xs
xsm
sm
md
lg

“ยะใส” จี้สำนึกผู้ทรงวุฒิ กยอ.-กยน.แค่ไม้ประดับแก้น้ำท่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุริยะใส กตะศิลา
“สุริยะใส” ชำแหละ กยน.-กยอ.ยับ ชี้ รัฐแค่หวังอาศัยใช้สร้างภาพ ฉะเงินเยียวยาเงื่อนไขยุ่งยาก ซ้ำเติมทุกข์ชาวบ้าน จี้ สำนึกผู้ทรงวุฒิอย่าเป็นแค่ไม้ประดับเพื่อซื้อเวลาให้ฝ่ายการเมือง โวยผลาญงบสร้างเขื่อนเพิ่มล้วนอุ้มภาคอุตสาหกรรม เสนอตัวจัดชุดทำงานลงพื้นที่ตรวจปริมาณเหนือเขื่อนใหญ่ทุกเดือน

วันนี้ (29 ม.ค.) ที่โรงแรมจันทรเกษม ปาร์ค นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มการเมืองสีเขียว (Green Politics) ได้แถลงข่าวถึงการติดตามตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) และคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ที่มีการแต่งตั้งขึ้นโดยรัฐบาลตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 พ.ย.54 ว่า หากมองภาพถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างสวยหรู แต่ในแนวปฏิบัติ 3 เดือนที่ผ่านมาของ กยอ.และ กยน.กลุ่มกรีนมีความเห็นและข้อเสนอแนะในหลายด้าน คือ 1.แม้รัฐบาลจะมอบหมายให้คณะกรรมการทั้ง กยอ.และ กยน มีอำนาจหน้าที่ในการแก้ปัญหาน้ำท่วมแบบบูรณาการ รวมถึงฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ แต่ในขณะเดียวกัน การเยียวยารับผิดชอบต่อประชาชน ก็ยังเป็นภาระหน้าที่โดยตรงที่รัฐบาลไม่สามารถลอยตัวได้ แต่จากการตรวจสอบพบว่า การเยียวยาเฉพาะหน้าเงินเยียวยาครอบครัวละ 5,000 บาท ที่มีขั้นตอนที่ยุ่งยากมาก ก็ปรากฏชัดว่า การทำงานของรัฐบาลล้มเหลวซ้ำซาก จนมีการชุมนุมประท้วงของผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนเป็นระยะๆ รวมไปถึงกรณีเงินเยียวยาน้ำท่วมกรณีของในบ้านเสียหายทั้งหลัง 30,000 บาท หรือเสียหายบางส่วน 20,000 บาท ก็เป็นเงื่อนไขที่ยุ่งยากเช่นกัน จนมีการประท้วง ถือเป็นการประจานความล้มเหลวซ้ำซาก ในการบริหารจัดการของรัฐบาลอย่างชัดเจน ดังนั้น รัฐบาลควรปรับลดเงื่อนไขในการเยียวยาให้เท่าทันสถานการณ์ และสอดคล้องกับปัญหา

นายสุริยะใส กล่าวต่อกว่า 2.คณะกรรมการ กยอ.ซึ่งกรรมการส่วนใหญ่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นทักษิณคอนเนกชัน ทำให้กรอบคิดในการกำหนดแผนฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ ยังเป็นกรอบคิดเก่า วนเวียนอยู่ในเขาวงกตของการพัฒนาที่ล้มเหลวไม่เป็นธรรม และเป็นศัตรูกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีหลักคิดในการเอางบประมาณเป็นตัวตั้ง จึงไม่แปลกที่ผลสรุป หรือแผนยุทธศาสตร์เต็มไปด้วยเมกะโปรเจกต์ หลายเรื่องควรถูกขึ้นแบล็กลิสต์ เพราะเป็นเรื่องที่นำไปสู่ความขัดแย้ง ทำลายสิ่งแวดล้อม และเปิดช่องให้มีการคอร์รัปชั่น โดยเฉพาะในแผนที่ 4 ของ กยอ.ในเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระหว่างปี 2555-2559 มีวงเงินทั้งสิ้น 2.27 ล้านล้านบาท ถือว่าเยอะมากกว่างบประมาณแผ่นดินเสียอีก

