xs
xsm
sm
md
lg

สว.ชงผลวิจัย “แก่งเสือเต้น”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (15 ส.ค.) ที่รัฐสภา มีการประชุมวุฒิสภา ที่มีพล.อ.ธีรเดช มีเพียร ประธานวุฒิสภา เป็นประธาน โดยก่อนเข้าสู่วาระการประชุม นายวิรัติ พาณิชย์พงษ์ ส.ว.สรรหา หารือ การแก้ไขปัญหาภัยแล้งในลุ่มน้ำยม พบว่าตลอด 30 ปีที่ผ่านมีการบริหารจัดการน้ำที่ไหลผ่านลุ่มน้ำยม 4 พันล้านลูกบาศก์เมตร แต่เก็บกักใช้ได้ได้เพียงร้อยละ 10 คือ 400 ล้านลูกบาศก์เมตร น้ำที่เหลือจึงกลายเป็นปัญหาน้ำท่วม การสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นจะทำให้ได้น้ำกลับมาแก้ไขปัญหาได้ถึง 1,175 ล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้การที่ป่าไม้กว่า 4 หมื่นไร่ในพื้นที่ลุ่มน้ำยมเปลี่ยนเป็นพื้นที่ทำกินไปแล้ว 3 หมื่นไร่ หากจำนวนป่าหายไปเรื่อยๆ เขื่อนแก่งเสือเต้นจะไม่มีวันได้เกิดขึ้นเมื่อพื้นที่ป่าที่หายไปจะกลายเป็นโฉนดชุมชนในที่สุด ตนได้เคยทำรายงานการศึกษาเรื่องนี้โดยจะนำส่งให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาโดยเร็วที่สุด
รายงานข่าวแจ้งว่า วันเดียวกันนี้ มีการเปิดเผย ผลงานวิจัยเรื่องเขื่อนแก่งเสือเต้น (ที่นักการเมืองไม่อยากรู้)ของนายประสิทธิพร กาฬอ่อนศรี กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ โดยกล่าวถึงบทเรียนเขื่อนขนาดใหญ่ของประเทศไทย ว่าจากประสบการณ์กว่า 40 ปี ที่ผ่านมา ได้ชี้ให้เราเห็นว่า แม้จะมีเขื่อนขนาดใหญ่แล้ว อาทิ ลุ่มน้ำปิง มีเขื่อนภูมิพล ลุ่มน้ำวัง มีเขื่อนกิ่วลม เขื่อนกิ่วคอหมา ลุ่มน้ำน่าน มีเขื่อนสิริกิตต์ แต่ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง กลับทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี
ดังนั้นข้ออ้างที่ว่าหากมีเขื่อนขนาดใหญ่ในลุ่มน้ำยม อย่างเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน หรือ เขื่อนยมล่าง แล้ว จะสามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งได้ จึงเป็นเรื่องที่ไม่จริง ในทางกลับกัน เขื่อนขนาดใหญ่ดังกล่าว จะนำไปสู่การทำลายป่าสักทองธรรมชาติผืนสุดท้ายของประเทศไทย กว่า 24,000 ไร่ (สองหมื่นสี่พันไร่) และป่าเบญจพรรณอีกกว่า 36,000 ไร่ (สามหมื่นหกพันไร่) รวมพื้นที่ป่าที่จะสูญเสียไปกว่า 60,000 ไร่ (หกหมื่นไร่) จึงเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่งในการผลักดันเขื่อนขนาดใหญ่ในแม่น้ำยม และลุ่มน้ำยม อีกทั้งยังมีผลการศึกษา การวิจัยของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ออกมา ก็มีความชัดเจนแล้วว่าไม่สมควรสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น
ผลการศึกษากรณีเขื่อนแก่งเสือเต้นที่ผ่านมา
1.จากการศึกษาของกรมทรัพยากรธรณี ได้ชี้ชัดว่า บริเวณที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ตั้งอยู่แนวรอยเลื่อนของเปลือกโลก คือ รอยเลื่อนแพร่ ซึ่งยังมีการเคลื่อนตัวอยู่ตลอดเวลา เป็นการเสี่ยงอย่างมากที่จะสร้างเขื่อนใกล้กับรอยเลื่อนของเปลือกโลก เสมือนหนึ่งเป็นการวางระเบิดบนหลังคาบ้านของตัวเอง สันเขื่อนที่สูงจากท้องน้ำถึง 72 เมตร หากมีการแตกหรือพังทะลายลงมาจะมีคลื่นยักษ์ยิ่งกว่า สึนามิหลายเท่า
2.จากการศึกษาของ องค์การอาหารและการเกษตรโลก (FAO.) ด้วยเหตุผลเรื่องการป้องกันน้ำท่วม กรณีเขื่อนแก่งเสือเต้น สามารถ เยียวยาปัญหาน้ำท่วมได้ เพียง 8 เปอร์เซ็นต์ ล่าสุด กรมชลประทานศึกษาแล้วพบว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นสามารถเยียวยาปัญหาน้ำท่วมได้ถึง 9.6 เปอร์เซ็นต์ (ร้อยละเก้าจุดหก หรือน้ำท่วมสูง หนึ่งเมตร หากมีเขื่อนแก่งเสือเต้น จะเยียวยาปัญหาได้เก้าจุดหกเซนติเมตร)
