xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: ระเบิด 5 จุด 3 ประเทศ ตอกย้ำ “อิหร่าน” ชำระแค้น “อิสราเอล”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สงครามใต้ดิน “อิหร่าน-อิสราเอล” เปิดออกมาให้โลกเป็นประจักษ์พยานอย่างชัดเจนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จากเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับระเบิด 5 จุด ในเมืองหลวงของ 3 ประเทศ เล็งเป้าหมายปลิดชีวิตเจ้าหน้าที่ยิว ในเวลาห่างกันไม่ถึง 24 ชั่วโมง โลกกำลังจับตามองความขัดแย้งที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีโครงการพลังงานนิวเคลียร์ของอิหร่าน ซึ่งอิสราเอลเชื่อว่าแฝงจุดประสงค์การทหาร เป็นปมสำคัญ และหมายรวมถึงการชำระแค้นให้นักวิทยาศาสตร์ชาวอิหร่านที่ถูกลอบสังหารด้วยระเบิดชนิดเดียวกันนี้
สถานีโทรทัศน์ เพรส ทีวี ของอิหร่าน แพร่ภาพประธานาธิบดี มาห์มูด อาห์มาดิเนจัด ในวันพุธ (15) ร่วมเป็นสักขีพยานความสำเร็จด้านนิวเคลียร์อีกขั้นหนึ่ง โดยอิหร่านได้สร้างเครื่องเหวี่ยงเสริมสมรรถนะยูเรเนียมรุ่นใหม่ และสามารถผลิตเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ ความเข้มข้น 20% ขึ้นภายในประเทศ
จุดเริ่มต้นของเหตุร้ายๆ ในปีนี้ เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม มอสตาฟา อาห์มาดี รอสฮัน นักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ของอิหร่าน ถูกคนร้ายลอบวางระเบิดสังหารในกรุงเตหะราน โดยคนร้ายขี่จักรยานยนต์เข้าไปติดตั้งระเบิดแม่เหล็กบริเวณท้ายรถยนต์ อิหร่านกล่าวหา “มอสซาด” หน่วยสืบราชการลับอิสราเอล และ “ซีไอเอ” เป็นผู้บงการ สหรัฐฯ ออกมายืนยันความบริสุทธิ์ใจในทันควัน ผิดกับอิสราเอลที่นิ่งเฉยและไม่ปฏิเสธ

อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดแห่งอิหร่าน ประกาศในเวลานั้นว่า ต้องมีสักวันที่เตหะรานจะสางแค้นอิสราเอล

รูปแบบการสังหารด้วยการใช้จักรยานยนต์เป็นพาหนะ วิธีการประกอบระเบิดกับแถบแม่เหล็ก และติดตั้งช่วงท้ายรถยนต์ หวังให้ไฟลุกท่วมจากถังน้ำมัน เป็นรูปแบบเดียวกับวิธีการลอบสังหารนักวิทยาศาสตร์อิหร่านคนอื่นๆ ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ไล่ตั้งแต่ มัสซูด อาลี โมฮัมมาดี นักฟิสิกส์ ในเดือนมกราคม 2010, มาจิด ชาห์เรียรี นักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ระดับหัวกะทิ ในเดือนพฤศจิกายน 2010 และ เฟเรย์ดูน อับบาซี-ดาวานี ซึ่งรอดชีวิตมาได้ ในเดือนพฤศจิกายน 2010 โดยมีครั้งหนึ่งที่มือสังหารไม่ใช้ระเบิด แต่บุกยิง ดาริอุช เรซาอี-เนจัด นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ เสียชีวิต ในเดือนกรกฎาคม 2011 ในคดีหลังนี้ นิตยสารข่าว แดร์ สปีเกิล ของเยอรมนี ก็ยังรายงานว่า มอสซาดอยู่เบื้องหลัง

นอกเหนือจากความแค้นของอิหร่าน อิสราเอลยังตกเป็นเป้าหมายของ “ฮิซบอลเลาะห์” องค์กรมุสลิมชีอะห์และพรรคการเมืองในเลบานอนที่มีกำลังติดอาวุธเป็นของตัวเอง ฮิซบอลเลาะห์ต้องการล้างแค้นให้กับ อิหมัด มุกห์นิเยห์ หัวหน้านักรบระดับสูงซึ่งถูกลอบสังหารด้วยระเบิดรถยนต์ในกรุงดามัสกัส เมืองหลวงซีเรีย วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2008 และมอสซาด ก็คือ ผู้ต้องสงสัยเดียวในสายตาของฮิซบอลเลาะห์

หลังจากวันที่ 11 มกราคม สถานทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ก็ออกประกาศเตือนภัยก่อการร้ายในวันที่ 13 ตามด้วยข่าวตำรวจไทยจับกุมตัว นายอาทริส ฮุสเซน ชาวเลบานอนผู้ถือหนังสือเดินทางสวีเดน โยงถึงกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ผู้ต้องหายังให้ความร่วมมือพาเจ้าหน้าที่ตำรวจไปยังคลังเก็บสารตั้งต้นทำระเบิดแถวพระราม 2 ต่อมา ทางการอาเซอร์ไบจานก็ประกาศในวันที่ 19 ว่า สามารถจับกุมชายที่เกี่ยวข้องกับอิหร่านได้อีก 2 คน ฐานวางแผนโจมตีนักการทูตอิสราเอลในกรุงบากู