นายสุริยะใส กล่าวอีกว่า 3.สำหรับกรรมการ กยน.ที่รับผิดชอบการแก้ปัญหาน้ำท่วมแบบบูรณาการ และได้อนุมัติงบประมาณวงเงิน 3.5 แสนล้านบาทไปแล้วนั้น ซึ่งก็ได้มีนายสมิทธ ธรรมสโรช หนึ่งในกรรมการ กยน.ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ค่อนข้างรุนแรง ว่า อนุมัติงบประมาณดังกล่าว โดยที่ไม่มีแผนการทำงานที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม ซึ่งจากการตรวจสอบของกลุ่มกรีนก็ไม่พบรายละเอียดโครงการแต่ประการใด แม้คณะกรรมการชุดนี้จะมีผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความน่าเชื่อถือ มีประสบการณ์ มีต้นทุนทางสังคมสูงก็ตาม แต่ก็เป็นเรื่องน่าผิดหวังที่บทบาทและอำนาจการตัดสินใจในกรรมการ กยน.ไปอยู่ที่ตัวแทนจากฝ่ายการเมืองและข้าราชการประจำเป็นหลัก ทำให้แนวคิดสำคัญๆ ของผู้ทรงคุณวุฒิเหล่านั้นไม่ปรากฏในแผนการแก้ปัญหาของ กยน.เท่าที่ควร และทำให้ทิศทางการแก้ปัญหาน้ำท่วมยังเน้นความอยู่รอดของภาคอุตสาหกรรมและภาคเศรษฐกิจเป็นตัวตั้ง ขาดการประเมินความเสียหายและการกำหนดแผนเพื่อปกป้องฟื้นฟูภาคการเกษตรกรรม ชาวไร่ชาวนา ซึ่งได้รับความเสียหายรุนแรงจากน้ำท่วมใหญ่ครั้งที่ผ่านมาเช่นกัน

นายสุริยะใส กล่าวด้วยว่า กลุ่มกรีนเห็นว่า ควรเพิ่มบทบาทของนักวิชาการ และผู้ทรงคุณวุฒิ ไม่ว่าจะเป็น ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล อ.ปราโมทย์ ไม้กลัด ดร.สมิทธ ธรรมสโรช ดร.เสรี ศุภราทิตย์ และอีกหลายๆ คน โดยควรจะทำให้ประชาชนและสังคมคาดหวังและมีความเชื่อมั่นได้มากกว่านี้ เพราะ 3 เดือนที่ผ่านมา แม้ผู้ทรงคุณวุฒิบางคนจะออกมาท้วงติงสะท้อนและวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ กยอ.และ กยน.ถึงความไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มีรูปธรรมที่ชัดเจน แต่สุดท้ายก็เงียบหายไป

“เราไม่อยากเห็นบุคคลเหล่านี้นำต้นทุนที่ดี ไปเป็นไม้ประดับ หรือสร้างราคาให้กับ กยอ. กยน.ตามที่ฝ่ายการเมืองต้องการ ถึงเวลาแล้วที่คณะกรรมการในปีกของผู้ทรงคุณวุฒิ แสดงจุดยืนที่ชัดเจนต่อประชาชนเพื่อไม่ให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัย หากเป็นได้เพียงไม้ประดับ” นายสุริยะใส กล่าว

นายสุริยะใส ยังได้ยกตัวอย่างการอนุมัติงบประมาณสำหรับการสร้างเขื่อนกั้นนิคมอุตสาหกรรม เป็นเงินทั้งสิ้น 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งสะท้อนให้เห็นวิธีคิดแบบอุ้มภาคอุตสาหกรรม แต่ละเลยภาคเกษตรกรรรม โดยความสูงของกำแพงคอนกรีตสูงในระดับ 6.5 ม.จากระดับน้ำทะเลปานกลาง และฝั่งลึกลงไปในดินอีก 6-7 ม.ผู้รับเหมาคือบริษัท บมจ.ช.การช่าง ที่ได้รื้อเขื่อนดินเก่าแล้วปรับฐานให้กว้างจากเดิม 9 ม.เป็น 20 ม.โดยที่โครงการดังกล่าวไม่ผ่านการประชาพิจารณ์ ไม่ได้สอบถามความเห็นของประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง เป็นการตัดสินใจโดยพลการของ กยน. ซึ่งเกรงว่ากรณีจะนำไปสู่ความขัดแย้ง หากประชาชนในพื้นที่รู้สึกไม่ปลอดภัย และได้รับผลกระทบ อาจจะมาประท้วงและต่อต้านในที่สุด

