xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” ท้า “ปู” เปิดแผนกู้เงินแก้น้ำท่วม ยินดีถอนตีความ ฉะ “แม้ว” ชักใยขาย ปตท.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (แฟ้มภาพ)
“มาร์ค” ท้า “ปู” เปิดแผนใช้เงินกู้ในการบริหารจัดการน้ำให้เห็น พร้อมถอนตีความ พ.ร.ก.เงินกู้ ระบุรัฐมีเงิน 1.9 แสนล้านใช้แก้อุทกภัยอยู่แล้วแต่บริหารห่วยเอง หวังทัวร์นกแก้วมีแผนแก้ปัญหาเป็นรูปธรรม พร้อมจี้ทบทวนลอยตัวพลังงาน ปูด “นช.แม้ว” ชักใยลอยตัวก๊าซ ขาย ปตท. หวังฮุบธุรกิจพลังงาน แฉ ปตท.อ้างขาดทุน เอ็นจีวี 3.8 หมื่นล้าน แต่กำไรสะสมกว่า 5 แสนล้าน

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555 และ พ.ร.ก.กำหนดปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2555 ว่า ไม่ใช่การขัดขวางการบริหารงานของรัฐบาลในการแก้ปัญหาน้ำท่วม พร้อมกับท้าว่าหากรัฐบาลสามารถแจกแจงรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องทำให้กู้เงินทันทีได้ ก็พร้อมที่จะถอนการยื่นตีความในส่วน พ.ร.ก.กู้เงิน แต่จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏชัดเจนว่ารัฐบาลไม่สามารถชี้แจงได้ อีกทั้งยังมีงบประมาณปกติในมือเกือบ 2 แสนล้านบาท เพียงพอต่อการแก้ปัญหา โดยเท่าที่ทราบมีการเบิกจ่ายไปเพียง5 หมื่นล้านบาทเท่านั้น

นอกจากนี้ หากรัฐบาลต้องการกู้เงินในขณะนี้ก็สามารถกู้ได้ผ่านการจัดทำงบประมาณตามปกติได้อีกถึง 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นวงเงินเดียวกับที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ระบุว่ามีแผนที่จะใช้จ่ายงวดแรกในจำนวน 1.5 แสนล้านบาทด้วยเช่นเดียวกัน สะท้อนว่าการออก พ.ร.ก.เงินกู้ 3.5 แสนล้านบาทนั้นไม่ใช่ความจำเป็นเร่งด่วน จึงไม่ควรโทษฝ่ายค้านที่ทำหน้าที่ตรวจสอบเพื่อให้รัฐบาลปฏิบัติตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญ โดยรัฐบาลต้องไม่ฉกฉวยโอกาสนำเรื่องน้ำท่วมและความทุกข์ของประชาชนมาเป็นข้ออ้างในการกู้เงิน ทั้งที่หลายเรื่องไม่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาน้ำ อีกทั้งการกู้เงินโดยไม่จำเป็นจะเป็นภาระดอกเบี้ยที่ประชาชนต้องแบกรับ ซึ่งรัฐบาลจะต้องตระหนักในเรื่องนี้ด้วย

ผู้นำฝ่ายค้านฯ ยังเรียกร้องให้รัฐบาลใส่ใจในการบริหารจัดการน้ำมากกว่าการหมกมุ่นกับการกู้เงิน เพราะในขณะนี้ใกล้ถึงหน้าฝนแล้วและประชาชนรอคอยการแก้ปัญหาของรัฐบาลอยู่จึงควรเร่งเนินการให้เห็นเป็นรูปธรรม พร้อมกับตั้งความหวังว่าการเดินทางลงพื้นที่เพื่อตรวจความพร้อมในการระบายน้ำของนายก ฯในวันที่ 13-17 ก.พ.นี้จะเห็นรูปธรรมที่ชัดเจนในการแก้ปัญหา ไม่ใช่เหมือนทุกครั้งที่นายกฯลงพื้นที่แล้วมีแต่การพูดถึงโครงการ เม็ดเงิน แต่สุดท้ายไม่มีผลในทางปฏิบัติ เพราะจะเป็นการสูญเสียโอกาสในการแก้ปัญหาให้กับประชาชน

