xs
xsm
sm
md
lg

“สมชัย” เห็นดีแก้ รธน.อ้างมีส่วนอัปลักษณ์ แถมบอกไม่จำเป็นทำประชามติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมชัย จึงประเสริฐ กกต.ด้านสืบสวนสอบสวน
“สมชัย” เห็นด้วยเพื่อไทยเสนอแก้ รธน.ชี้ มีความอัปลักษณ์ ทั้งเห็นควรแก้ไขไม่ต้องทำประชามติ ไม่ต้องมี ส.ส.ร.เหตุสิ้นเปลืองงบประมาณ เผย มาตรา 237 ไม่มีประโยชน์ เหตุทำนักการเมืองรู้ทันส่งนอมินีนั่งเก้าอี้กรรมการบริหารพรรคแทน หวังหนีผลพวงยุบพรรค พร้อมยกย่องอดีต ปธ.คมช.ที่ยอมรับรัฐธรรมนูญนี้สร้างความแตกแยก

วันนี้ ( 27 ม.ค.) นายสมชัย จึงประเสริฐ กกต.ด้านกิจการสืบสวนสอบสวน กล่าวถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทย เสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่บังคับใช้กับประชาชนทุกคน ซึ่งตนเห็นว่า ควรที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ดูแล้วอัปลักษณ์ ฉะนั้น เมื่อมีความอัปลักษณ์อยู่ในรัฐธรรมนูญก็จำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุง โดยที่ไม่จำเป็นต้องทำประชามติ หรือมาซักถามใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งนี้ ในส่วนของมาตรา 237 ควรที่จะได้รับการปรับปรุงแก้ไขอย่างยิ่ง เนื่องจากเงื่อนไขในแง่ที่ว่าหากหัวหน้าพรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารพรรคการเมือง กระทำผิดกฎหมายการเลือกตั้ง และให้มีผลพวงถึงการยุบพรรคไปด้วยนั้น มองว่า ไม่ควรนำพรรคการเมืองมาเกี่ยวข้องหรือไม่ควรถูกยุบพรรคนั่นเอง เรื่องดังกล่าวนี้ควรเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล เมื่อหัวหน้าพรรค หรือกรรมการบริหารพรรคกระทำผิดก็ควรถูกดำเนินคดีไปตามกฎหมาย ถูกเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง ไม่ใช่แค่ 5 ปี ควรมากกว่า 5 ปีไปเลย หรือตลอดไป เพราะเมื่อทำผิดกฎหมายก็ไม่ควรเปิดโอกาสเข้ามาสู่วงการการเมือง หรือไม่ควรกลับมารับผิดชอบงานที่ทำเพื่อประเทศชาติอีก

“ไม่อยากเห็นพรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นแล้วก็ถูกยุบ พอถูกยุบก็ตั้งพรรคใหม่ ภายใต้ชื่อใหม่ จะวนเวียนอยู่อย่างนี้ ฉะนั้น เมื่อถูกยุบพรรคแล้วต้องยุบไปเลย” กกต.ด้านสืบสวนสอบสวน กล่าว

นายสมชัย ยังกล่าวอีกว่า มาตรา 237 ท้ายที่สุดไม่มีประโยชน์อะไรเลย เพราะบุคคลที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีก็ไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรค หรือกรรมการบริหารพรรค ซึ่งตามข้อเท็จจริงบุคคลที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีควรเป็นหัวหน้าพรรค เพราะจะได้รู้หลักในการบริหารปกครองงานภายในพรรค แต่เพราะความคิดและความกลัวเรื่องมาตรา 237 ที่อาจทำให้ยุบพรรค หรือเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง จึงทำให้เกิดหลักคิดที่ไม่ถูกต้องไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นมา เกิดการหลีกเลี่ยงจุดตรงนี้ ด้วยการนำบุคคลอื่นมาเป็นกรรมการบริหารพรรคแทน เพื่อที่จะไม่ได้มาโดนมาตรา 237 ทำให้หลักการปกครองประชาธิปไตยการขึ้นสู่ตำแหน่งนี้ โดยพรรคการเมืองเสียไป เท่ากับไม่มีประโยชน์เลย ฉะนั้นต้องแก้ไขต้องปรับปรุงเสีย

นายสมชัย กล่าวอีกว่า กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ควรดำเนินการไปตามตามรัฐธรรมนูญที่เขียนวิธีแก้ไขไว้แล้ว โดยแก้ไขไปตามวิถีทางหลักประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญที่เขียนไว้ ไม่ต้องตั้งส.ส.ร. เพราะสิ้นเปลืองงบประมาณโดยไม่จำเป็น และไม่มี ส.ส.ร.สภาก็สามารถตั้งกรรมการขึ้นมายกร่างได้ แต่ที่หลายฝ่ายอยากให้มีการตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมานั้น ก็หวังไว้เพื่อลดแรงเสียดทานความขัดแย้งและการถูกโจมตีจากฝ่ายต่างๆ เท่านั้น

“ในรัฐธรรมนูญก็ไม่ควรเขียนอะไรให้มากมาย ถ้านับทุกมาตราแล้ว ก็ไม่รู้ว่าจะมีรัฐธรรมนูญของกี่ประเทศที่รวมอยู่ในรัฐธรรมนูญไทย ไม่ว่าเราจะมีรัฐธรรมนูญมากมายแค่ไหนนั้นไม่สำคัญ แต่มันอยู่ที่คน เพราะกฎหมายยิ่งเขียนมากยิ่งจะจำกัดและก็ยิ่งแย่ ประเทศไทยหลายปีที่ผ่านมาหย่อนยานในเรื่องระเบียบวินัย เห็นได้ชัดเจนว่าคนไทยไม่ค่อยมีระเบียบวินัย ขาดจริยธรรม แม้แต่คนที่พูดให้ปฏิบัติตามจริยธรรมยังไม่ยอมปฏิบัติแล้วใครจะมาปฏิบัติตาม สรุปแล้วจริยธรรมก็ไม่ดี เพราะไม่มีใครปฏิบัตินั่นเอง” กกต.สืบสวนสอบสวน กล่าว

อย่างไรก็ตาม ต้องขอยกย่อง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคมาตุภูมิ และอดีตประธาน คมช.ที่ยอมรับและเห็นควรแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งที่จริงแล้วควรเป็นคนที่ออกมาบอกว่าไม่ควรแก้ไขมากกว่า แต่กลับเห็นควรแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะในอดีตเคยทำผิดไว้ด้วยการทำปฏิวัติรัฐประหาร เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้เกิดความแตกแยก สมแล้วที่ได้รับการคัดเลือกเป็นประธานนักศึกษาอบรมหลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง รุ่นที่ 1 (พตส.1) ซึ่ง พล.อ.สนธิ เองก็เคยระบุว่าหากได้มาเรียนหลักสูตร พตส.ก่อนก็จะไม่ทำการปฏิวัติเด็ดขาด เพราะการปฏิวัติเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
กำลังโหลดความคิดเห็น