xs
xsm
sm
md
lg

ค้านปลุกผี “เขื่อนแก่งเสือเต้น” ไม่ใช่ทางออกแก้น้ำท่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ลุ่มน้ำยม จุดก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น
โดย ... ศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน (www.thaisgwa.com)

ไหนบอกว่ามีเขื่อนแควน้อยแล้ว น้ำจะไม่ท่วม อ.บางระกำ อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก ไหนบอกว่ามีเขื่อนป่าสักแล้ว น้ำจะไม่ท่วมลพบุรี อยุธยา อ่างทอง ไหนบอกว่าเมื่อมีเขื่อนแล้วจะป้องกันน้ำท่วมได้ เหล่านี้คือ “วาทกรรม” ที่นักสร้างเขื่อนมักจะออกมาพูด โฆษณาชวนเชื่อ กลบเกลื่อนความจริงมาโดยตลอด
 
เมื่อมีเหตุน้ำท่วมขึ้นมาทีไร ก็จะพลอยโทษฟ้า โทษฝน สารพัดข้ออ้าง เสร็จสรรพแล้วก็ยัดเหตุผลว่าทางแก้ที่ดีที่สุดคือ “การสร้างเขื่อน” อย่างเดียวเท่านั้น โดยไม่ยอมพูดความจริงต่อสังคมว่าที่พูดไปนั้นเป็นแค่ “กลลวง” ทั้งสิ้น

แท้จริงแล้ว การสร้างเขื่อน หวังเพียงแค่ใช้เป็นเหตุผลให้ได้มาซึ่งงบประมาณส่วนเกิน ซึ่งต้องเป็นเงินทอนให้ผู้อนุมัติโครงการและตรวจรับงาน 20-30% กันอย่างอิ่มหมีพลีมันเท่านั้น กี่เขื่อนแล้วที่สร้างขึ้นมาเพื่ออ้างป้องกันน้ำท่วม แล้วมันสามารถป้องกันได้จริงไหม โดยเฉพาะเขื่อนที่เป็นตำนานมหากาพย์ที่สุดในขณะนี้คือ “เขื่อนแก่งเสือเต้น”

เขื่อนแก่งเสือเต้น เริ่มต้นเดิมทีเป็นโครงการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แต่พอชาวบ้านเขาคัดค้านกันมาก รวมทั้งเมื่อศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้วพบว่าเป็นการทำลายทรัพยากรของโลกมากที่สุดแห่งหนึ่ง ธนาคารโลก (World Bank) จึงไม่ยอมปล่อยเงินกู้ให้ ก็เลยใช้เล่ห์ฉลโยนให้กรมชลประทานมาเป็นเจ้าภาพแทน ในปี 2528 โดยใช้ข้ออ้างว่าเพื่อการชลประทานและป้องกันน้ำท่วม ทั้งๆ ที่พื้นที่ดังกล่าวมีเขื่อนอยู่แล้วมากมาย แต่ก็ยังไม่สามารถช่วยป้องกันน้ำท่วมได้ เช่น เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อย เขื่อนแม่มอก เขื่อนห้วยท่าแพ เขื่อนแม่สูง เขื่อนแม่ถาง เขื่อนแม่สอง เป็นต้น

แต่ทว่ารัฐบาลทุกรัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศก็มักจะพยายามปลุกผีรื้อฟื้นการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นขึ้นมาอยู่เสมอ ๆ โดยผ่านกระบวนการวาทกรรมของพวกนักสร้างเขื่อนในกรมชลประทาน โดยความร่วมมือกับนักการเมืองท้องถิ่น และระดับชาติ ข้าราชการในพื้นที่ที่ประจบสอพลอตั้งแต่ แพร่ สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ ฯลฯ

โดยอ้างว่าประชาชนจะได้รับผลประโยชน์ถึง 87,000 ครัวเรือนใน 260 ตำบล 44 อำเภอ 12 จังหวัด ในขณะที่ความจริงเขื่อนสามารถใช้น้ำได้เพียง 1,125 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น แต่ต้องใช้เงินภาษีของประชาชนไปถึง 11,000 ล้านบาท (คำนวณปี 2549) ซึ่งราคาปัจจุบันคงไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาทไปแล้ว

ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ดังกล่าว ไม่ใช่ปัญหาที่เพราะไม่มีเขื่อนแต่เป็นปัญหาที่มีการตัดไม้ทำลายป่าและเผาป่ากันอย่างมโหฬารทุกปี ปล่อยให้มีการทำข้าวไร่ ข้าวโพด กันบนยอดเขาอย่างผิดกฎหมาย โดยที่ข้าราชการ หน่วยงานราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ต่างละเว้นเพิกเฉย เอาหูไปนา เอาตาไปไร่ ไร้การป้องปราบหรือบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังเด็ดขาดต่างหาก ทำให้เข้าฤดูมรสุมทีไรเป็นต้องถูกน้ำท่วมทุกปี เพราะในป่าในเขาไร้ต้นไม้ใบหญ้าที่เพียงพอที่จะมาดูดซับน้ำฝนที่ล่วงหล่นมาตามหลักสมดุลธรรมชาตินั่นเอง

แต่เหล่าข้าราชการ นักการเมืองเหล่านี้หาสำเหนียกในการกระทำของตนเองไม่ แต่กลับมาร้องแร่แห่กระเชอเรียกร้องหาแต่การสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นกันอยู่ทุกวี่ทุกวัน โดยไม่หันไปพิจารณาให้ถ่องแท้เลยว่า ปัญหาที่แท้จริงนั้น ต้นเหตุอยู่ที่ไหน และกลุ่มที่เดือดร้อนและเสียหายอีกฟากหนึ่งเขาจะคิดอย่างไร ทรัพยากรป่าไม้ ป่าสัก และความหลากหลายทางชีวภาพที่เป็นต้นทุนทางธรรมชาติทางอ้อมที่คอยปกปักรักษาสมดุลให้คนในชาติ และคนในพื้นที่จะเสียหายไปเพียงใด

ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ แน่นอนว่ามีผลกระทบกับชาวลุ่มน้ำยมหลายจังหวัด จนมีชาวลุ่มน้ำยมออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาโครงการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นอีกครั้ง แต่อยากให้คิดว่า แก่งเสือเต้นไม่ได้แก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ ในครั้งนี้ น้ำที่ท่วมเกิดจากฝนตกหนัก ตอนล่างของฝายแม่ยมลงไป ทำให้มีปริมาณน้ำจำนวนมาก และไหลท่วมบ้านเรือนประชาชนในตัวเมืองแพร่และจังหวัดลุ่มน้ำยม ไม่ได้เกิดจากปริมาณน้ำเหนือแต่อย่างใด

หนทางที่จะแก้ไขปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากได้ รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหันมาแก้ไข และพิจารณา การพัฒนาลำน้ำสาขาทั้งหมดของแม่น้ำยมก่อน ทำอย่างไรที่จะไม่ให้ปริมาณน้ำไหลล้นเข้าท่วมในจังหวัดต่างๆ ได้ แต่ที่ผ่านมารัฐบาลไหน ๆ ก็ไม่ลงมือทำ มัวแต่ทะเลาะกัน อยากให้หันหน้ามาแก้ไขปัญหาของประชาชนก่อนเป็นอันดับแรก แต่ถ้าหากพิจารณากันดี ๆ แก่งเสือเต้นอาจจะไม่ใช่หนทางแก้ปัญหาได้ หากแต่การพัฒนาลำน้ำสาขาทั้งหมดของแม่น้ำยมต่างหากที่จะสามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากได้

ที่สำคัญยังจำได้ว่าเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2551 นายธีระ วงศ์สมุทร อธิบดีกรมชลประทานสมัยนั้นเคยพูดว่า “หากมีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นจริง จะสามารถกักเก็บน้ำได้ประมาณ 1,145 ล้าน ลบ.ม. แต่ยืนยันการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ทั้งหมด” แต่มาวันนี้คน ๆ เดียวกันนี้เป็นอำมาตย์แล้วยังจำคำพูดของตนเองได้อยู่อีกหรือไม่

การสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นนั้นจะนำไปสู่การทำลายป่าสักทองธรรมชาติผืนสุดท้ายของประเทศไทยที่มีกว่า 24,000 ไร่ และป่าเบญจพรรณอีกกว่า 36,000 ไร่ รวมพื้นที่ป่าที่จะศูนย์เสียไปกว่า 60,000 ไร่ จึงเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่งในการผลักดันการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในแม่น้ำยม

