xs
xsm
sm
md
lg

ส.อ.ท.ขอ4ปีขึ้นค่าแรง300บ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- “ส.อ.ท.”เตรียมเสนอรัฐบาลขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันควรทยอยเป็นขั้นบันไดภายใน 3-4 ปี เผยผลสำรวจขึ้นทันทีทั่วประเทศเอกชนรัดเข็มขัดส่อแววลดคน ลดและยกเลิกสวัสดิการที่เคยให้ และท้ายสุดเลิกกิจการ
 

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.เตรียมข้อมูลเพื่อหารือกับรัฐบาลถึงนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน ที่รัฐบาลเตรียมผลักดันในเร็วๆนี้โดยจะขอให้มีการทยอยปรับขึ้นแบบขั้นบันไดภายใน 3-4 ปี โดยผ่านการพิจารณาจาก คณะกรรมการไตรภาคีทั้งในระดับจังหวัดและส่วนกลาง ปราศจากแรงกดดันหรือการแทรกแซงจากภาคการเมือง นอกจากนี้ควรนำปัจจัยเรื่องค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ เป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณาด้วย

"ส.อ.ท.จะชี้แจงข้อมูลผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ต่อคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ การพาณิชย์และอุตสาหกรรม วุฒิสภา ในการสัมมนาเรื่องดังกล่าววันที่ 19 สิงหาคมนี้ พร้อมกันนี้ต้องการให้รัฐบาลต้องหาแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบถึงขั้นอาจปิดกิจการ หรือเลิกจ้างแรงงานที่เป็นรูปธรรม พร้อมทั้งสนับสนุนการพัฒนาฝีมือแรงงาน
เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานจริงๆ"นายพยุงศักดิ์กล่าว

แหล่งข่าวจากส.อ.ท.กล่าวว่า ส.อ.ท.ได้เตรียมข้อมูลที่จะเสนอต่อรัฐบาลถึงผลกระทบต่อการขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันทั่วประเทศแล้ว โดยผลสำรวจพบแนวทางของภาคเอกชนที่จะต้องปรับตัวสำคัญคือ การนำเทคโนโลยีเครื่องจักรมาผลิตแทนคนเพิ่มขึ้นกรณีที่มีเงินทุนเพียงพอ การบริหารลดต้นทุนต่างๆ เช่น ต้นทุนวัตถุดิบ ขนส่ง ลดการจ้างงานและพัฒนาผลิตภาพแรงงานที่มีอยู่ให้ทำงานได้หลากหลาย และที่สุดลดกำลังการผลิต และชะลอการลงทุน โดยอาจย้ายไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

นอกจากนี้ผลกระทบอื่นๆที่ตามได้แก่ ผู้ประกอบการอาจลดหรือยกเลิกสวัสดิการที่เคยให้กับพนักงานอาทิเช่น ค่าครองชีพ ค่าอาหาร ที่พัก รถรับส่ง เงินกู้ ชุดฟอร์ม ทุนการศึกษา เป็นต้น โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและเล็ก(เอสเอ็มอี) ขณะเดียวกันอาจมีการลักลอบการจ้างแรงงานผิดกฏหมายมากขึ้นเพื่อลดต้นทุนส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศ ซึ่งผลกระทบระยะยาวจะทำให้การลงทุนในประเทศลดลง

สำหรับอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรง อาทิ อุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม อาหาร รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก(เอสเอ็มอี)ซึ่งใช้แรงงานกล่ว 10 ล้านคน
กำลังโหลดความคิดเห็น