xs
xsm
sm
md
lg

“จารุพงศ์” นั่ง ปธ.พตส.รุ่น 3 แบบไร้คู่แข่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ
กกต.ด้านกิจการฯ จี้ พรรคการเมืองให้ความสำคัญในการตั้งสาขาพรรค แฉพบที่ตั้ง-ปธ.สาขาเป็นคนทรงเจ้า ขณะที่ตัวแทนพรรคฯประสานเสียงให้กฏหมายเข้มงวดสาขาพรรค หากทำผิดพลาดพรรคมีสิทธิถูกยุบ ด้าน “จารุพงศ์” นั่ง ปธ.พตส.3 แบบไร้คู่แข่ง

วันนี้ (27 ม.ค.) นางสดศรี สัตยธรรม กกต.ด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ กล่าวบรรยายในหัวข้อ “สาขาพรรคการเมืองกับการพัฒนาพรรคการเมือง” ให้กับนักศึกษาหลักสูตรพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง รุ่นที่ 3 ของสถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งตอนหนึ่ง ว่า ขณะนี้มีการถกเถียงกันมากว่ามาตรการเกี่ยวกับดูแลพรรคการเมืองตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอหรือไม่และสมควรมีการแก้ไขหรือไม่ โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญมาตรา 237 ว่าบัญญัติว่าหากกรรมการบริหารพรรคทุจริตเลือกตั้ง พรรคมีสิทธิถูกยุบ ซึ่งผู้ยกร่างมองว่า การกำหนดเช่นนี้จะทำให้พรรคดูแลกันเองมากขึ้น เปรียบเสมือนเมื่อลูกทำผิด พ่อแม่ก็ต้องโดนไปด้วย แต่ในมุมของฝ่ายการเมืองไม่เห็นด้วย เพราะทำให้เกิดการยุบพรรคในทันที

ส่วนในเรื่องการจัดตั้งพรรค กฎหมายก็กำหนดให้ตั้งได้ง่าย แต่มีปัญหาในเรื่องการคงอยู่ โดยขณะนี้มีพรรคการเมืองที่ดำเนินกิจการอยู่ 57 พรรค แต่ก็มีหลายพรรคที่จ่อคิวถูกสั่งให้สิ้นสภาพความเป็นพรรค เนื่องจากไม่สามารถหาสมาชิกพรรคให้ครบ 5,000 คน และไม่สามารถตั้งสาขาพรรคใน 4 ภาค ได้ภายในระยะเวลา 1 ปี ซึ่งในเรื่องของสาขาพรรคมีปัญหามาก ส่วนใหญ่แต่ละพรรคก็จะมี 4 สาขาตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น เพราะกฎหมายกำหนด กฎเกณฑ์ รายละเอียดไว้ค่อนข้างเข้มงวด เช่น สาขาพรรคต้องเป็นตัวเชื่อมระหว่างประชาชนกับพรรค ต้องมีสถานที่ๆ เหมาะสม มีเจ้าหน้าที่ให้บริการข้อมูลข่าวสารกับประชาชน แต่จากที่ได้ตรวจสอบกลับพบว่า มีสาขาพรรคจำนวนมากที่ใช้บ้านพัก หรือ โรงนา เป็นสาขาพรรคการเมือง คนเป็นประธานสาขาพรรคก็ไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจว่าอำนาจหน้าของประธานสาขามีอะไร และสาขาพรรคต้องทำอะไรบ้าง ทราบแต่เพียงว่า เดี๋ยวพรรคการเมืองของตนที่กรุงเทพจะส่งเงินมาให้ แต่ก็ไม่รู้ว่าเงินที่จะจัดส่งมานั้นต้องนำมาใช้ในการพัฒนาสาขาพรรคอย่างไร

