บ้านพระอาทิตย์
เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ได้เห็นภาพ นางคริสตี เคนนีย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทยพร้อมคณะที่มีโฆษกสถานทูตสหรัฐฯเข้าพบหารือกับ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ที่กองบัญชาการกองทัพไทย นานกว่าหนึ่งชั่วโมง กลับออกมาเธอก็ให้สัมภาษณ์ยอมรับว่ามีการหารือกันถึงเหตุการณ์ระเบิดในซอยปรีดีพนมยงค์ และสุขุมวิท 71 ที่มีชาวอิหร่านเข้ามาเกี่ยวข้อง
การให้สัมภาษณ์ของ ทูตสหรัฐคนนี้ยังพบข้อมูลอีกว่า สหรัฐจะเข้ามาร่วมสอบสวนหาสาเหตุร่วมกับเจ้าหน้าที่ของไทยด้วย สอดคล้องกับคำเตือนและการให้ข้อมูลของสถานทูตอิสราเอลประจำประเทศที่ส่งถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติในเรื่องเป้าหมายสนามบินนานาชาติ รวมไปถึงแหล่งผลประโยชน์ของประเทศดังกล่าว ซึ่ง พล.ต.อ.เพรียวพันธุ์ ดามาพงศ์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ระบุออกมา และมีคำสั่งเข้มงวดในเวลาต่อมา
วกกลับมาที่ข้อสงสัยว่าทำไมทูตสหรัฐถึงได้เข้าพบหารือกับ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของไทย แทนที่จะเข้าพบกับฝ่ายรัฐบาล หรืออย่างน้อยก็ต้องเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือไม่ก็ต้องเข้าพบเพื่อหารือแลกเปลี่ยนข้อมูลกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เพราะการเข้าพบกับฝ่ายทหารเที่ยวนี้เข้าไปแบบทีมใหญ่ ลักษณะเป็นแบบเฉพาะเจาะจง ไม่ใช่แบบประเดี๋ยวประด๋าวออกมาถ่ายรูปแล้วก็กลับ
เป็นเพราะอยากทราบข้อมูลข่าวกรองจากฝ่ายทหารในระดับปฏิบัติการประจำหรือไม่ เพราะคนที่หารือเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด ไม่ใช่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่เป็นฝ่ายการเมือง
อย่างไรก็ดีหากพิจารณาจากท่าทีของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายการเมืองและเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ก่อนหน้านี้พยายามให้ข่าวลดโทนความรุนแรง ตัดบทในทำนองว่าไม่ใช่เป็นการก่อการร้าย และไม่เชื่อมโยงกับเหตุการณ์ลอบวางระเบิดนักการทูตอิสราเอลในกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย และในเมืองหลวงของจอร์เจีย เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์
ขณะเดียวกันเมื่อย้อนกลับไปดูเมื่อครั้งที่สถานทูตสหรัฐประจำประเทศไทยออกประกาศเตือนชาวอเมริกันให้ระมัดระวังการก่อการร้ายหากเดินทางเข้ามานั้นได้สร้างความฉุนเฉียวให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สุรพงษ์ โดยกล่าวทำนองว่าเป็นการแถลงโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้าผิดวิสัยมิตรประเทศ และต่อมาก็พยายามชี้แจงรวมถึงมีการเคลื่อนไหวจับกุมผู้ต้องสงสัยชาวเลบานอนและมีการให้คำมั่นว่า “เอาอยู่” รู้ตัวคนร้าย สามารถตัดตอนได้หมดแล้ว จนทำให้สหรัฐฯและประเทศพันธมิตรยอมยกเลิกประกาศเตือนดังกล่าวออกไป แต่กลายเป็นว่าเมื่อประกาศยกเลิกเพียงไม่กี่ชั่วโมงก็เกิดเหตุการณ์ที่ซอยปรีดีฯทันที ซึ่งฝ่ายการเมืองก็รีบฟันธงว่าไม่ใช่การก่อการร้าย โดยเฉพาะรองนายกรัฐมนตรี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ที่กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติยืนยันว่าไม่ได้เชื่อมโยงกับกลุ่ม เฮซบุลเลาะห์ แต่อย่างใด
ขณะที่ทั้งสหรัฐและอิสราเอลกลับสรุปไปในทางตรงกันข้าม เพราะสิ้นเสียงระเบิดในกรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ทางการของสองประเทศดังกล่าวก็ได้แถลงประณามและระบุว่าเชื่อมโยงกับอิหร่านและกลุ่มเฮซบุลเลาะห์ที่เป็นชีอะห์ในเลบานอน พร้อมทั้งมีการประกาศเตือนพลเมืองของประเทศตัวเองหากเดินทางเข้ามาไทย ซึ่งก็ทำให้หลายประเทศที่เพิ่งยกเลิกกลับมาประกาศเตือนอีกครั้ง
นอกเหนือจากนี้สิ่งที่ต้องพิจารณากันก็คือเหตุการณ์ระเบิดที่เกิดขึ้นในซอยปรีดีฯดังกล่าวเป็นเพราะคนร้าย “ผิดพลาด” เองจนทำให้เกิดระเบิดขึ้น ไม่ใช่เป็นเพราะฝีมือของเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยทราบเบาะแสแล้วเข้าไปจับกุมไม่ มีแต่ที่ผ่านมาบอกว่า “ไม่มีปัญหา” รู้ตัวคนร้ายหมดแล้ว นอนหลับ หรือเที่ยวให้สบายใจประมาณนั้นแหละ แต่พอเกิดเหตุจริงขึ้นมากลับพยายาม “กลบเกลื่อน” ทำให้เหมือนว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยเป็น “โจรกระจอก” ซึ่งน่ากลัวกว่า แต่คราวนี้มันเป็นเรื่องอ่อนไหว ที่เกี่ยวข้องกับมหาอำนาจที่กำลังขับเคี่ยวล้างแค้นกันทั่วโลกมันก็เลยโม้ไม่ออก
อย่างไรก็ดีหากพิจารณาถึงการเข้าพบผู้บัญชาการทหารสูงสุดของไทยของ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯในครั้งนี้หากมองในแง่ดี ก็เป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางด้านการข่าว รวมทั้งรับฟังความเห็นจากฝ่ายทหาร เพื่อนำไปเปรียบเทียบกับข้อมูลของฝ่ายรัฐบาลและตำรวจ แต่หากมองอีกด้านหนึ่งมันก็เป็นไปได้เหมือนกันว่าเขาไม่เชื่อมือการทำงานของฝ่ายไทย ที่พยายามเบี่ยงเบนให้กลายเป็นเรื่องอื่น และที่สำคัญได้เห็นกันอยู่ตำตาว่าเป็นเพราะคนร้าย สะพร่าวความก็เลยแตก ไม่เช่นนั้นความเสียหายอาจจะร้ายแรงกว่านี้หลายเท่า
ขณะเดียวกันการเข้าพบคราวนี้ของทูตสหรัฐ ยังเผยให้เห็นถึงความพยายามของสหรัฐฯที่จะเข้ามาร่วมในการตรวจสอบคดีที่เกิดขึ้น ซึ่งต้องรอดูว่ารัฐบาลไทยจะมีท่าทีเรื่องนี้อย่างไรด้วย แม้ว่าเราจะไม่ค่อยเชื่อมั่นในฝีมือการทำงานของตำรวจ แต่ก็ไม่ต้องการให้สหรัฐรวมทั้งประเทศใดเข้ามาจุ้น และที่สำคัญเราต้องไม่ชักศึกเข้าบ้าน ไม่ให้ไทยถูกมหาอำนาจลากเข้าไปเป็นแนวร่วมในสมรภูมิก่อการร้ายในภูมิภาคนี้เป็นอันขาด !!