xs
xsm
sm
md
lg

โตเกียวเปิดแผนช่วยเหลือฉุกเฉิน อุ้มธุรกิจญี่ปุ่นสำลักน้ำท่วมในไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไข่เป็ดไข่ไก่ในยามน้ำหลาก ช่างเป็นของที่หาได้ยากเหลือใจ
วอลล์สตรีท เจอร์นัล - ขณะที่ภาวะน้ำท่วมทำให้เมืองไทยแทบเป็นอัมพาตไปหมด ญี่ปุ่นได้ประกาศมาตรการช่วยเหลือฉุกเฉินเพื่อจำกัดผลกระทบต่อเครือข่ายซัปพลายเชนของผู้ผลิตแดนปลาดิบที่มีฐานอยู่ในเมืองไทย

มาตรการที่รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศออกมาเมื่อวันอังคาร (25) จะเน้นที่การจัดหาเงินทุนระยะสั้นให้แก่บริษัทญี่ปุ่นและบริษัทในเครือที่อยู่ในไทย เนื่องจากมวลน้ำมหาศาลที่ล้อมกรุงเทพฯ อยู่ขณะนี้เพิ่มความเป็นไปได้ที่หุ้นส่วนธุรกิจท้องถิ่นของบริษัทญี่ปุ่นจะไม่สามารถชำระเงินได้ตามกำหนด

ทากายะ คิชิ ผู้อำนวยการฝ่ายรับประกันการค้าของกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น ชี้ว่า ตลาดการเงินของไทยยังมีความจำกัดในด้านขนาด และอาจปั่นป่วนได้อย่างง่ายดายหากความต้องการเงินทุนพุ่งขึ้นในยามฉุกเฉิน

ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) เผยว่ากำลังร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อเปิดทางให้แบงก์ญี่ปุ่นกู้ยืมโดยตรงจากแบงก์ชาติของไทย โดยใช้พันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งหากลุล่วง จะทำให้แบงก์ญี่ปุ่นสามารถระดมเงินก้อนใหญ่ได้อย่างรวดเร็วและมีต้นทุนต่ำ

หลังจากที่น้ำหลากมาถึงกรุงเทพฯ ความต้องการเงินสดฉุกเฉินก็พุ่งทะยานขึ้น ส่งผลให้แบงก์ญี่ปุ่นประสบปัญหาในการระดมทุนในรูปเงินบาท เว้นแต่ยอมเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
เจ้าหน้าที่บีโอเจเผยว่า ธนาคารกลางของสองประเทศกำลังพิจารณารายละเอียดขั้นสุดท้ายของโปรแกรมนี้

ขณะเดียวกัน นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย คาดว่าโปรแกรมนี้จะมีผลภายใน 1 หรือ 2 สัปดาห์ และแบงก์ชาติกำลังแสวงหาความร่วมมือจากธนาคารกลางสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และเยอรมนี สำหรับแผนการในลักษณะเดียวกันนี้

ไทยนั้นเป็นเครือข่ายห่วงโซ่อุปทานหลักของญี่ปุ่น โดยผู้ผลิตแดนปลาดิบใช้ประโยชน์จากแรงงานต้นทุนต่ำประกอบผลิตภัณฑ์เพื่อจัดส่งไปยังตลาด เช่น จีนและอินเดีย นอกจากนี้ ไทยยังมีบทบาทสำคัญสำหรับผู้ผลิตรถยนต์ที่เข้ามาตั้งโรงงานผลิตมากมายหลายแห่งตลอดหลายปีที่ผ่านมา