“การตั้งสาขาพรรค ทำให้รู้สึกว่าพรรคฯทำเหมือนเล่นๆ กัน มองแค่ว่าทำตามกฎหมายว่าไว้เท่านั้น เพราะการจะกำหนดนโยบายเป็นเรื่องของแกนนำพรรค ไม่ใช่สาขาพรรค ที่กฎหมายกำหนดให้สาขาพรรคเป็นผู้มีหน้าที่คัดสรรผู้สมัครในเขตพื้นที่นั้น ถึงเวลาพรรคก็ให้กรรมการสาขามาประชุมเท่านั้น อำนาจการเลือกผู้สมัครไม่ใช่ของประธานสาขา แต่เป็นของหัวหน้าพรรค ซึ่งสาขาพรรคบางแห่งที่ไปตรวจจะดูไม่รู้เลยว่าเป็นที่ตั้งสาขาพรรค โดยที่ทำการอยู่ชั้น 2 ของบ้าน ซึ่งเป็นสถานที่ทรงเจ้า ต้องปีนบันไดขึ้นไป ประธานสาขาพรรคก็มีอีกอาชีพเป็นคนทรงเจ้าและเป็นหมอดูซึ่งใช้ที่ทรงเจ้าเป็นที่ประชุมสาขาพรรรค ส่วนด้านล่างของบ้านก็มีโต๊ะสนุ๊กให้คนเล่นพนันกัน”

นอกจากนี้ ยังพบว่า สาขาพรรคบางแห่งไม่ได้รับเงินจากสำนักงานใหญ่ทั้งที่กองทุนพัฒนาพรรคการเมือง ของ กกต.ก็ได้มีการจัดสรรเงินในการบริหารสาขาพรรคการเมืองผ่านไปทางพรรคการเมืองแล้วโดยเจ้าหน้าที่ของสาขาพรรคต้องเฉลี่ยเงินส่วนตัวมาบริหารสาขากันเอง

ซึ่งเหตุที่สาขาพรรคไม่ได้เงินสนับสนุนจากสำนักงานใหญ่ก็ทราบว่ามาจากการที่สำนักงานใหญ่มองว่าสาขาพรรคนั้นไม่สามารถทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเลือกผู้สมัครของพรรคเป็นส.ส.ได้ ดังนั้นการจะพัฒนาสาขาพรรค จึงจำเป็นที่จะต้องจัดสรรงบประมาณให้กับสาขาพรรคอย่างพอเพียงและควรมีการให้ความรู้เรื่องกฎหมายควบคู่ไปด้วย

อย่างไรก็ตาม หลังการบรรยาย นางสดศรี ได้สอบถามนักศึกษา พตส.ที่ส่วนใหญ่เป็นตัวแทนจากพรรคการเมืองว่าเหตุใดปัจจุบันพรรคการเมืองเลือกที่จะตั้งศูนย์ประสานการเลือกตั้ง มากกว่าที่จะตั้งสาขาพรรค ซึ่งตัวแทนจากพรรคการเมืองต่างก็แสดงความเห็นสอดคล้องกันว่าเนื่องจากการตั้งสาขาพรรคกฎหมายกำหนดหลักในการบริหารสาขาค่อนข้างเข้มงวด เช่น สาขาต้องยื่นแสดงบัญชีรายรับ-รายจ่าย หรือในอดีตประธานสาขาต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน ซึ่งหากปฏิบัติไม่ครบถ้วนหรือหลงลืมก็อาจเป็นเหตุให้พรรคต้องถูกยุบได้

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการอบรมหลักสูตร พตส.3 วันนี้ นักศึกษาได้จัดให้มีการเลือกตั้งประธานพตส.รุ่นที่ 3 โดยใช้เครื่องลงคะแนน ซึ่งมีผู้ได้รับการเสนอชื่อเพียงคนเดียวคือนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.คมนาคมและเมื่อเปิดให้มีการลงคะแนนก็ปรากฎว่านายจารุพงศ์ได้รับคะแนนเสียง 4 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และได้คะแนนเสียงมากกว่าคะแนนที่ไม่ประสงค์ลงคะแนเหมือนกับการเลือกตั้ง โดยได้คะแนนเสียง 46 คะแนนจากผู้มาใช้สิทธิ์ 50 คน ทำให้ได้รับตำแหน่งประธาน พตส.รุ่นที่ 3
กำลังโหลดความคิดเห็น