xs
xsm
sm
md
lg

จ้องงาบหัวคิว2หมื่นล้าน เบื้องหลังผลักดันสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กระทรวงการคลัง ในฐานะรองประธานกยน.เขายันยืนหนักแน่นจะต้องเร่งสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นโดยเร่งด่วน
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - หากรัฐบาลยิ่งลักษณ์เปิดสมองไตร่ตรองผลการศึกษาโครงการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นที่มีอยู่ทั้งองค์กรระดับโลกจนถึงสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยชั้นนำของประเทศ จะรู้ว่าไม่มีเหตุผลรองรับเพียงพอที่จะสร้างเขื่อนแห่งนี้เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม และการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำยมยังมีหลากหลายทางเลือก เว้นเสียแต่ว่าความต้องการสร้างเขื่อนมูลค่าร่วม 2 หมื่นล้านแห่งนี้มีเสือหิวคอยงาบหัวคิวรออยู่

ความตีบตันทางปัญญาของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ยิ่งนานวันก็ยิ่งเด่นชัดขึ้น โดยเฉพาะกรณีการบริหารจัดการน้ำที่แสดงให้เห็นถึงความไร้ฝีมือมาตั้งแต่การจัดการน้ำท่วมใหญ่ จนกระทั่งถึงการวางยุทธศาสตร์ป้องกันน้ำท่วมที่ยังไม่มีความแจ่มชัดในแผนงาน มีแต่ความกระหายใคร่กู้และผลาญเงินงบประมาณของแผ่นดิน กระทั่งเกิดอาการวงแตกภายในคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) เมื่อบรรดา “บิ๊กเนม” ที่ถูกเชิญเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการฯ รู้ตัวว่าจะถูกใช้เป็นเพียงพระอันดับสร้างความชอบธรรมให้รัฐบาลผลาญงบฯและเป็นหนังหน้าไฟเมื่อเกิดความล้มเหลวเท่านั้น

ล่าสุด การออกมายืนยันของนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กระทรวงการคลัง รองประธาน กยน. ในการเดินหน้าสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นอย่างเร่งด่วนเพื่อป้องกันน้ำท่วมและน้ำแล้ง เนื่องจากแม่น้ำยมไม่มีเขื่อนกักเก็บน้ำ ทำให้ไม่สามารถบริหารจัดการน้ำได้ เป็นอีกภาพสะท้อนของอาการตีบตันทางปัญญาของรัฐมนตรีในรัฐบาลยิ่งลักษณ์

ถ้าหากลองเปิดสมองทัศนาผลการศึกษาต่างๆ เกี่ยวกับโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นและแนวการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำยมอย่างรอบด้าน รัฐบาลอาจมองเห็นทางเลือกอื่นที่ไม่จำเป็นต้องสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ซึ่งมีปัญหาตามมามากมายโดยไม่ได้มีสิ่งใดรับประกันว่า การลงทุนสร้างเขื่อนนั้นจะแก้ปัญหาน้ำท่วมได้เหมือนดังเช่นการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ที่มีอยู่หลายแห่งแต่สุดท้ายน้ำก็ยังทะลักท่วมท้นพื้นที่ตอนล่างอยู่ดี

ที่สำคัญ ประเด็นสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่า เอ็นจีโอค้านหรือไม่ค้าน และคนระดับรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องแสดงท่าทีพร้อมเผชิญหน้ากับเอ็นจีโอทุกคน ซ้ำเหน็บแหนมว่าช่วงน้ำท่วมพวกคุณหายหัวไปไหนไม่ออกมาช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมเหมือนกับเด็กมัธยมท้าทายคู่ต่อสู้ เพราะการตัดสินใจบนฐานข้อมูลจากผลการศึกษาต่างๆ ที่รอบด้าน จะชี้ให้เห็นเองว่า มีเหตุผลเพียงพอที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งคาดว่าจะใช้งบลงทุนประมาณ 20,000 ล้าน โดยมีความจุปริมาณน้ำเพียง 1,175 ล้านลูกบาศก์เมตรไม่ถึง 1 ใน 10 ของเขื่อนภูมิพลที่จุน้ำได้ 13,000 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือไม่

ก่อนที่ กยน. จะตัดสินใจสร้างหรือไม่สร้างเขื่อนเสือเต้น ลองเปิดอ่านผลการศึกษาที่มีอยู่อย่างน้อย 7 ผลงาน หรือถ้าหากไม่มีเวลาก็ให้ทีมงานช่วยทำการบ้าน สรุปย่อให้อ่านก่อนที่จะตัดสินใจฟังความด้านเดียวแล้วสร้างปัญหาตามมาไม่จบสิ้น

เขื่อนแก่งเสือเต้น เดิมทีเป็นโครงการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แต่เมื่อชาวบ้านคัดค้านกันมาก รวมทั้งเมื่อศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้วพบว่าเป็นการทำลายทรัพยากรของโลกมากที่สุดแห่งหนึ่ง ธนาคารโลก (World Bank) จึงไม่ยอมปล่อยเงินกู้ จากนั้นจึงโยนโครงการให้กรมชลประทาน มาเป็นเจ้าภาพแทน ในปี 2528 โดยใช้ข้ออ้างว่าเพื่อการชลประทานและป้องกันน้ำท่วม ทั้งๆ ที่พื้นที่ดังกล่าวมีเขื่อนอยู่แล้วมากมาย แต่ก็ยังไม่สามารถช่วยป้องกันน้ำท่วมได้ เช่น เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อย เขื่อนแม่มอก เขื่อนห้วยท่าแพ เขื่อนแม่สูง เขื่อนแม่ถาง เขื่อนแม่สอง เป็นต้น

