xs
xsm
sm
md
lg

ทัวร์นกแก้วได้ 8 จว.ภาคกลางเสียสละ 1 ล้านไร่ทำแก้มลิงรับน้ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (แฟ้มภาพ)
ที่ประชุมทัวร์ลุ่มน้ำเคาะ 8 จังหวัดภาคกลางเสียสละ 1 ล้านไร่ทำแก้มลิง “วิทยา” อ้างจ่าย 5 พันเกือบ 100% แล้ว ส่วนงบอื่นจัดสรรครบแล้วเช่นกัน “รมว.อุตฯ” เตรียมชงเงินอุดหนุนช่วยนิคมสร้างเขื่อนเข้า ครม.ครั้งหน้า เผย “ไจก้า” ใจป้ำออกให้ 2 ใน 3 กว่า 2,600 ล้านบาท ที่เหลือให้กู้ “ออมสิน-ธปท.” ดอกเบี้ยต่ำ ผู้ประกอบการฝากรัฐทวงเงินประกัน แนะผันน้ำจากนครสวรรค์ออกทางตะวันออกหวังให้เลี่ยง “อยุธยา” ด้าน “ชัชชาติ” รมช.คมนาคม ผุดไอเดียถนนตลอดแนวเจ้าพระยา 0.5-1 เมตร รวม 400 กม.เป็นด่านแรกรับน้ำล้นตลิ่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานในการประชุมประชุมแผนงานโครงการป้องกันอุทกภัยจังหวัดพื้นที่กลางน้ำตอนล่าง ร่วมกับรัฐมนตรี คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน (กยน.) ผู้ว่าราชการจังหวัด ส่วนราชการ และผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรม 5 แห่งในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ณ ห้องประชุมภายในอาคารศูนย์ศิลปาชีพระหว่างประเทศ จ.พระนครศรีอยุธยา นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข ได้แถลงผลการประชุมว่า ในการประชุมร่วมกันกับ 8 จังหวัดพื้นที่กลางน้ำตอนล่าง ประกอบด้วย สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ปราจีนบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง นครนายก สระบุรี และลพบุรี โดยในที่ประชุมได้สรุปควมก้าวหน้าของการฟื้นฟูและเยียวยาของทั้ง 8 จังหวัด ดังนี้

1. ในส่วนเงินช่วยเหลือ 5,000 บาทต่อครัวเรือน มีผู้ขอรับการสนับสนุน 540,000 ราย และได้นำจ่ายไปแล้ว 497,000 ราย คิดเป็น 96.63 เปอร์เซ็นต์ 2. การช่วยเหลือเกษตรกร ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาล 3,533.24 ล้านบาท และได้นำจ่ายครบถ้วนแล้ว 3. การฟื้นฟูเยียวยา ได้รับอนุมัติงบประมาณทั้งสิ้น 4,540.46 ล้านบาท ซึ่งได้รับการจัดสรรงบประมาณเรียบร้อยแล้วทั้ง 8 จังหวัด 4. การซ่อมแซมโบราณสถาน ได้รับการอนุมัติงบประมาณ 775.10 ล้านบาท

นายวิทยากล่าวต่อว่า สำหรับการหาพื้นที่รั้บน้ำใน 8 จังหวัด ได้มีพพื้นที่สำหรับการบริหารจัดการน้ำเป็นจำนวนทั้งสิ้น 969,140 ไร่ หรือรวมประมาณ 1 ล้านไร่ ซึ่งจะเป็นพื้นที่แก้มลิง สำหรับเป็นโครงการแก้มลิงรองรับน้ำในส่วนลุ่มน้ำภาคกลาง และกลางน้ำตอนล่าง ถัดมาเป็นการพิจารณาเสนอขอให้มีการแก้ไขในส่วนของโครงการแฟลกชิพ หรือโครงการระบบน้ำเร่งด่วนระยะสั้น จำนวน 17 โครงการใน 8 จังหวัด วงเงินที่ได้รับการพิจารณาอนุมัติในวันนี้ 419.14 ล้านบาท เช่น การขุดลอกคูคลอง โครงการแก้มลิง และโครงการซ่อมแซมฝายน้ำล้น เป็นต้น รวมไปถึงการอนุมัติโครงการปรับปรุงและยกระดับทางหลวงใน 4 จังหวัด จำนวน 6 โครงการ ได้รับความเห็นชอบงบประมาณ 279.27 ล้านบาท

ขณะที่ ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รมว.อุตสาหกรรม ได้เปิดเผยถึงผลการประชุมในส่วนของแผนการแก้ไขปัญหาของนิคทมอุตสาหกรรมว่า ที่ประชุมได้รับทราบความกเวหน้าและข้อเสนอแผนงานโครงการป้องกันน้ำท่วมของนิคมอุตสาหกรรม 5 แห่งในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา โดยได้มีการจัดทำแผนการก่อสร้างเขื่อนดิน หรือแนวคันดิน ประกอบกับการเสริมแนวคอนกรีตให้สูงขึ้นจากระดับเดิม 1-2 เมตร โดยจะมีวงเงินในการลงทุนประมาณ 4,000 ล้านบาท มีกำหนดทยอยแล้วเสร็จในช่วง ก.ค.-ก.ย.55 โดยงบประมาณในส่วนนี้ องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของประเทศญี่ปุ่น (ไจก้า) จะให้ความสนับสนุนแบบให้เปล่า จำนวน 2 ใน 3 ของค่ากก่อสร้าง คิดเป็นประมาณ 2,600 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 1,400 ล้านบาทจะใช้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากธนาคารออมสิน หรือธนาคารแห่งประเทศไทย

ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์กล่าวอีกว่า ทั้งผู้ประกอบนิคมอุตสาหกรรมยังได้นำเสนอ 5 ข้อต่อที่ประชุม ได้แก่ 1. เรื่องการเร่งรัดชดเชยประกันภัย ที่ยังมีผู้ประกอบการอีกร้อยละ 20 ที่ยังไม่ได้รับเงินชดเชย ในส่วนนี้ได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพาณิชย์ ประสานงานต่อไป 2. ผู้ประกอบการต้องการทราบรายละเอียดที่ชัดเจนในเรื่องของการจ่ายเงินสมทบการก่อสร้างเขื่อนดิน หรือแนวคันดินเพื่อป้องกันน้ำท่วมว่าในรายละเอียดต้องทำอย่างไร ซึ่งในส่วนนี้จะมีการนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในคราวต่อไป 3. เรื่องความประสงค์ในการได้รับข้อมูลประชาสัมพันธ์ในส่วนการป้องกันอุทกภัยภายนอกนิคม และการเปิดเผยข้อมูลระดับน้พในและพื้นที่ 4. เรื่องของการผันน้ำจาก จ.นครสวรรค์ ไปทางพื้นที่ฝั่งตะวันออก โดยผ่านเส้นทาง จ.ลพบุรี สระบุรี และฉะเชิงเทรา โดยให้พิจารณาความเหมาะสมในการจัดสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมใน จ.พระนครศรีอยุธยา และ 5. เสนอให้รัฐบาลปฏิบัติตามแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน ควรคำนึงถึงระดับโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุน ระบบโลจิกติกส์ การคมนาคม และการขนส่งกระจายสินค้า

โดย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมช.คมนาคม กล่าวเสริมในส่วนของแผนงานระบบขนส่งคมนาคมว่า แม้ว่านิคมอุสาหกรรมได้มีการสร้างแนวคันน้ำแล้ว แต่เมื่อเกิดเหตุอุทกภัย การเดินทางเข้าสู่พื้นที่อุสาหกรรม และชุมชนสำคัญต่างๆต้องสามารถเดินทางได้ โดยได้มีแนวทางการดำเนินการปรับปรุงเส้นทางโลจิสติกส์ต่างๆ โดยโครงการเหล่านี้ได้บรรจุไว้ในแผนของ กยน.แล้ว และได้มีการออกแบบ เริ่มหาผู้จัดจ้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จได้ภายใน 4 เดือน ทันกับช่วงที่น้ำจะมารอบใหม่ นอกจากนี้ยังมีการวางแผนในการยดระกับถนนริมแม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้นอีก 50-100 เซนติเมตรตลอดความยาวของแม่น้ำ เพราะมองว่าแนวคันน้ำที่มีประสิทธิภาพที่สุดคือ แนวถนน เพราะนอกจากเป็นแนวกั้นน้ำด่านแรกไม่ให้เข้ามาท่วมในพื้นที่จังหวัด ชุมชนสำคัญแล้ว ยังใช้ในการขนส่งคมนาคมได้ด้วย

ผู้สื่อข่าวสอบถามความชัดเจนในการยกระดับถนนตลอดแนวแม่น้ำเจ้าพระยา ว่าในภาพรวมมีความยาวทั้งสิ้นเท่าไร นายชัชชาติกล่าวตอบว่า เบื้องต้นที่ได้เสนอ กยน.ไปเป็นระยะทาง 400 กม.ตลอดความยาวของแม่น้ำ โดยโครงการจะเป็นในลักษณะของสองฝั่งแม่น้ำที่จะยกขึ้นมาเป็นแนวป้องกันน้ำ ทั้งนี้ แบ่งออกเป็นโครงการระยะสั้นที่จะเร่งดำเนินการในช่วงที่มีความสำคัญให้แล้วเสร็จภายใน 4-5 เดือนนี้ ส่วนภาพรวมที่จะขยายออกไปตลอดแนวแม่น้ำจะเป็นโครงการระยะกลางแล้วเสร็จภายใน 1 ปี

จากนั้นในเวลา 14.00 น. นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะได้เดินทางมายังนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อตรวจเยี่ยมโครงการป้องกันอุทกภัยรอบพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ที่บริเวณจุดเริ่มต้นงานกำแพงป้องกันน้ำท่วม จากเดิมที่มีแนวคันดินสูง 4 เมตร จากระดับน้ำทะเล แต่ไม่สามารถป้องกันอุทกภัยที่ผ่านมาได้ทำให้มีการเสริมคันดินเป็น 4.40 เมตร และเพิ่มแนวคอนกรีตเป็น 1.6 เมตร ซึ่งรวมสูงของคันดินทั้งหมดที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลปลานกลาง 6 เมตร โดยมีฐานกว้าง 9.40 เมตร รวมความยาวทั้งหมดรอบนิคม 11 กิโลเมตร พร้อมกันนี้นายกรัฐมนตรียังได้รับฟังรายงานการดำเนินโครงการ และได้มีการเซ็นสัญญาตรวจการก่อสร้างดังกล่าวด้วย

ทั้งนี้ บรรยากาศที่นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน มีประชาชนให้การต้อนรับเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพนักงานของบริษัทที่อยู่ภายในนิคมอุตสาหกรรมมาให้การต้อนรับนายกรัฐมนตรีอย่างคึกคัก
กำลังโหลดความคิดเห็น