xs
xsm
sm
md
lg

เจโทรคาด ศก.ไทย ฟื้นตัวได้เร็ว นลท.เรียกร้องจัดระบบประกัน-แผนแก้น้ำท่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"เจโทร" เผยผลสำรวจมุมมอง นลท.ญี่ปุ่น ส่วนใหญ่เชื่อ ศก.ไทย ครึ่งแรกปีนี้ มีโอกาสฟื้นตัวได้เร็ว เรียกร้องให้รัฐบาลไทยจัดระบบประกันภัยต่อให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม มีการกำหนดแผนป้องกันเพื่อรับมือกับน้ำท่วมอย่างรวดเร็ว พร้อมเปิดแผนเดินสายสำรวจนิคมอุตฯ ทั่วไทย หนุนนิคมฯ 304 อินดัสเตรียล ปาร์ค เป็นฐานการลงทุนแห่งใหม่

นายเซ็ทซึโอะ อิอุอิ ประธานคณะสำรวจเศรษฐกิจ หอการค้าญี่ปุ่น (Mr.Setsuo Luchi Chairman of JCC - Economic Survey JETRO Bangkok) แถลงผลการสำรวจแนวโน้มทางเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทยประจำครึ่งปีหลัง 2554 โดยประเมินว่า สภาพธุรกิจโดยรวมปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องถึงช่วงครึ่งปีแรกของปี 2554 แม้จะพบการปรับตัวในทิศทางที่แย่ลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 เนื่องจากผลกระทบจากเหตุอุทกภัย

เจโทร คาดการณ์ว่า สภาพธุรกิจโดยรวมในช่วงครึ่งปีแรกปี 2555 คือช่วงเดือนมกราคมถึงมิถุนายน จะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างรวดเร็วอีกครั้ง โดยบริษัทญี่ปุ่นมากถึงร้อยละ 64 เห็นว่า สภาพธุรกิจจะดีขึ้น ส่วนที่มองว่าจะแย่ลงมีร้อยละ 18 โดยคาดว่า อุตสาหกรรมการผลิตและอุตสาหกรรมอื่นๆ ทุกประเภทพบว่าปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นยกเว้นสิ่งทอ

ด้านยอดขายรวมในรอบปี 2555 บริษัทญี่ปุ่นที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมีสัดส่วนร้อยละ 76 จากที่ปี 2554มีบริษัทที่ระบุว่า มียอดขายที่ลดลงถึงร้อยละ 57 ส่วนกำไรก่อนหักภาษี ปี 2554 บริษัทญี่ปุ่นร้อยละ 75 ระบุว่ามีกำไร สำหรับปี2555 สัดส่วนบริษัทที่คาดว่าจะมีกำไร ก่อนหักภาษีได้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 82 ของจำนวนบริษัทที่ตอบแบบสอบถามทั้งหมด

การสำรวจครั้งนี้ ยังพบว่า บริษัทญี่ปุ่นมีการลงทุนด้านโรงงานและเครื่องจักรในอุตสาหกรรมการผลิตเพิ่มทั้งในรอบปี 2554 และ 2555 โดยส่วนใหญ่ระบุว่า ซื้อเครื่องจักรใหม่มาเปลี่ยนแทนเครื่องเดิม และพบด้วยว่า บริษัทส่วนหนึ่งเพิ่มการลงทุนด้านโรงงานและเครื่องจักร ด้วยเหตุผลจากการฟื้นฟูหลังน้ำท่วม

แนวโน้มการส่งออกพบว่า รอบปี 2554 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2553 โดยครึ่งปีแรกและครึ่งปีหลังบริษัทที่ตอบว่าการส่งออกมียอดเพิ่มขึ้นมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 33 และร้อยละ 36 ตามลำดับ