เข้าสู่เดือนกุมภาพันธ์ ขณะฝ่ายหลายโล่งใจที่ไม่มีเหตุร้ายเกิดขึ้นในวันครบรอบการเสียชีวิตของ อิหมัด มุกห์นิเยห์ ทว่า บ่ายแก่ๆ วันที่ 13 กุมภาพันธ์ ก็เกิดเหตุระเบิดรถยนต์บริเวณสถานทูตอิสราเอล ประจำอินเดีย พลเมืองดีช่วยกันนำตัว ทัล เยโฮชัว โคเรน นักการทูตหญิงอิสราเอลอายุ 42 ปี ซึ่งเป็นภรรยาเจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมอิสราเอลที่ประจำการในอินเดีย และคนขับรถชาวอินเดีย ออกมาจากรถยนต์ที่เกิดระเบิดไฟลุกท่วม ผู้ที่สัญจรผ่านบริเวณดังกล่าวได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยอีก 2 คน วิธีการของคนร้ายครั้งนี้ไม่ต่างกับการลอบสังหารนักวิทยาศาสตร์อิหร่าน โดยคนร้ายขี่จักรยานยนต์ ลอบติดตั้งระเบิดแม่เหล็กบริเวณท้ายรถยนต์ของโคเรน ขณะกำลังชะลอความเร็วบริเวณทางแยก และระเบิดเมื่อจอดใกล้กับสถานทูตอิสราเอล ในกรุงนิวเดลี

ในเวลาไล่เลี่ยกัน มีคนร้ายลอบติดตั้งระเบิดท้ายรถยนต์ของลูกจ้างสถานทูตอิสราเอล ประจำจอร์เจีย ทว่า ลูกจ้างคนดังกล่าวซึ่งเป็นชาวจอร์เจีย สังเกตพบวัตถุต้องสงสัยก่อน จึงแจ้งตำรวจเข้าเก็บกู้ได้ทันการณ์

นายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู ไม่รอช้าที่จะกล่าวหาอิหร่าน มิหนำซ้ำยังประณามว่า อิหร่านเป็น “ผู้ส่งออกผู้ก่อการร้ายรายใหญ่ที่สุดในโลก” แม้อินเดียยังไม่เคยออกมาชี้ตัวผู้ต้องสงสัย ทั้งนี้ อินเดียเป็นหนึ่งในลูกค้าน้ำมันรายใหญ่ที่เหลืออยู่ไม่มากของเตหะราน หลังสหรัฐฯ และอียู ประกาศคว่ำบาตรน้ำมันอิหร่าน อินเดียซื้อน้ำมันอิหร่านมากเป็นอันดับที่ 2 หรือราว 12 เปอร์เซ็นต์ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจแดนภารตะที่กำลังเจริญเติบโต

เหตุร้ายลามมาถึงสยามเมืองยิ้มที่กำลังจะยิ้มไม่ออก เมื่อต้องรับเคราะห์จากความขัดแย้งที่อยู่ห่างไปหลายพันกิโลเมตร เวลา 14.20 น. วันที่ 14 กุมภาพันธ์ เกิดเหตุระเบิดบนชั้นสองของบ้านเลขที่ 66 ซอยปรีดีพนมยงค์ 31 หลังคนร้ายประกอบระเบิด ซี 4 ผิดพลาด สภาพบ้านเสียหายหนัก หลังคากระจุยกระจาย เป็นระเบิดจุดที่ 1 ชายอิหร่านผู้เช่าบ้าน 3 คน ซึ่งประกอบด้วย นายซาอิด โมราดิ นายมูฮัมหมัด ฮะซาอิ และนายมาซุด ซีดากัส ซาเดท แยกย้ายหนีกันไปคนละทิศละทาง สองคนหลังที่อยู่ในสภาพปกติสามารถโบกรถแท็กซี่หนีจากจุดเกิดเหตุได้ แต่ นายซาอิด โมราดิ ในสภาพบาดเจ็บ กลับก่อเหตุอุกอาจโยนระเบิดใส่แท็กซี่ที่ไม่ยอมจอดรับ เป็นระเบิดจุดที่ 2 และยังหวังสังหารนายตำรวจที่เข้าจับกุม ทว่าพลาดท่า ระเบิดตกใส่ตนเอง ฉีกขาขาดทั้งสองข้าง เป็นระเบิดจุดที่ 3
นายซาอิด โมราดิ นอนจมกองเลือด ขาขาดทั้งสองข้าง หลังพยายามขว้างวัตถุระเบิดใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ เขาถูกทางการไทยตั้ง 5 ข้อหาหนัก ซึ่งรวมทั้งพยายามฆ่าเจ้าพนักงานที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ส่วนผู้ต้องสงสัยที่เหลือถูกตั้งข้อหา ร่วมกันประกอบวัตถุระเบิด ร่วมกันมีไว้ซึ่งวัตถุระเบิดในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และทำให้เกิดระเบิดจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กาย
ชาวบ้านในซอยปรีดีพนมยงค์ 31 เล่าว่า คนร้ายกลุ่มนี้มักบอกกับใครๆ ว่าเป็นคนอิสราเอล หากแยกย้ายกันหนีโดยสงบ ทั้งสามก็อาจไปได้ตลอดรอดฝั่ง แต่พฤติกรรมของ นายซาอิด โมราดิ ที่ขว้างระเบิดใส่รถแท็กซี่และตำรวจ เป็นหลักฐานพิสูจน์ว่า กลุ่มคนร้ายไม่ใช่มืออาชีพ