ยูคิโอะ เอดาโนะ รัฐมนตรีการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น เสริมว่าจะประเมินความต้องการของผู้ผลิตญี่ปุ่นและตอบสนองอย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ มาตรการเหล่านี้ของทางการญี่ปุ่น มีขึ้นหลังจากการเปิดตัวทีมรับสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ภายใต้มาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลญี่ปุ่น บรรษัทนิปปอน เอ็กซ์พอร์ต แอนด์ อินเวสต์เมนท์ อินชัวรันซ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานของทางการแดนปลาดิบ จะเข้าค้ำประกันพวกบริษัทญี่ปุ่นและธุรกิจในเครือสำหรับสินค้าที่ส่งออกไปยังประเทศไทย นี่มายความว่าบริษัทเหล่านี้จะไม่ประสบปัญหาขาดแคลนเงินสด ถึงแม้เผชิญปัญหาในการเรียกเก็บเงินจากลูกค้าในไทย

บริษัทประกันภัยที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นแห่งนี้ ยังจะค้ำประกันพวกหุ้นส่วนธุรกิจท้องถิ่นของบริษัทเหล่านี้ นอกจากนั้น กรณีที่แบงก์ญี่ปุ่นและไทยปล่อยกู้ให้แก่บริษัทญี่ปุ่นในไทย บรรษัทแห่งนี้ก็จะค้ำประกันให้เช่นเดียวกัน

เหตุการณ์น้ำท่วมที่เริ่มต้นขึ้นปลายเดือนกรกฎาคม ขณะนี้กลืนนิคมอุตสาหกรรม 7 แห่งรอบๆ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นที่ตั้งบริษัท 725 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นของญี่ปุ่น 447 แห่ง จากจำนวนโรงงานของญี่ปุ่นทั้งหมด 1,800 แห่งในประเทศไทย

เจ้าหน้าที่กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นคาดหมายว่า การฟื้นฟูหลังน้ำลดน่าจะใช้เวลานานและบริษัทญี่ปุ่นจะต้องการความช่วยเหลือด้านเงินทุนในระยะยาว

ขณะนี้ ผู้ผลิตญี่ปุ่นกำลังพยายามหาทำเลอื่นๆ เป็นทางเลือกเตรียมไว้สำหรับสิ่งที่ทำการผลิตอยู่ในไทย โดยที่มีบางแห่งคิดย้ายการผลิตกลับญี่ปุ่นเป็นการชั่วคราว

มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ตั้งข้อสังกตว่า อุทกภัยครั้งนี้จะสร้างความเสียหายราว 2% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของไทย

ในรายงานอีกฉบับ บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือจากอเมริกาแห่งนี้ ตอกย้ำความเสี่ยงของบริษัทรถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์แดนซากุระที่มีฐานการดำเนินงานในไทย ซึ่งเท่ากับเป็นการซ้ำเติมจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเดือนมีนาคมในญี่ปุ่น

“โรงงานในไทยหลายแห่งของฮอนด้าต้องหยุดการผลิตหลายเดือนเนื่องจากถูกน้ำท่วม ส่งผลให้บริษัทอาจต้องลดการคาดการณ์ผลกำไรจากการดำเนินงานของปีการเงินนี้ที่เล็งไว้ที่ 270,000 ล้านเยน (3,500 ล้านดอลลาร์) ลง 10% และยังมีแนวโน้มว่าส่วนแบ่งตลาดโลกอาจลดลงด้วยเช่นกัน

“เช่นเดียวกับอีซูซุ มอเตอร์ ที่เพิ่งเปิดตัวรถกระบะรุ่นใหม่ และมีโรงงานผลิตส่วนใหญ่อยู่ในไทย”

ขณะเดียวกัน แคนนอนแถลงเมื่อวันอังคาร (25) ว่า อุทกภัยในไทยจะทำให้กำไรจากการดำเนินงานของบริษัทลดลงราว 20,000 ล้านเยนในไตรมาส 4

อนึ่ง เพื่อช่วยเหลือการฟื้นฟูระยะยาวของไทย รัฐบาลญี่ปุ่นมีแผนฝึกวิศวกรท้องถิ่นในการฟื้นฟูโรงงานที่จมน้ำ รวมทั้งให้เงินกู้แก่นิคมอุตสาหกรรมที่บริษัทญี่ปุ่นดำเนินการอยู่
กำลังโหลดความคิดเห็น