xs
xsm
sm
md
lg

อัด “บรรหาร”ปลุกผีแก่งเสือเต้น เย้ยอดีตนายก “นรกสิ่งแวดล้อม"ตัวพ่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้(17ส.ค) คณะกรรมการกลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ได้ออกแถลงการณ์แสดงความไม่เห็นด้วยกรณีที่นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกฯออกมาสนับสนุนให้มีการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นโดยระบุว่า "บรรหาร อดีตนายกนรกสำหรับสิ่งแวดล้อมตัวพ่อ"

เป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า ผู้อยู่เบื้องหลังของการผลักดันโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น ทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบัน ก็คือ อดีตนายกรัฐมนตรี นายบรรหาร ศิลปอาชา ผู้หวังผลประโยชน์จากการให้บริษัทในเครือศิลปอาชาจะได้งานรับเหมาก่อสร้าง 12,000 ล้านบาท ทั้งที่นายบรรหารเองก็รู้ว่าแนวทางที่จะแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง นั้นมีหลายแนวทาง โดยเฉพาะการกักเก็บน้ำตามลำน้ำสาขาของลุ่มน้ำยมทั้ง 77 สาขา ซึ่งมีผลการศึกษาของกรมทรัพยากรน้ำไว้เรียบร้อยแล้ว สามารถดำเนินการได้เลย หากแต่ว่า อ่างเก็บน้ำทั้ง 77 ลำน้ำสาขานั้นเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็ก ขึ้นอยู่กับกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่ได้ขึ้นกับกรมชลประทาน กระทรวงเกษตร ของพรรคชาติไทย อีกด้านหนึ่ง อ่างเก็บน้ำขนาดกลางขนาดเล็กดังกล่าว ไม่มีไม้สัก ไม่มีป่าสักทอง ให้นักการเมืองโบราณได้เขมือบเหมือนโครงการขนาดยักษ์อย่างโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น จึงไม่เป็นที่สนใจของนายบรรหาร และพรรคชาติไทย

คณะกรรมการกลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ขอยกให้ นายบรรหาร เป็นอดีตนายก นรกสำหรับสิ่งแวดล้อมตัวพ่อ และขอให้อดีตนายกล้มเลิกความคิดในการผลักดันโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น หันมาใช้แนวทางการจัดการน้ำชุมชน จัดการลำน้ำสาขาทั้ง 77 ลำน้ำสาขา จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากกว่า หรือไม่ก็กลับไปเลี้ยงหลานจะดีกว่า คณะกรรมการกลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ เห็นว่าสังคมไทยถึงเวลาแล้วที่จะต้องใช้เหตุผลในการแก้ไขปัญหา ไม่ควรใช้ผลประโยชน์หรืออารมณ์ความรู้สึกในการแก้ไขปัญหาอย่างอดีตนายกรัฐมนตรี รวมทั้ง สมาชิกวุฒิสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดอีกหลายจังหวัด และสื่อมวลชนบางคน ที่สงสารชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วม การใช้อารมณ์ความรู้สึกสงสารชาวบ้านไม่ได้แก้ไขปัญหา ต้องใช้สติและปัญญา จึงจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน

คณะกรรมการกลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ขอยืนยันในการคัดค้านโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นด้วยเหตุด้วยผล และเสนอให้รัฐบาลผลักดันแนวทางในการแก้ไขปัญหาลุ่มน้ำยมอย่างเป็นระบบ และเร่งด่วน เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง อย่างยั่งยืน ไม่นำไปสู่การสร้างปัญหาใหม่ในอนาคต การใช้แนวทางการจัดการน้ำชุมชน การสร้างแหล่งเก็บน้ำหนึ่งตำบลหนึ่งแหล่งกักเก็บน้ำ การสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ขนาดเล็กตามลำน้ำสาขาทั้ง 77 ลำน้ำสาขา จะเป็นทางออกที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมมากที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น