วิลล์ ฮาร์ตลีย์ นักวิเคราะห์ขององค์กรข่าวกรองกลาโหม ‘ไอเอชเอส เจนส์’ ในสหรัฐฯ แสดงทัศนะว่า “เหตุระเบิดในอินเดีย จอร์เจีย และไทย ต่างก็เป็นฝีมือของพวกสมัครเล่น” คนร้ายขาดความชำนาญตามธรรมชาติที่ควรเป็นของ หน่วยปฏิบัติการพิเศษ “คุดส์” ของอิหร่าน หรือแม้แต่คนของฮิซบอลเลาะห์

อิตซัค โชฮัม เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย ระบุว่า กลุ่มคนร้ายในไทยอยู่ในเครือข่ายเดียวกับผู้ก่อเหตุโจมตี ในอินเดีย และจอร์เจีย เพราะระเบิดที่พบหลงเหลืออยู่ในบ้านเช่าเลขที่ 66 ได้ประกอบเข้ากับแถบแม่เหล็กเหมือนกัน แหล่งข่าวในทีมกู้ระเบิด หรือ อีโอดี ของไทย เปิดเผยว่า ระเบิดที่เหลืออยู่ 2 ลูก สามารถสร้างความเสียหายภายในรัศมี 40 เมตร และวิธีประกอบระเบิดดังกล่าวไม่เคยปรากฏในไทยมาก่อน อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่สามารถเก็บกู้ได้เป็นที่เรียบร้อย

อิหร่าน-อิสราเอล เกลียดอะไรกันนัก?

ทั้งสองเคยเป็นมิตรกันในช่วงที่อิหร่านอยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์ปาห์ลาวี ทว่าเมื่ออิหร่านเกิดการปฏิวัติอิสลาม อิสราเอลก็ถูกขึ้นบัญชีเป็นศัตรู รัฐบาลเตหะรานไม่เคยยอมรับอิสราเอลในฐานะประเทศ และจะเอ่ยแทนด้วยคำว่า “ระบอบไซออนนิสต์” อาณาบริเวณของอิสราเอล อิหร่านก็เรียกว่า “ดินแดนที่ถูกยึดครอง”

อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ยังเคยเปรียบเทียบอิสราเอลเป็น “เนื้องอก” ของตะวันออกกลางที่สมควรถูกกำจัดทิ้ง และเมื่อมาห์มูด อาห์มาดิเนจัด ขึ้นเป็นประธานาธิบดีในปี 2005 ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศยิ่งเลวร้ายลงไปอีก อาห์มาดิเนจัดเคยกล่าวสุนทรพจน์บนเวทีการประชุม “โลกที่ไร้ไซออนนิสม์” ด้วยประโยคที่โจษจันไปทั่วโลกว่า “อิสราเอลต้องถูกลบออกจากแผนที่”

อิหร่านให้การสนับสนุน กลุ่มฮามาส ของปาเลสไตน์ ทั้งด้านอาวุธและการเมือง ฮามาสคือกลุ่มผู้ปกครองฉนวนกาซาที่อยู่ในวงล้อมของอิสราเอล และจ้องโจมตีรัฐยิวอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน อิหร่านยังสนับสนุน กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ของเลบานอน ซึ่งมีอาณาเขตติดชายแดนทิศเหนือของอิสราเอล ทั้งสองกลุ่มนี้ต่อสู้เพื่อขับไล่อิสราเอลออกจากดินแดนที่ต่างอ้างว่าควรเป็นของฝ่ายตน

รองนายกรัฐมนตรี ซิลวาน ชาลอม แห่งอิสราเอล เคยเอ่ยถึงประเด็นที่ไม่เคยมีใครหยิบยกมาก่อนว่า อิหร่านต้องการสร้างจักรวรรดิเปอร์เซียขึ้นมาอีกครั้ง โดยควบคุมแหล่งผลิตน้ำมันทั้งหมดในตะวันออกกลางด้วยกำลังสนับสนุนจากอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่อิสราเอลกลัวที่สุด หากตกอยู่ในมืออิหร่าน ทั้งๆ ทั่วโลกก็รับรู้ว่า รัฐยิวเองก็ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์จำนวนไม่น้อยหน้าใคร
กำลังโหลดความคิดเห็น