สำหรับตลาดส่งออกที่มีลู่ทางสดใสในอนาคต บริษัทญี่ปุ่นส่วนใหญ่ระบุว่า เป็นตลาดส่งออกไปญี่ปุ่นคิดเป็นร้อยละ 46 รองลงมาคือ อินโดนีเซีย อินเดีย และเวียดนาม คิดเป็นร้อยละ 44 ,29 และร้อยละ 28 ตามลำดับ นอกจากนี้ พม่า ยังเป็นตลาดส่งออกที่มีลู่ทางสดใสในอนาคตเช่นกัน

อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่ใช้ในการกำหนดแผนธุรกิจ พบว่า บริษัทที่ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มากถึงร้อยละ 37.9 ใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่ 30.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ รองลงมาร้อยละ 23.6 ใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ขึ้นไป แต่ไม่เกิน 31.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

สำหรับการจัดหาชิ้นส่วนและวัตถุดิบในปี 2554 โดยภาพรวมบริษัทญี่ปุ่นร้อยละ 56.7 จัดหาในอาเซียนซึ่งรวมการจัดหาในประเทศไทยที่มีสัดส่วนในจำนวนนี้ถึงร้อยละ 48 สำหรับปี 2555 คาดว่า สัดส่วนการจัดหาชิ้นส่วนและวัตถุดิบภายในอาเซียนจะเพิ่มเป็นร้อยละ 57.2 ซึ่งได้รวมสัดส่วนการจัดหาภายในประเทศไทยแล้วร้อยละ 47.8

ปัญหาด้านการบริหาร บริษัทญี่ปุ่นร้อยละ 59 ระบุว่า ปัญหาอันดับหนึ่งคือการแข่งขันกับบริษัทอื่นรุนแรงขึ้น รองลงมาร้อยละ 50 ระบุว่า มีปัญหาขาดแคลนบุคลากรระดับผู้จัดการ และร้อยละ 50 ระบุว่า ปัญหาค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรเพิ่มขึ้น

ส่วนข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยมากที่สุด โดยมีสัดส่วนถึงร้อยละ 64 ของบริษัทที่ตอบแบบสอบถาม คือ ต้องการให้รักษาความมั่นคงและเสถียรภาพทางการเมือง และความปลอดภัยของสถานการณ์บ้านเมืองรองลงมา คือ พัฒนาและปรับเปลี่ยนการใช้งานที่เกี่ยวกับระบบภาษีศุลกากร คิดเป็นร้อยละ 46 และประเด็นข้อเรียกร้องเรื่อง พัฒนาและปรับเปลี่ยนการใช้งานระบบภาษี อาทิ ภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นต้นมีสัดส่วนร้อยละ 32

นอกจากนี้ บริษัทที่ตอบแบบสอบถามร้อยละ 83 ยังเรียกร้องให้รัฐบาลไทยจัดระบบประกันภัยต่อให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม มีการกำหนดแผนป้องกันเพื่อรับมือกับน้ำท่วมอย่างรวดเร็ว

สำหรับผลกระทบของเหตุอุทกภัยในประเทศไทย บริษัทญี่ปุ่นร้อยละ 78 ระบุว่า ได้รับผลกระทบทางอ้อมเนื่องจากบริษัทคู่ค้าและผู้จัดส่งวัตถุดิบได้รับผลกระทบ ส่วนร้อยละ 19 ระบุว่า ได้รับความเสียหายทางตรงต่อตัวอาคาร สิ่งก่อสร้างและเครื่องจักร

สำหรับการเปิดดำเนินกิจการอีกครั้งของบริษัทที่ได้รับความเสียหายทางตรงจากน้ำท่วม แม้ว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 85 จะยังเปิดกิจการในที่เดิม แต่ก็พบว่า ร้อยละ 8 ระบุว่า ย้ายฐานการผลิตไปมาเลเซีย อินโดนีเซียและเวียดนาม โดยเป็นอุตสาหกรรมในกลุ่มไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ปัญหาการปรับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 63 ระบุว่ามีผลกระทบรุนแรงซึ่งในจำนวนนี้ ร้อยละ78 เป็นอุตสาหกรรมการผลิต โดยอุตสาหกรรมมองแนวทางแก้ปัญหาโดย อันดับแรกนำระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้เพิ่มขึ้น รองลงมาคือ ลดจำนวนแรงงานและขึ้นราคาสินค้า

