xs
xsm
sm
md
lg

กยน.ยัน กทม.-ปริมณฑล น้ำท่วมซ้ำสองแน่ ภาวนาแค่ครึ่งปี 54

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ที่ประชุม กยน.ยันแผนบริหารน้ำรัฐบาลชัดเจนมีหลักการ แต่ขอภาวนาอย่าให้มีปริมาณน้ำฝนมากกว่าปี 54 เผย หากปรับพื้นที่รองรับน้ำสำเร็จ กทม.-ปริมณฑล เจอน้ำท่วมซ้ำสองแน่ แต่ปริมาณน้ำแค่ครึ่ง

วันนี้ (31 ม.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) เปิดเผยภายหลังการหารือกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ถึงการลงพื้นที่พบปะประชาชน ในวันที่ 14-17 ก.พ.นี้ ซึ่งจะเป็นการลงพื้นที่เพื่อดูต้นน้ำในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมด้วย ว่า ในวันที่ 13 ก.พ.จะไปดูพื้นที่ต้นน้ำ และไล่ลงมาเรื่อยๆ โดยในวันที่ 17 ก.พ.จะไปตรวจดูบริเวณประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ โดยจะดูแนวทางและหลักการในการจัดการน้ำเพื่อให้ประชาชนเข้าใจเป็นรูปธรรม ความจริงแล้วหลักการนั้นไม่ได้ยุ่งยากอะไร เป็นการชะลอน้ำไว้ที่ต้นน้ำ กักเก็บไว้ ส่วนกลางน้ำก็พยายามหน่วงไว้ และปลายน้ำก็เริ่มระบายออก อย่างไรก็ตาม แต่ละโครงการที่ทำนั้นไม่ได้สะเปะสะปะ และมีวัตถุประสงค์ชัดเจน ตอนแรกอาจจะดูกระจัดกระจาย แต่ว่าแต่ละโครงการนั้นมีหลักการ ไม่ได้มั่ว ดูเผินๆ อาจเหมือนมั่วแต่ความจริงไม่ใช่

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการพูดคุยถึงเรื่องจุดรับน้ำหรือไม่ ดร.อานนท์ กล่าวว่า ในพื้นที่น้ำนองนั้น เป็นพื้นที่ที่เกิดน้ำนองเองตามธรรมชาติอยู่แล้ว เบื้องต้นอาจจะไม่ทำทั้งหมด อาจจะทำเพียง 2 ล้านไร่ ซึ่งพื้นที่น้ำนองมีมากกว่านั้น และต่อไปจะมีการบริหารพื้นที่น้ำนองเพื่อควบคุมการไหลเข้าออกของน้ำ และจะมีการฟื้นฟูเยียวยาและส่งเสริมเรื่องการประกอบอาชีพในพื้นที่ ให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์ในพื้นที่นั้นได้ด้วย โดยกลุ่มแรกอยู่ที่ จ.พิษณุโลก จ.พิจิตร จนมาถึง จ.นครสวรรค์ และใต้นครสวรรค์ ลงมาจะอยู่แถว จ.อยุธยา ไปจนถึง อ.สามพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยชะลอน้ำได้เยอะ โดยเริ่มต้นจะนำร่องในเรื่องนี้ก่อนและถ้าได้ผลดีจะค่อยๆ ขยาย

“สมมติฝนเหมือนปี 54 เราจะสามารถป้องกันน้ำท่วมขังบริเวณโดยรอบกรุงเทพฯ และปริมณฑลได้ โดยปริมาณน้ำจะเหลือเพียงครึ่งเดียว ถ้าในเชิงพื้นที่ เชิงความลึก และระยะเวลา คือ ยังมีท่วมอยู่ ในกรณีที่เราบริหารจัดการโดยใช้มาตรการที่เสนอในปีนี้ คือ ทุกอย่างทำได้ตามแผน” ดร.อานนท์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีจุดไหนที่ยังเป็นกังวลและเป็นอุปสรรคบ้างหรือไม่ ดร.อานนท์ กล่าวว่า มีเรื่องพื้นที่น้ำนอง เพราะมาตรการในการบริหารจัดการเพื่อลดน้ำท่วมขังในพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจ และพื้นที่เมือง หลักหนึ่งเราต้องยืดระยะเวลาการท่วมขังในพื้นที่ทุ่งรับน้ำ เช่น ปีที่แล้วเริ่มท่วมเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม ถ้าปีนี้ฝนเหมือนปี 54 ประมาณเดือนพฤษภาคมก็จะมีน้ำท่วมขังแล้ว แต่การท่วมขังนานก็จริง แต่น้ำจะไม่ลึก ทั้งนี้ ปริมาณน้ำสูงสุดประมาณกลางเดือนตุลาคมที่ล้อมรอบ กทม.อยู่ที่ 6-7 พันล้านลูกบาศก์เมตร แต่ถ้ามาตรการทุกอย่างที่ทำอยู่สำเร็จจะคุมปริมาณน้ำสูงสุดอยู่ที่ 4 พันล้านลูกบาศก์เมตร ต้องยอมรับว่ามีท่วมอยู่ แต่เราคาดว่า ฝนไม่น่าจะเลวร้ายไปกว่าปีที่แล้ว แต่ถ้าโชคร้ายหรือแย่กว่าปีที่แล้ว หากการบริหารจัดการน้ำดีผลก็น่าจะดีกว่าปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม เรามั่นใจว่าปริมาณน้ำจะน้อยกว่าปีที่แล้วแน่ๆ อยู่ที่ว่าจะน้อยมากหรือน้อยแค่ไหน

เมื่อถามว่า มีความกังวลปัญหามวลชนที่อยู่ในพื้นที่ 2 ล้านไร่หรือไม่ ดร.อานนท์ กล่าวว่า เราจะเรียกว่ากลัวก็ไม่ได้ คำว่ากลัวแต่ถ้าไม่ทำงานก็ไม่ได้ เราควรจะพูดกันตั้งแต่ต้นๆ เพราะขนาดนี้เรายังมีเวลาในการทำความเข้าใจ ซึ่งในสัปดาห์นี้คณะทำงานชุดที่นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งขึ้นจะดำเนินการ และตนก็เป็นที่ปรึกษาในคณะทำงานชุดนี้ด้วย อย่างไรก็ตามพื้นที่รับน้ำ 2 ล้านไร่นั้น จะต้องใช้ในปีนี้ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น