นอกจากนั้น ยังมีผลการศึกษา การวิจัยของหน่วยงานต่างๆ ที่ออกมา ก็มีความชัดเจนแล้วว่าไม่สมควรสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น อาทิ

1.จากการศึกษาของกรมทรัพยากรธรณี ได้ชี้ชัดว่า บริเวณที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ตั้งอยู่แนวรอยเลื่อนของเปลือกโลก คือ รอยเลื่อนแพร่ ซึ่งยังมีการเคลื่อนตัวอยู่ตลอดเวลา เป็นการเสี่ยงอย่างมากที่จะสร้างเขื่อนใกล้กับรอยเลื่อนของเปลือกโลก เสมือนหนึ่งเป็นการวางระเบิดบนหลังคาบ้านของตัวเอง สันเขื่อนที่สูงจากท้องน้ำถึง 72 เมตร หากมีการแตกหรือพังทลายลงมาจะมีคลื่นยักษ์ยิ่งกว่า สึนามิหลายเท่า

2.จากการศึกษาของ องค์การอาหารและการเกษตรโลก (FAO) ด้วยเหตุผลเรื่องการป้องกันน้ำท่วม กรณีเขื่อนแก่งเสือเต้น สามารถ เยียวยาปัญหาน้ำท่วมได้ เพียง 8 เปอร์เซ็นต์

3.จากการศึกษาของ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนา ประเทศไทย (TDRI) ด้วยเหตุผลทาง เศรษฐศาสตร์ ได้ข้อสรุปว่า เขื่อนแก่งเสือเต้นไม่คุ้มทุน

4.จากการศึกษาของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ด้วยเหตุผลทางนิเวศวิทยา ที่มีข้อสรุปว่าหากสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นจะกระทบต่อระบบนิเวศน์ของอุทยานแห่งชาติแม่ยมเป็นอย่างมาก หากเก็บผืนป่าที่จะถูกน้ำท่วมไว้จะมีมูลค่าต่อระบบนิเวศน์ และชุมชนอย่างมาก

5.จากการศึกษาของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยเหตุผลทางด้าน ป่าไม้ สัตว์ป่า ที่มีข้อสรุปว่า พื้นที่ที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เป็นทั้งอุทยานแห่งชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์อยู่ อีกทั้งยังเป็นแหล่งป่าสักทองธรรมชาติ ผืนเดียวที่เหลืออยู่ ดังนั้น ควรเก็บรักษาไว้ เพื่ออนาคตของประชาชนไทย และมวลมนุษยชาติ

6.จากการศึกษาของมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่า และพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ด้วยเหตุผลในการจัดการน้ำ ยังมีทางออก และทางเลือกอื่น ๆ อีกหลายวิธีการ ที่แก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น

และ 7.จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้เสนอ 19 แผนงานการจัดการน้ำแบบบูรณาการ ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาทั้งน้ำแล้ง น้ำท่วม ได้อย่างเป็นระบบทั้งลุ่มน้ำยม โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น

ยังมีทางเลือกอีกมากมายที่พร้อมจะให้รัฐบาลพิจารณานำไปกำหนดนโยบายในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ที่ต้องสูญเสียวิถีชีวิตชุมชน และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชาติ ตามข้อเสนอในรายงานการศึกษาและหรือวิจัยของหน่วยงานหรือองค์กรต่าง ๆ ข้างต้น

ถ้าไม่มีเวลามาเปิดอ่าน ก็ให้พวกที่อยู่รายรอบที่ชอบประจบสอพลอไปนั่งอ่าน ทำการบ้าน สรุปย่อเอามาอ่านให้ฟังก็ยังได้ ดีกว่าหน้ามืดตามัว ฟังแต่ความด้านเดียวแล้ว ใช้ฐานข้อมูลตัดสินใจที่ผิด ๆ ไม่รอบด้าน เดี๋ยวจะพลอยทำให้รัฐนาวาล่มเร็วจบไม่เป็นท่า
กำลังโหลดความคิดเห็น