นายอภิสิทธิ์กล่าวถึงความพยายามที่จะแปรรูป ปตท.ให้เป็นของเอกชนว่า เป็นที่ทราบกันดีว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีความตั้งใจที่จะทำธุรกิจพลังงานชัดเจน โดยแสดงเจตนารมณ์หลายครั้งในต่างประเทศ แต่ปัญหาที่รัฐบาลต้องคำนึงถึง คือ ปตท.เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับพลังงานของไทย โดยหลายธุรกิจ ปตท.เป็นผู้ควบคุมไม่โดยตรงก็โดยอ้อม ตั้งแต่โรงกลั่น ท่อ และสถานีบริการที่มีสัดส่วนตลาดมากขึ้น ดังนั้นการเป็นวิสาหกิจที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ก็มีปัญหาเรื่องความมั่นคงพลังงานตามมา ถ้าขายให้ไปอยู่ในมือเอกชนก็จะไปอยู่กับทุนขนาดใหญ่ที่คิดถึงแต่กำไรอย่างเดียว ทำให้ต้องตั้งคำถามกับรัฐบาลว่า สาเหตุที่มุ่งมั่นลอยตัวค่าแก๊สควบคู่ไปกับการแปรรูป ปตท.ให้เป็นของเอกชนนั้น ทำเพื่อประโยชน์ของใครทั้งที่ภาวะค่าครองชีพของประชาชนพุ่งสูงขึ้น ทำไมรัฐบาลจึงไม่ลดต้นทุนสินค้าด้านพลังงานและดูแลประชาชนด้านค่าครองชีพ แต่กลับขึ้นราคาพลังงานควบคู่กับความพยายามที่จะเอา ปตท.ออกไปจากการดูแลของรัฐเพื่อให้อยู่ในมือเอกชน

“สมมติ ปตท.เป็นของรัฐบาล 100% กำไรก็กลับมาเป็นของรัฐ สามารถจัดเงินส่วนดังกล่าวมาดูแลประชาชนได้ แต่ตอนนี้เป็นของเอกชนครึ่งหนึ่ง เมื่อมีกำไรก็อ้างเรื่องต้องรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นจึงไม่กลับคืนมาที่ประชาชน เช่น กรณีเอ็นจีวี รัฐบาลก็บอกว่า ปตท.ต้องแบกรับภาระขาดทุน 3.8 หมื่นล้าน แต่ไม่พูดถึงบัญชีกำไรสะสมของ ปตท.ที่สูงถึง ห้าแสนกว่าล้าน เห็นภาพชัดเจนว่า ปตท.อยู่ในฐานะที่ช่วยประชาชนได้ แต่ตอนนี้หวังทำกำไรมากกว่าการช่วยประชาชน ที่ผ่านมา ปตท.จะกำไรมากกว่านี้แต่ใช้งบไปกับการประชาสมพันธ์จำนวนมาก ถ้าลดการโฆษณาลง มีกำไรสะสมน้อยลง แต่ช่วยประชาชนได้มากกว่าอะไรดีกว่ากันสำหรับระชาชน และเศรษฐกิจส่วนรวม คิดว่ารัฐบาลที่ทำเพื่อประชาชนจะต้องม่คำตอบเรื่องนี้อยู่แล้ว รัฐบาลต้องทบทวนเรื่องการปรับโครงสร้างพลังงานโดยด่วน เพราะเรื่องของพบังงานเป็นต้นทุนพื้นฐานของประชาชน ส่งผลกับประชาชนทุกครัวเรือน เว้นแต่ว่ารัฐบาลจะไม่คิดถึงความเดือดร้อนของชาวบ้าน ซึ่งประชาชนก็ต้องตรวจสอบและตัดสินการทำงานของรัฐบาลด้วยว่าทำเพื่อประชาชนจริงหรือไม่”
กำลังโหลดความคิดเห็น