ทั้งนี้ นายสุริยะใส ยังได้กล่าวถึงข้อเสนอ คือ กลุ่มกรีน ขอเรียกร้องให้ กยอ. และ กยน. นำแผนแม่บทโดยเฉพาะแผนระยะกลางและระยะยาวในแต่ส่วนไปรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนภาคส่วนต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ยุทธศาสตร์ของการการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศนั้น หมดยุคหนึ่งคนคิด สิบคนทำ ทั้ง กยอ. กยน.และรัฐบาลจะต้องระดมการมีส่วนร่วมและจัดทำเป็น วาระแห่งชาติมากกว่าเป็นแค่งานประจำ และควรสร้างกลไกการสื่อสารกับสังคมที่มีประสิทธิภาพมากกว่าที่ผ่านๆมา ทั้งนี้จากการติดตามตรวจสอบการดำเนินงานของกรรมการทั้ง 2 ชุด ยังขาดการให้ข้อมูลข่าวสารทำให้ประชาชนขาดโอกาสที่จะได้รับรู้ข้อมูลที่เท่าทันและความตื่นตัวในการมีส่วนร่วม

ในส่วนของการจัดสรรวงเงินงบประมาณกว่า 2.6 ล้านล้านบาทนั้น นายสุริยะใส มองว่า งบประมาณส่วนนี้มากกว่างบประมาณแผ่นดินในแต่ละปี ดังนั้นจะต้องสร้างหลักประกันถึงความโปร่งใส และป้องกันการทุจริตคอรัปชั่น จะต้องไม่ปล่อยให้มีขบวนการแสวงหาประโยชน์จากความหายนะของชาติ ไม่ปล่อยให้ประชาชนอยู่ในสภาพน้ำลด หนี้ท่วม ทั้งนี้รัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ควรมีบทบาทมากกว่าที่ผ่านมา หรือมากกว่าการแจกถุงยังชีพ โดยควรเป็นเจ้าภาพในการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีเวทีสมัชชาผู้ประสบอุทกภัย เพื่อรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้เดือดร้อนและผู้ที่ได้รับความเสียหายโดยตรง ร่วมกันถอดบทเรียน ประสบการณ์ในการแก้ปัญหา เพื่อสร้างความมั่นใจและขจัดอาการหวาดผวาถึงปัญหาอุทกภัยที่อาจจะมารอบใหม่

“ภายหลังน้ำลดมีการพูดถึงการจัดผังเมืองใหม่ เรื่องทางน้ำไหล หรือที่ตั้งของชุมชนบ้านจัดสรร ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่กลุ่มกรีนเห็นว่าเรื่องที่สำคัญกว่าอย่างการจัดผังอำนาจ ยังไม่มีใครพูดถึง กยอ.และ กยน.ควรใช้โอกาสนี้ในการจัดผังอำนาจในการบริหารจัดการภัยพิบัติใหม่ ที่ต้องให้ภาคประชาชนและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ใช่ผูกขาดโดยส่วนกลางหรือหน่วยงานข้าราชการประจำอีกต่อไป ฉะนั้นแผนฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ จึงต้องส่งเสริมและสนับสนุนการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม เพราะทั้ง 8 แผนของ กยน.หรือ 5 ยุทธศาสตร์ของ กยอ. ไม่มีข้อไหนพูดถึงการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเลย” นายสุริยะใส กล่าว

นอกจากนี้ นายสุริยะใส เปิดเผยด้วยว่า ทางกลุ่มกรีนได้มีการประสานกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) และกรมชลประทาน เพื่อขอนำคณะเข้าไปตรวจสอบปริมาณน้ำที่เขื่อนสำคัญ เช่น เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งที่ผ่านมามีข้อพิพาทกันว่า มีเรื่องของการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องกับปริมาณน้ำในบางช่วง ดังนั้น เพื่อให้เกิดข้อเท็จจริงและความกระจ่าง จึงจะเป็นตัวแทนในการเข้าไปตรวจสอบปริมาณน้ำในแต่ละเดือน รวมทั้งแผนในการบริหารจัดการน้ำด้วย พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายรับฟังความคิดเห็นของผู้ประสบภัย สร้างการมีส่วนร่วม เพื่อผลักดันแผน กยอ.และ กยน.
กำลังโหลดความคิดเห็น