รองนายกฯ ยืดอกขอบคุณผลโพลให้ความไว้วางใจเอาอยู่แผนก่อการร้าย ย้ำไทยไม่ใช่พื้นที่เป้าหมาย ถกฝ่ายความมั่นคงเพิ่มมาตรการเฝ้าระวังเข้ม ที่พักอาศัยกลุ่มตะวันออกกลาง โวยอย่าตื่นตระหนก FATF เรียกร้องแก้กม.ฟอกเงิน-ยึดทรัพย์ ลั่นแค่องค์กรในยูเอ็น ไม่ใช่เทวดา ไม่มีอำนาจแทรกแซงไทย
วันนี้ (20 ก.พ.) ที่ทำเนียบรัฐบาล ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวก่อการร้ายในประเทศไทย สืบเนื่องจากการจับกุมชาวอิหร่านที่เข้ามาเตรียมก่อเหตุในประเทศไทยว่า จริงๆ ประเทศไทยไม่ใช่ฐานการก่อการร้าย และเราไม่ยอมให้ใครมาก่อการร้าย ตนดีใจที่ผลสำรวจความเห็นของประชาชนเชื่อถือตน 63.8 เปอร์เซ็นต์ ว่าจะแก้ไขปัญหาได้ ขอเรียนว่าตนสามารถคุมสถานการณ์ได้ และจะทำให้ดีที่สุด ปัญหาที่เกิดขึ้นมี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มฮิซบอลเลาะห์กับอิหร่าน ซึ่งผู้นำจิตวิญญาณของฮิซบอลเลาะห์เขาออกมาปฏิเสธแล้วว่าไม่ได้ก่อเหตุ ส่วนชาวอิหร่านที่จับกุมได้ เขาประกอบระเบิดแล้วเกิดระเบิดขึ้นในบ้าน 1 ลูก โยนใส่แท็กซี่ 1 ลูก ทำตกเองจนขาขาด 1 ลูก ซึ่งพฤติกรรมของการใช้ระเบิดนั้นระเบิดที่เป็นลูกเขาใช้ขว้างปา ไม่ได้ใช้ก่อวินาศกรรม ก่อเหตุรุนแรง แต่เราต้องวิเคราะห์และหาข้อมูลประกอบว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนเกิดความมั่นใจ
ในวันนี้ตนได้เชิญ พล.ต.ท.วินัย ทองสอง ผบช.น. ผู้บังคับการตำรวจท่องเที่ยว และสันติบาล ตัวแทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตชด. สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) สำนักข่าวกรองแห่งชาติ มาวิเคราะห์กันว่าจากนี้ต่อไปโรงแรมที่ชาวตะวันออกกลางที่มาพักตามอพาร์ตเมนต์ บ้านพัก ต้องรีบรายงาน สน.ท้องที่ และตำรวจท่องเที่ยวต้องเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบ
ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวต่อว่า การเข้ามาของเขาดูได้สองแง่มุม บางคนมีกระทำเชิงสัญลักษณ์ เมื่อครบรอบ 40 ปี ของการก่อตั้งกลุ่มของลูกพี่เขา ก็อยากแสดงออก แต่พฤติกรรมของเหตุที่ผ่าน นายอาทริส ฮุสเซน เป็นชาวเลบานอน แต่ 3 คนที่จับได้เป็นชาวอิหร่าน อาวุธคนละลักษณะ ไม่มีพื้นฐานการเชื่อมโยงกัน แต่เมื่อเป้าหมายของเขาคือสหรัฐฯ กับอิสราเอล ตนจึงเน้นว่าจากนี้เราเพิ่มมาตรการอารักขาให้ แค่เราไม่ทะเลาะด้วย เราไม่เกี่ยวข้อง ใครที่มาอยู่ในประเทศไทยเราดูแลความปลอดภัย และที่นี่ประเทศไทยไม่ใช่ให้สหรัฐฯ กับอิสราเอลมาสั่งได้ ถ้าตนยังอยู่ตรงนี้ตนไม่ยอม