3.จากการศึกษาของ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนา ประเทศไทย (TDRI.) ด้วยเหตุผลทาง เศรษฐศาสตร์ ได้ข้อสรุปว่า เขื่อนแก่งเสือเต้นไม่คุ้มทุน
4.จากการศึกษาของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ด้วยเหตุผลทางนิเวศวิทยา ที่มีข้อสรุปว่าหากสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นจะกระทบต่อระบบนิเวศน์ของอุทยานแห่งชาติแม่ยมเป็นอย่างมาก หากเก็บผืนป่าที่จะถูกน้ำท่วมไว้จะมีมูลค่าต่อระบบนิเวศน์ และชุมชนอย่างมาก
5.จากการศึกษาของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยเหตุผลทางด้าน ป่าไม้ สัตว์ป่า ที่มีข้อสรุปว่า พื้นที่ที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เป็นทั้งอุทยานแห่งชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์อยู่ อีกทั้งยังเป็นแหล่งป่าสักทองธรรมชาติ ผืนเดียวที่เหลืออยู่ ดังนั้น ควรเก็บรักษาไว้ เพื่ออนาคตของประชาชนไทย และมวลมนุษยชาติ
6.จากการศึกษาของมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่า และพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ด้วยเหตุผลในการจัดการน้ำ ยังมีทางออก และทางเลือกอื่น ๆ อีกหลายวิธีการ ที่แก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น
7.จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้เสนอ 19 แผนงานการจัดการน้ำแบบบูรณาการ ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาทั้งน้ำแล้ง น้ำท่วม ได้อย่างเป็นระบบทั้งลุ่มน้ำยม โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น
ทั้งนี้ บทสรุปของผลงานวิจัยเรื่องเขื่อนแก่งเสือเต้น (ที่นักการเมืองไม่อยากรู้) งานวิจัยเหล่านี้ได้ข้อสรุปและชี้ให้เห็นว่าไม่สมควรที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เพราะกระทบกับสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างมาก และข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง เหล่านี้อาจไม่เข้าตานักการเมือง เพราะงบประมาณไม่มากนัก ไม่เหมือนโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น ที่ต้องใช้งบประมาณ 12,000 ล้านบาท (หนึ่งหมื่นสองพันล้านบาท) โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น จึงเป็นบททดสอบวุฒิภาวะของนายกหญิงคนแรกของประเทศไทย
อีกด้าน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เดินทางไปเยี่ยมผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วมภาคเหนือตอนล่าง 3 จังหวัด คือ พิษณุโลก พิจิตร และนครสวรรค์ และกล่าวว่า การเดินทางไปครั้งนี้ เพื่อติดตามความช่วยเหลือประชาชน และดูแลประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความเสียหาย เนื่องจากที่ผ่านมามีการเปลี่ยนหลักเกณฑ์ จะได้สอบถามและขอดูนโยบายที่ชัดเจนของรัฐบาล เนื่องจากเกษตรกรยังกังวลใจว่าจะได้รับเงินชดเชยตามโครงการประกันรายได้หรือไม่ เพราะถ้าเปลี่ยนเป็นระบบการจำนำ เกษตกรก็จะไม่ได้รับเงินชดเชย