ไม่เพียงแต่ธนาคารโลกเท่านั้นที่ไม่ยอมปล่อยกู้มาตั้งแต่ต้น ผลการศึกษาและผลการวิจัยของหน่วยงานต่างๆ ที่ออกมา ก็มีความชัดเจนแล้วว่าไม่สมควรสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ดังนี้

1. การศึกษาของกรมทรัพยากรธรณี ชี้ชัดว่า บริเวณที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ตั้งอยู่แนวรอยเลื่อนของเปลือกโลก คือ รอยเลื่อนแพร่ ซึ่งยังมีการเคลื่อนตัวอยู่ตลอดเวลา เป็นการเสี่ยงอย่างมากที่จะสร้างเขื่อนใกล้กับรอยเลื่อนของเปลือกโลก เสมือนหนึ่งเป็นการวางระเบิดบนหลังคาบ้านของตัวเอง สันเขื่อนที่สูงจากท้องน้ำถึง 72 เมตร หากมีการแตกหรือพังทลายลงมาจะมีคลื่นยักษ์ยิ่งกว่าสึนามิหลายเท่า

2.จากการศึกษาของ องค์การอาหารและการเกษตรโลก (FAO) ด้วยเหตุผลเรื่องการป้องกันน้ำท่วม กรณีเขื่อนแก่งเสือเต้น สามารถ เยียวยาปัญหาน้ำท่วมได้ เพียง 8 เปอร์เซ็นต์

3.จากการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ด้วยเหตุผลทาง เศรษฐศาสตร์ ได้ข้อสรุปว่า เขื่อนแก่งเสือเต้นไม่คุ้มทุน

4.จากการศึกษาของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ด้วยเหตุผลทางนิเวศวิทยา ที่มีข้อสรุปว่าหากสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นจะกระทบต่อระบบนิเวศน์ของอุทยานแห่งชาติแม่ยมเป็นอย่างมาก หากเก็บผืนป่าที่จะถูกน้ำท่วมไว้จะมีมูลค่าต่อระบบนิเวศน์ และชุมชน

5.จากการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยเหตุผลทางด้าน ป่าไม้ สัตว์ป่า ที่มีข้อสรุปว่า พื้นที่ที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เป็นทั้งอุทยานแห่งชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์อยู่ อีกทั้งยังเป็นแหล่งป่าสักทองธรรมชาติ ผืนเดียวที่เหลืออยู่ ดังนั้น ควรเก็บรักษาไว้ เพื่ออนาคตของประชาชนไทย และมวลมนุษยชาติ

6.จากการศึกษาของมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ด้วยเหตุผลในการจัดการน้ำ ยังมีทางออกและทางเลือกอื่น ๆ อีกหลายวิธีการ ที่แก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น

และ 7.จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้เสนอ 19 แผนงานการจัดการน้ำแบบบูรณาการ ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาทั้งน้ำแล้ง น้ำท่วม ได้อย่างเป็นระบบทั้งลุ่มน้ำยม โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น

ผลการศึกษาข้างต้น แสดงให้เห็นว่า ยังมีทางเลือกอีกมากมายที่พร้อมจะให้รัฐบาลพิจารณานำไปกำหนดนโยบายในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ที่ต้องสูญเสียวิถีชีวิตชุมชน และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชาติ ตามข้อเสนอในรายงานการศึกษาและหรือวิจัยของหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ ข้างต้น

เว้นเสียแต่ว่า โครงการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เป็นเค้กก้อนโตที่แบ่งสันปันส่วนกันไว้แล้ว และหากสามารถทะลุทะลวงทางตันสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นสำเร็จ ก็หวานคอแร้งนักสร้างเขื่อน เพราะตามแผนจัดการน้ำระยะยาว วงเงินงบประมาณ 300,000 ล้านบาทนั้น แบ่งออกเป็นงบจัดการน้ำในพื้นที่ต้นน้ำที่จะมีการจัดการและสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำอื่นๆ อีกถึง 68,000 ล้านบาท ซึ่งงบก้อนนี้จะถูกแบ่งสรรเป็น “เงินทอน” ให้ผู้อนุมัติโครงการและตรวจรับงาน 20 - 30% อิ่มหมีพลีมันกันถ้วนหน้า

แต่ถ้ารัฐบาลยืนยันไม่มีเรื่องหัวคิวอย่างเด็ดขาด อย่าลืมตอบจดหมายของภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น (ภคต.) ที่นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธาน ภคต. ยื่นต่อนายกรัฐมนตรี เรื่องการเฝ้าระวังการทุจริตในการใช้งบประมาณฟื้นฟูประเทศหลังอุทกภัย 3 ข้อหลัก ได้แก่ กลไกการเปิดเผยข้อมูลทั้งภาครัฐและเอกชน กลไกการตรวจสอบ และการสนับสนุนให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบข้อเสนอของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่จะให้หน่วยงานของรัฐจัดทำและเปิดเผยราคากลางโครงการประมูลและจัดซื้อจัดจ้างงานโครงการฟื้นฟูหลังน้ำท่วมเพื่อเป็นฐานในการตรวจสอบการทุจริต เพราะโครงการฟื้นฟูน้ำท่วมที่ใช้งบประมาณรวม 3.5 แสนล้านบาท ถ้ามีการคอร์รัปชั่นในระดับปัจจุบันจะต้องสูญเสียงบประมาณประมาณ 7 หมื่น - 1 แสนล้านบาท
จุดก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น