ต่อข้อถามว่า แต่ปัญหาคือบ้านเรายังให้วีซ่าปลายทางในการเข้าประเทศสามารถเข้าออกได้ง่าย และยังหาวัตถุประกอบระเบิดได้ง่าย จะอุดช่องว่างอย่างไร รองนายกฯ กล่าวว่า ตนจะเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องมาบูรณาการ ที่ผ่านมา 2 ปี 7 เดือน รัฐบาลไม่ทำอะไร ไม่เคยคิดว่าตม.จะทำอย่างไร เมื่อถามย้ำว่าปัญหาในการดำเนินการคือไม่ได้รับการอนุมัติให้การจัดซื้ออุปกรณ์เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลในการตรวจสอบบุคคลต้องสงสัย ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวย้อนว่า ก็เพราะคิดไม่เป็น คิดแต่เรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ
“ตำรวจต้องบูรณาการกำลังและการข่าวอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นการป้องกัน ต้องยอมรับว่าอิหร่าน อิสราเอล และสหรัฐอเมริกา เขาทะเลาะกันมานานแล้ว ทำไมเมืองไทยต้องไปทะเลาะกับเขา เราไม่ใช่ศัตรู เราต้องระมัดระวังป้องกัน ทำให้บ้านเราปลอดจากการก่อการร้าย ปลอดจากการเป็นฐานที่ตั้ง ซึ่งที่ผ่านมามันไม่มี และตนเชื่อว่าสามารถทำได้ ”ร.ต.อ.เฉลิมกล่าว
ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า ส่วนกรณีที่คณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงินเกี่ยวกับการฟอกเงิน หรือ FATF ที่ได้ประชุมที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ประกาศให้ประเทศไทยถูกขึ้นบัญชีเป็นประเทศที่ต้องเฝ้าระวังในการทำธุรกรรมทางการเงิน เพราะมีความเสี่ยงในการฟอกเงินและสนับสนุนการเงินก่อการร้าย เรียกร้องให้รัฐบาลไทยแก้ไขกฎหมาย 2 ฉบับ เกี่ยวกับ พ.ร.บ.ฟอกเงิน และ พ.ร.บ.ยึดทรัพย์สินปราบปราบผู้ก่อการร้ายว่า องค์กรดังกล่าวเป็นองค์กรที่ปรึกษาของสหประชาชาติ หรือยูเอ็น ไม่ใช่เทวดาที่ไหนที่จะมาสั่งเรา ที่ผ่านมารัฐบาลตื่นเต้น เป็นพวกห่านที่ตกใจง่าย ตนศึกษาเรื่องมาตลอด โดยการจะออกกฎหมายใดต้องคำนึงถึงประเพณี วัฒนธรรมของกฎหมายไทย เรื่องนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เคยเสนอมาแล้ว ตนบอกเลขาฯ ปปง.ไปแล้วว่าไม่ได้ แค่เตรียมการจะทำก็ถือว่าความผิดสำเร็จ และถ้าไปมีอำนาจเหนือศาล ตนไม่เห็นด้วย มีอำนาจไปยึดทรัพย์สินในธนาคาร และหรือมีอำนาจอื่นๆ อีกมา จะทำเพื่อเอาใจ FATF ไม่ได้ ซึ่งตนพร้อมจะชี้แจงทุกเวที ทั้งปารีส ประเทศฝรั่งเศส เพราะกฎหมายเมื่อออกมาแล้วต้องใช้ในเมืองไทยด้วย อย่างกรณีที่มีการไปแก้กฎหมายก่อการร้าย ที่ พ.ต.ท.ทักษิณเคยออกเอาไว้ ทำให้การเรียกร้องประชาธิปไตยกลายเป็นการก่อการร้าย
รองนายกฯ กล่าวว่า ฉะนั้นถ้าจะออกกฎหมายสองฉบับต้องแก้กฎหมายก่อการร้ายในเมืองไทยก่อน ถ้าไปแก้ฉบับที่เขาเรียกร้องก่อนที่จะมีการชุมนุม คนในเมืองไทยก็ถูกยึดทรัพย์กันหมด แม้แต่กระต๊อบที่ จ.อุดรธานี ก็ถูกยึดหมด พวกไม่รู้ก็กระดี๊กระด๊าว่าจะต้องเร่งรัด แต่ตนไม่เร่งรัด และไม่ต้องไปทำหนังสือชี้แจง FATF เพราะเขาไม่ใช่เจ้านายประเทศเรา ทำไมจะต้องเอากฎหมายฉบับนี้มาแทรกแซงประเทศเรา แล้วเขาก็ไม่ได้บอกว่าเราถูกขึ้นแบล็กลิสต์ แต่ปัญหาทั้งหมดมันเกิดจากอิสราเอล และสหรัฐฯ เขาโกรธอิหร่าน ว่าตั้งระเบิดนิวเคลียร์ และอิหร่านกับเราผูกพันกับเรามาหลายร้อยปี คนอิหร่านมีมรดกตกทอดมาเป็นคนไทยเยอะแยะ มันต้องศึกษาประวัติศาสตร์ อย่าไปตื่นเต้น
