xs
xsm
sm
md
lg

เขื่อนแก่งเสือเต้น สูตรสำเร็จแก้น้ำท่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เขื่อนแก่งเสือเต้นถูกพูดถึงอีกครั้งหนึ่ง เมื่อนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยกรน้ำ(กยน.) ยืนยันว่า รัฐบาลจะผลักดันให้มีการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นโดยด่วนเพื่อป้องกันน้ำท่วม รวมทั้งเพื่อแก้ไขปัญหาความแห้งแล้งด้วยเพราะแม่น้ำยมไม่มีเขื่อนกักเก็บน้ำจึงทำให้ระบบการบริหารจัดการน้ำมีช่องโหว่

ทุกปีเมื่อเกิดน้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน คือบริเวณจังหวัดสุโขทัย พิษณุโลก พิจิตรและนครสวรรค์ทีไรโครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นจะถูกปัดฝุ่นหยิบยกมาพูดถึงทุกทีโดยหน่วยงานรัฐว่ามีความจำเป็นที่จะต้องสร้างเขื้อนแก่งเสือเต้น เพราะถ้าไม่สร้างน้ำก็จะท่วมอยู่อย่างนี้ไปชั่วนาตาปี

แต่ทุกครั้งก็จะมีเสียงคัดค้านต่อต้าน ไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ทั้งจากกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน กลุ่มชาวบ้าน ชุมชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการสร้างเขื่อนคือถูกน้ำท่วมต้องหาที่อยู่ใหม่

การรื้อฟื้นโครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น และการต่อต้านคัดค้านจึงเป็นวาระประจำหน้าน้ำของทุกปี ต่างฝ่ายต่างออกมาพูดกันคนละทีแล้วก็เลิกรากันไป รอไปพูดกันใหม่ในปีหน้าเมื่อน้ำท่วม

ที่ตั้งโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นนั้นอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ยม อำเภอสอง จังหวัดแพร่ เดิมเป็นโครงการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แต่ถูกชาวบ้านคัดค้านกันมาก และเมื่อศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้วพบว่า การสร้างเขื่อนแก่งสือเต้นมีพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบประมาณ 62,500 ไร่ หรือประมาณ 100 ตารางกิโลเมตร โดยพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติแม่ยมซึ่งมีอยู่ประมาณ 284,000 ไร่ เป็นบริเวณที่มีป่าสักธรรมชาติที่สมบูรณ์ราว 60,000 ไร่ ซึ่งมีการระบุว่าป่าสักทองธรรมชาติที่แก่งเสือเต้นนี้เป็นป่าสักที่สมบูรณ์ผืนสุดท้ายของประเทศ และของโลก หากสร้างเขื่อน ป่าสักจะถูกน้ำท่วมไปราว 24,000 ไร่ และพื้นที่ทำกินและพักอาศัยของชาวบ้านจะถูกน้ำท่วม 60% ซึ่งนับเป็นการทำลายทรัพยากรของโลกมากที่สุดแห่งหนึ่ง ธนาคารโลกจึงไม่ยอมปล่อยเงินกู้ให้

โครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นจึงถูกโยนมาให้กรมชลบประทานเป็นเจ้าภาพ และเปลี่ยนวัตถุประสงค์จากการผลิตไฟฟ้ามาเป็นการชลประทานและป้องกันน้ำท่วมเพื่อลดกระแสต่อต้าน แต่จะเป็นเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าหรือเพื่อการชลประทานป้องกันน้ำท่วมผลกระทบที่เกิดขึ้นก็เหมือนกันคือพื้นที่เหนือเขื่อนที่เป็นป่าสักทองในอุทยานแห่งชาติแม่ยมและที่ดินทำกันที่อยู่อาศัยของชาวบ้านจะถูกน้ำท่วม การต่อต้านการสร้างเขื่อนจึงยังดำรงอยู่ตลอดมา จนถึงบัดนี้กว่า 20 ปีแล้ว ก็ยังไม่ได้สร้างสักที แต่ความพยายามที่จะสร้างให้ได้ก็ยังมีอยู่เหมือนเดิม

โครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นนี้ จากการประมาณการเบื้องต้นคาดว่าจะใช้งบลงทุนประมาณ 20,000 ล้านบาท โดยเก็บกักน้ำได้ 1,145 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งไม่ถึง 1 ใน 10 ของเขื่อนภูมิพล

ไม่เพียงแต่ธนาคารโลกเท่านั้นที่ไม่ยอมปล่อยกู้มาตั้งแต่ต้น ผลการศึกษาและผลการวิจัยของหน่วยงานต่างๆ ที่ออกมาก็มีความชัดเจนแล้วว่าไม่สมควรสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ผลการศึกษาเหล่านี้ได้แก่

1.การศึกษาของกรมทรัพยากรธรณีชี้ชัดว่าบริเวณที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นตั้งอยู่แนวรอยเลื่อนของเปลือกโลก คือรอยเลื่อนแพร่ ซึ่งยังมีการเคลื่อนตัวอยู่ตลอดเวลา เป็นการเสี่ยงอย่างมากที่จะสร้างเขื่อนใกล้กับรอยเลื่อนของเปลือกโลก เสมือนหนึ่งเป็นการวางระเบิดบนหลังคาบ้านของตัวเอง สันเขื่อนที่สูงจากท้องน้ำถึง 72 เมตร หากมีการแตกหรือพังทลายลงมาจะมีคลื่นยักษ์ยิ่งกว่าสึนามิหลายเท่า

2.จากการศึกษาขององค์การอาหารและการเกษตรโลก (FAO) ด้วยเหตุผลเรื่องการป้องกันน้ำท่วม กรณีเขื่อนแก่งเสือเต้นสามารถ เยียวยาปัญหาน้ำท่วมได้เพียง 8 เปอร์เซ็นต์

3.จากการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ด้วยเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ ได้ข้อสรุปว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นไม่คุ้มทุน

4.จากการศึกษาของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ด้วยเหตุผลทางนิเวศน์วิทยาที่มีข้อสรุปว่าหากสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นจะกระทบต่อระบบนิเวศน์ของอุทยานแห่งชาติแม่ยมเป็นอย่างมาก หากเก็บผืนป่าที่จะถูกน้ำท่วมไว้จะมีมูลค่าต่อระบบนิเวศน์และชุมชน

5.จากการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยเหตุผลทางด้านป่าไม้สัตว์ป่าที่มีข้อสรุปว่า พื้นที่ที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นเป็นทั้งอุทยานแห่งชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์อยู่ อีกทั้งยังเป็นแหล่งป่าสักทองธรรมชาติผืนเดียวที่เหลืออยู่ ดังนั้นควรเก็บรักษาไว้เพื่ออนาคตของประชาชนไทยและมวลมนุษยชาติ

6.จากการศึกษาของมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ ด้วยเหตุผลในการจัดการน้ำ ยังมีทางออกและทางเลือกอื่นๆ อีกหลายวิธีการที่แก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น

และ 7.จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยนเรศวรได้เสนอ 19 แผนงานการจัดการน้ำแบบบูรณาการ ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาทั้งน้ำแล้งน้ำท่วมได้อย่างเป็นระบบทั้งลุ่มน้ำยมโดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น

นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สมัยที่เป็นอธิบดีกรมชลประทานเมื่อ พ.ศ. 2551 ยังเคยพูดว่า การสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ทั้งหมด

หวังว่าท่าทีของรองนายกรัฐมนตรีที่บอกว่าจะต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นให้ได้เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมคงไม่ถูกแปรเป็นการปฏิบัติในเร็ววัน เพราะมีโอกาสสูงที่รัฐบาลจะถูกต่อต้านอย่างหนัก หากยืนยันที่จะเดินหน้าให้ได้

กำลังโหลดความคิดเห็น