เจแปน ไทม์ส/เอเอฟพี – อุทกภัยครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบ 50 ปี สร้างความเสียหายรุนแรงต่อบริษัทญี่ปุ่นที่มาเปิดโรงงานผลิตรถยนต์และอุตสาหกรรมอื่นๆ ในไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในฐานการผลิตที่สำคัญของโลก
ผู้ผลิตที่มีโรงงานอยู่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ยังไม่อาจคาดเดาได้ว่าจะกลับมาผลิตสินค้าตามปกติได้เมื่อใด เนื่องจากเครื่องไม้เครื่องมือล้วนจมอยู่ใต้น้ำ ส่วนรายอื่นๆ ที่ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงก็ต้องพลอยหยุดกิจการไปด้วย เพราะขาดแคลนชิ้นส่วนจากโรงงานที่ประสบภัยพิบัติ
“พื้นที่น้ำท่วมดูจะขยายวงกว้างออกไปอย่างช้าๆ” โคจิ ซาโกะ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสฝ่ายภูมิภาคเอเชีย จากสถาบันวิจัย มิซูโฮ ระบุ
“ยิ่งไปกว่านั้น น้ำที่ท่วมถนนสายหลักๆ ก็ทำให้หลายบริษัทไม่สามารถส่งชิ้นส่วนไปยังโรงงานผลิตได้”
รายงานจากองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศญี่ปุ่น ระบุว่า บริษัทญี่ปุ่นกว่า 400 ราย ที่มีโรงงานอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม 6 แห่งของไทย ต่างได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม โดยขณะนี้รัฐบาลไทยประกาศเตือนอุทกภัยเพิ่มเติมไปยังอีก 200 บริษัทแล้ว
ผู้สันทัดกรณี ระบุว่า มีบริษัทญี่ปุ่นมาเปิดกิจการในเมืองไทยหลายพันราย
ผู้ผลิตรถยนต์เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด เนื่องจากโรงงานผลิตชิ้นส่วนหลายแห่งถูกน้ำท่วมขัง
ฮอนด้า มอเตอร์ โค แถลงวานนี้ (18) ว่า โรงงานประกอบรถยนต์ในมาเลเซียซึ่งสามารถผลิตรถได้ราว 40,000 คันต่อปี เริ่มลดกำลังการผลิตลงแล้ว หลังจากชิ้นส่วนที่ส่งมาจากไทยเริ่มขาดแคลน
ฮอนด้า เผยด้วยว่า โรงงานในอยุธยาจะระงับการผลิตไปจนถึงวันศุกร์ (21) นี้เป็นอย่างน้อย และยังไม่มั่นใจว่า การปิดโรงงานซึ่งเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม จะดำเนินต่อไปถึงเมื่อใด
“เรายังไม่ทราบว่าจะต้องปิดโรงงานอีกนานแค่ไหน เพราะไม่สามารถกลับเข้าไปได้” ฟูมิกะ อิชิโอกะ โฆษกหญิงของ ฮอนด้า กล่าว
นิคอน คอร์ป ซึ่งผลิตภัณฑ์กล้องสะท้อนภาพเลนส์เดี่ยว (เอสแอลอาร์) ร้อยละ 90 และเลนส์ชนิดต่างๆ อีกกว่าร้อยละ 60 ถูกผลิตขึ้นที่โรงงานในอยุธยา ก็ยังไม่สามารถประเมินอนาคตกิจการในไทยได้เช่นกัน
ด้าน โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป ก็ประกาศปิดโรงงานประกอบรถยนต์ 3 แห่งในไทย ไปจนถึงวันที่ 22 ตุลาคมนี้ เนื่องจากขาดแคลนชิ้นส่วน
โรงงานที่ เกตเวย์, บ้านโพธิ์ และสำโรง ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของโตโยต้า เนื่องจากรถยนต์ที่ผลิตในไทยกว่าครึ่งหนึ่งถูกส่งไปขายทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศอาเซียน, ตะวันออกกลาง และออสเตรเลีย
“ที่ต้องรอดูกันต่อไป คือ โรงงานเหล่านี้จะต้องปิดไปอีกนานแค่ไหน... ผู้ผลิตส่วนใหญ่จะมีวัตถุดิบสำรองไว้สำหรับ 1-2 เดือน ถ้าต้องปิดโรงงานนานกว่านั้น ก็จะกระทบต่อยอดขายแน่นอน” ซาโกะ จากสถาบันวิจัย มิซูโฮ กล่าว