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาลถึงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมทั้งระบบว่า การแก้ไขต้องมองเป็นระยะเร่งด่วนทั้งต้องบรรเทาความเดือดร้อนจากน้ำท่วม ความเสียหาย การบาดเจ็บ การเยียวยา รวมถึงพื้นที่เกษตรกรรม จึงต้องมาคุยกับว่าในภาครัฐจะช่วยอย่างไร ส่วนระยะยาวต้องมานั่งคุยกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะระบบน้ำ ชลประทาน ถ้าแก้จุดเดียวจังหวัดเดียว จะส่งผลไปในจังหวัดอื่นๆ ดังนั้นต้องแก้ทั้งระบบ ต้องกลับไปย้อนดูว่าจะเชื่อมโยงกันอย่างไรแล้วค่อยมาลงรายละเอียดแต่ละจังหวัดว่าจะมีวิธีการทำงานแบ่งเฟสอย่างไร
เมื่อถามว่าหากจะแก้ปัญหาทั้งระบบต้องใช้งบมหาศาลจะเป็นไปได้แค่ไหน น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า คำว่าวางแผนอย่างเป็นระบบ การใช้เงินต้องจัดลำดับความสำคัญ ดังนั้นเราจะใช้งบประมาณแก้ปัญหาระยะสั้น แต่ขณะเดียวกันก็ยังตอบโจทย์ระยะยาวไปด้วย จึงต้องมานั่งคุยกัน โดยเมื่อวันที่ 14 ส.ค.ตนได้หารือกับอธิบดีกรมชลประทาน ซึ่งจะมีการนัดเวิร์คช๊อปมาพูดคุยเชิงปฏิบัติการ เชิญผู้เกี่ยวข้องมาให้ความรู้เพื่อแก้ปัญหาระยะยาว โดยเฉพาะจังหวัดที่เกิดปัญหาซ้ำซ้อนทุกๆปี บางที่น่าเห็นใจเพราะเจอมาเป็นครั้งที่ 5 แล้ว ประชาชนต้องลำบาก ทำให้เราต้องนำเรื่องนี้มาเป็นวาระที่ต้องผลักดันให้ได้
เมื่อถามถึงโครงการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นที่ฝ่ายคัดค้านอ้างคำสั่งศาลปกครองไม่ให้สร้าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ความจริงปัญหาของเขื่อนแก่งเสือเต้นเป็นปัญหาที่จะต้องหาจุดหรือที่รับน้ำเพื่อทุเลาลงไปในจังหวัดอื่นๆ ดังนั้นเราต้องมองจากต้นน้ำลงไปแล้วค่อยมาดูว่าแต่ละจังหวัดวิธีการแก้ไขปัญหาจะเป็นอย่างไร จะเป็นคำตอบได้ตรงมากกว่า ที่จะไปบอกว่าจะทำเขื่อนแก่งเสือเต้นหรือไม่นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงมาตรการในการช่วยเหลืออุทกภัยในขณะนี้ว่า การช่วยเหลือประชาชนจะต้องเข้มข้นกว่าในรัฐบาลชุดที่ผ่านมาแน่นอน ตนพร้อมลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ ส่วนงบประมาณในขณะนี้ยังต้องใช้งบประมาณที่ตั้งไว้แต่แรก และงบฉุกเฉินของผู้ว่าราชการจังหวัดไปก่อน เนื่องจากสถานะของรัฐบาลยังไม่ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา จึงทำให้ไม่สามารถเบิกจ่ายงบประมาณพิเศษได้ ซึ่งยังคงมีจังหวัดที่ประสบภัยพิบัติรุนแรงอยู่ ที่จังหวัดพิจิตร จังหวัดสุโขทัย จังหวัดแพร่ และจังหวัดน่าน โดยจังหวัดพิษณุโลกสถานการณ์น้ำท่วมเริ่มรุนแรงขึ้นตามลำดับ
นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่าเรื่องเร่งด่วนที่จะทำก่อนตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีคือ การเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม พร้อมกับอบรมอาชีพ ช่วยสร้างรายได้เสริม
นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายพรศักดิ์ เจริญประเสริฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าสักการะพระพิรุณทรงนาค ศาลพระภูมิ ศาลตายาย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวง ในโอกาสเข้าทำงานในตำแหน่งรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นวันแรก พร้อมระบุว่า การปฏิบัติงานต่อจากนี้ต้องรอการแถลงนโยบายก่อน โดยจะเร่งแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชนเป็นสำคัญ อาทิ ปัญหาอุทกภัย ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายโดยเร็ว อย่างไรก็ตาม หลังจากแถลงนโยบายแล้ว คงต้องเร่งประชุมเพื่อปรึกษาหารือในเรื่องดังกล่าวต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น