เมื่อถามว่าแสดงว่ามีวิธีการที่จะทำให้ประเทศไทยอยู่ตรงกลางไม่เข้าไปอยู่ในฐานะสุ่มเสี่ยงกลายเป็นคู่ขัดแย้งด้วย ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า ทำอย่างที่ตนคิดคือกลางๆ แต่ถ้าทำอย่างพรรคประชาธิปัตย์คิดเรียกว่าสุดโต่ง มันต้องดูด้วย เพราะกฎหมายไทยไปก้าวก่ายอำนาจศาลไม่ได้ แต่กฎหมายที่เขาเขียนมายึดธนาคารยังได้เลย ซึ่งบ้านเราไม่มี ตั้งแต่ตอนเด็ก ตนเคยชาวเห็นปาเลสไตน์ จับทูตยิวที่ซอยหลังสวน ตอน พ.ศ. 2515 เมื่อจับได้เขาก็ส่งออกไป จากนั้นถามว่ามีเหตุก่อการร้ายหรือไม่ เพราะไทยเป็นภาคีสมาชิก และสมัยเมื่อปี 2546 ก็มีการร่างกฎหมายการก่อการร้าย ซึ่งเจตนารมณ์ของการก่อการ้ายคือจารกรรม วินาศกรรม แบบตึกเวิร์ดเทรด ทำลายท่าเรือ สนามบิน แต่ประเทศไทยแค่เรียกร้องประชาธิปไตยยังก่อการร้าย ดังนั้นถ้าไปออกกฎหมายตามเขา ให้อำนาจไว้ไม่ได้หรอก เดี๋ยวพวกบ้าอำนาจเข้ามาบ้านเมืองก็แย่
เมื่อถามว่าภาคเอกชนสะท้อนว่าการที่มีการประกาศเช่นนี้มีผลต่อภาพลักษณ์ และความน่าเชื่อถือ ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า ตนจะบอกให้ว่าเจตนาที่เขาต้องการจะให้ออกกฎหมาย เป็นการออกสำหรับประเทศที่เป็นฐานที่ตั้งสนับสนุนผู้ก่อการร้าย หรือประเทศที่มีการก่อการร้าย แต่ประเทศเราไม่มี ที่เขาเตือนประเทศเรานั้นเป็นแค่สีเทา ส่วนอิหร่านกับเกาหลีเหนือนั้นติดแบล็กลิสต์ ขอให้อ่านหนังสือบ้างก่อนที่จะออกมาให้สัมภาษณ์อะไร
เมื่อถามว่าแสดงว่ากฎหมายการฟอกเงินที่บังคับใช้ในบ้านเรา กำหนดโทษไว้ความเหมาะสมแล้ว รองนายกฯ กล่าวว่า เหมาะสมสำหรับสังคมไทย แต่พวกนี้อยากให้เราทำว่าถ้าเป็น ที่ตั้งหรือสนับสนุนการก่อการร้าย แต่บ้านเราไม่มี ต่อข้อถามว่ารัฐบาลจะดำเนินการในเรื่องนี้อย่างไร เพราะทางฝ่ายค้านระบุว่าได้รัฐบาลที่แล้วเตรียมการในเรื่องนี้ไว้แล้ว ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า มาถึงรัฐบาลนี้ถึงตก เพราะมันไปไม่ได้ จะออกกฎหมายเอาใจต่างชาติไม่ได้ แล้วถ้าจะทำเรื่องนี้ต้องแก้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/1-4 ใหม่ เกี่ยวกับเรื่องก่อการร้ายในบ้านเราด้วย ซึ่งทางเลขาปปง.จะมาพบตน และตนจะอธิบายให้ฟัง
ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวถึงการเดินทางไปยังกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 15-17 ก.พ.ที่ผ่านมา เพื่อติดตามความคืบหน้าการประสานความร่วมมือในภูมิภาคอาเซียนในการาปราบปรามยาเสพติดว่า ดี เขาให้ความร่วมมือดี และ 4 ประเทศลุ่มน้ำโขงเขาช่วยเยอะ