โดยก่อนหน้านี้ นายเซ็ทซึโอะ และคณะผู้บริหารของเจโทร ได้เข้าเยี่ยมชมพื้นที่ของ สวนอุตสาหกรรม 304 อินดัสเตรียล ปาร์ค จ.ปราจีนบุรี หลังออกเดินสายสำรวจพื้นที่ของนิคม-อุตสาหกรรมหลายแห่ง เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนชาวญี่ปุ่นหลังไทยเผชิญวิกฤตมหาอุทกภัย ซึ่งได้เล็งเห็นศักยภาพและความพร้อมของสวนอุตสาหกรรม 304 อินดัสเตรียล ปาร์ค ในการเป็นฐาน การผลิตและการลงทุนแห่งใหม่ของแวดวงอุตสาหกรรมไทย เพราะปลอดภัยจากปัญหาน้ำท่วม ด้วยพื้นที่โครงการอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลถึง 20 เมตร ใกล้เมืองหลวง แหล่งขนส่ง และแหล่งแรงงานของประเทศ พร้อมพื้นที่ขนาดใหญ่พร้อมพัฒนาเพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมในอนาคต รวมถึงสาธารณูปโภคที่ครบครัน สามารถตอบสนองความต้องการในการผลิตและลงทุนได้เป็นอย่างดี

การเข้าเยี่ยมชมสวนอุตสาหกรรม 304 อินดัสเตรียล ปาร์ค จ.ปราจีนบุรี ของนายเซ็ทซึโอะในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของภารกิจการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบที่มีต่อนักลงทุนญี่ปุ่น หลังเขตอุตสาหกรรมหลายแห่งของไทยประสบภัยน้ำท่วมและส่งผลกระทบไปยังกิจการสัญชาติญี่ปุ่นหลายราย พร้อมทั้งมองหาแหล่งลงทุนแห่งใหม่ที่มีความปลอดภัยและมีความพร้อมเพื่อรองรับนักลงทุนญี่ปุ่นทั้งเก่าและใหม่ที่มีความสนใจจะลงทุนในประเทศไทย

นายเซ็ทซึโอะ กล่าวว่า สวนอุตสาหกรรม 304 อินดัสเตรียล ปาร์ค เป็นเขตอุตสาหกรรมที่น่าสนใจและน่าจะเป็นตัวเลือกใหม่ที่มีศักยภาพมากพอที่จะเป็นฐานการผลิตสำคัญแห่งใหม่ของประเทศไทย และการเดินทางมาเยือนในครั้งนี้ก็เป็นผลสืบเนื่องจากการที่ทางสวนอุตสาหกรรม 304 อินดัสเตรียล ปาร์ค ได้จัดงานสนับสนุนภารกิจ ฟื้นฟูความเชื่อมั่นนักลงทุนชาวต่างชาติให้แก่รัฐบาลไทย และได้เชิญตนเป็นประธานในพิธีร่วมกับ ฯพณฯ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในงาน “ความร่วมมือทวิภาคีระหว่างไทยญี่ปุ่นในการฟื้นฟูความเชื่อมั่นนักลงทุน และการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่าง สวนอุตสาหกรรม 304 อินดัสเตรียล ปาร์ค กับกลุ่มบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่น” ที่มีบริษัท แคนนอน ปราจีนบุรี (ประเทศไทย) จำกัด เป็นตัวแทนในการลงนาม โดยพิธีนี้จัดขึ้นภายในงาน BOI Fair 2011 เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2555 ที่ผ่านมา และจากการร่วมงานดังกล่าวได้เห็นว่า สวนอุตสาหกรรม 304 อินดัสเตรียล ปาร์ค มีความน่าสนใจและมีศักยภาพในการเป็นแหล่งลงทุนใหม่ให้กับชาวญี่ปุ่นได้ จึงตัดสินใจเดินทางมาเยือนสถานที่จริงถึง จ.ปราจีนบุรี

