหมด เมื่อถามว่า นายกฯ เคยบอกว่าวันที่ 31 ต.ค.นี้จะเป็นวันที่เฝ้าระวังอีกหนึ่งวัน แสดงว่าหลังวันที่ 31 ต.ค.นี้จะสามารถบอกได้ว่าสถานการณ์น้ำจะพ้นวิกฤติได้เมื่อไร นายกฯ กล่าวว่า คงจะบอกได้บ้าง แต่บางท่านบอกว่ายังมีปลายเดือนนี้อีกครั้ง ซึ่งเรายังไม่ได้รับข้อมูลข้อเท็จจริง ยังไม่อยากเข้าไปสรุปตรงนั้น แต่หลังวันที่ 31 ต.ค.นี้เราคงจะประชุมกันว่าระดับน้ำจะเป็นอย่างไร และการแก้ปัญหาตามจุดต่างๆ หากเป็นไปตามแผนก็น่าจะสามารถให้ความไว้วางใจได้ระดับหนึ่ง เมื่อถามว่าในวันที่ 1 พ.ย.นี้ จะสามารถประกาศได้หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า คงไม่สามารถประกาศอย่างนั้นได้ เพราะต้องดูผลจากประตูระบายน้ำต่างๆด้วย เพราะบางส่วนกำลังซ่อมแซม ซึ่งต้องใช้เวลา 2 วัน แต่คงจะพอบอกว่าสถานการณ์จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นหรือเปล่า

เมื่อถามถึงปัญหาที่ชาวบ้านทะเลาะกันอย่างกรณีที่คลองสามวา นายกฯ กล่าวว่า จบแล้วเมื่อคืนตอนตี 2 ภาคประชาชนไม่มีปัญหา
กำลังโหลดความคิดเห็น