จากการเยี่ยมชมในครั้งนี้ นายเซ็ทซึโอะแสดงความเห็นว่า สวนอุตสาหกรรม 304 อินดัสเตรียล ปาร์ค เป็นตัวเลือกที่มาแรงมากในการก้าวขึ้นเป็นฐานการผลิตแห่งใหม่ของนักลงทุนญี่ปุ่น เพราะปลอดภัยจากปัญหาน้ำท่วมด้วยพื้นที่ตั้งของโครงการอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลถึง 20 เมตร, มีความสามารถที่จะรองรับการขยายตัวของโรงงานในอนาคตด้วยพื้นที่ขนาดใหญ่พร้อมพัฒนาอีกกว่า 10,000 ไร่, เส้นทางคมนาคมที่สะดวกใกล้กรุงเทพมหานคร และอยู่ไม่ไกลจากแหล่งขนส่งและแหล่งแรงงานสำคัญทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของ ประเทศไทย ซึ่งเป็นประเด็นที่เจโทรและนักลงทุนญี่ปุ่นให้ความสำคัญไม่ต่างจากเรื่องความพร้อมของระบบสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้าและน้ำประปาที่ครบครันและเพียงพอต่อการผลิต ซึ่งทั้งหมดนี้สวนอุตสาหกรรม 304 อินดัสเตรียล ปาร์ค สามารถตอบโจทย์ความต้องการของนักลงทุนที่กำลังมองหาฐานการผลิตแห่งใหม่ใน ประเทศไทยได้เป็นอย่างดี

ประเด็นเรื่องความปลอดภัย ความพร้อม ทำเลอันดีเยี่ยม และศักยภาพของสวนอุตสารหกรรม 304 อินดัสเตรียล ปาร์ค ในการเป็นฐานการลงทุนใหม่ของประเทศนี้ได้รับการยืนยันอย่างเห็นได้ชัดจากการที่มีนักลงทุนชาวต่างชาติหลายรายที่รวมถึงบริษัท แคนนอน ปราจีนบุรี (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ของญี่ปุ่นที่ได้ตัดสินใจเลือกที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่ของสวนอุตสาหกรรม 304 อินดัสเตรียล ปาร์ค หลังเกิดอุกทกภัยน้ำท่วม โดยให้เหตุผลหลักถึงการตัดสินใจดังกล่าวว่า ยังมีความเชื่อมั่นในประเทศไทยอยู่ และพื้นที่ของสวนอุตสาหกรรม 304 อินดัสเตรียล ปาร์คก็มีความปลอดภัยจากน้ำท่วม, มีต้นทุนการก่อสร้างที่ต่ำกว่าในแง่ราคาที่ดินและการลงเสาเข็มเพราะมีโครงสร้างดินที่แข็ง สามารถลดค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างได้ถึง 20% และช่วยย่นระยะเวลาในการก่อสร้างได้ถึง 30%, มีความสะดวกในเรื่องการคมนาคมขนส่งเพราะตั้งอยู่บนทางหลวงหมายเลข 304 และ 3079 ซึ่งเชื่อมโยงกับเส้นทางขนส่งหลักอื่นๆ และอยู่ห่างจากสนามบินสุวรรณภูมิเพียง 110 กิโลเมตร จากท่าเรือ แหลมฉบัง 130 กิโลเมตร รวมทั้งใกล้แหล่งแรงงานในจังหวัดนครราชสีมา อีกทั้งยังเป็นประตูสู่ประเทศเพื่อนบ้านหลักหลายประเทศ เช่น กัมพูชาและเวียดนาม ซึ่งจะเป็นตลาดใหม่ที่มารองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาค และการรวมกลุ่มกันอย่างสมบูรณ์ของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ( AEC) ในปี 2015
กำลังโหลดความคิดเห็น