xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” แจง กมธ.วุฒิฯ ยัน ครม.ยุค ปชป.ไม่มีเอี่ยวทุจริตรถไฟสายสีม่วง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (แฟ้มภาพ)
“มาร์ค” แจง กมธ.สอบทุจริต วุฒิฯ หลังถูก “เหลิม” พาดพิง ยันครม. ยุค ปชป. ไม่มีเอี่ยวทุจริตรถไฟฟ้าสายสีม่วง ส่วนรถเมล์เอ็นจีวี ไม่มีการอนุมัติ ย้ำตรวจสอบทุกโครงการแต่ไม่ล้วงลูก ฝากการบ้านกมธ.จับเข่า สตง.ปรับการทำงานยึดผลลัพท์มากกว่ากฏระเบียบ เอื้อท้องถิ่นทำงาน ห่วงที่มา ป.ป.ช.จังหวัดไม่รักกุม เปิดช่องทุจริตครบวงจร

ที่รัฐสภา วันนี้ (12 ม.ค.) ได้มีการประชุมคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ที่มีน.ส.รสนา โตสิตระกูล เป็นประธาน โดยได้เชิญนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านฯ และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรี มาชี้แจงกรณีถูกร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี พาดพิงระหว่างการชี้แจงต่อกรรมาธิการเกี่ยวกับการได้มาซึ่งทรัพย์สินที่ผิดปกติของนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม อาจมีที่มาจากการทุจริตในโครงการถไฟฟ้าสายสีม่วงและรถเมล์เอ็นจีวี ซึ่งเป็นโครงการที่มีการพิจารณาในสมัยที่นายอภิสิทธิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี

โดยคณะกรรมาธิการติดใจสงสัยในประเด็นที่ร.ต.อ.เฉลิมอ้างถึงการพูดส่วนตัวกับนายอภิสิทธิ์หลังจากมีการตอบกระทู้ในสภาว่า มีเนื้อหาอย่างไร เพราะร.ต.อ.เฉลิมชี้แจงต่อที่ประชุมว่าเรื่องทั้งหมดนายอภิสิทธิ์ทราบดี โดยนายอภิสิทธิ์อธิบายว่าในการพูดคุยกัน ร.ต.อ.เฉลิมยอมรับว่าหากมีการกระทำผิดในโครงการรถไฟฟ้าสีม่วงจริง แต่ก็ไม่เกี่ยวกับมติครม.

จากนั้นได้ชี้แจงถึงความเป็นมาของมติครม.ว่า การอนุมัติงบประมาณในโครงการนี้แล้วเสร็จก่อนที่ตนจะเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อเข้ามาบริหารประเทศ โครงการนี้ได้กลับเข้าสู่การพิจารณาอีกครั้ง โดยมีประเด็นเกี่ยวกับวงเงินงบประมาณ และกรณีภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถูกตั้งคำถาม ซึ่งได้ให้สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีตรวจสอบมติครม.ที่ผ่านมาว่าในวงเงินงบประมาณได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มไปด้วยหรือไม่ แต่ได้รับคำยืนยันจากฝ่ายประจำและฝ่ายการเมืองว่า ไม่รวมกับภาษีมูลค่าเพิ่ม

อย่างไรก็ตามในมติ ครม.เดิมกลับไม่ได้มีการกำหนดให้ชัดเจน ซึ่งในเรื่องนี้บุคคลที่เกี่ยวข้องยอมรับว่าเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่มมีการกำหนดไว้ในข้อเสนอของที่ปรึกษา ดังนั้นเพื่อความรอบคอบ มติครม.ที่ตนเป็นนายกฯจึงเขียนชัดเจนว่าให้ปฏิบัติตามมติครม.เดิม หากรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็ใช้วงเงินตามที่กำหนด แต่ถ้าไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มก็ต้องหักงบประมาณออกตามความเป็นจริง

นอกจากนี้เมื่อมีการทักท้วงว่าอาจมีปัญหาเรื่องข้อกฏหมายขากประธานกรรมาธิการป.ป.ช.ของสภา ตนได้นำหนังสือท้วงติงดังกล่าวส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจง และยังให้กระทรวงการคลังตรวจสอบงบประมาณซ่าสอดคล้องกับความเป็นจริงหรือไม่ รวมทั้งให้อัยการสูงสุดตรวจสอบว่ามีปัญหาข้อกฏหมายตามที่มีข้อกังวลหรือเปล่า ก็ได้รับการยืนยันจากสองหน่วยงานว่าไม่มีปัญหา จึงยอมให้มีการนำโครงการดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของครม. หลังจากนั้นก็เป็นขั้นตอนการดำเนินการของกระทรวงที่เป็นผู้บริหารโครงการ

ด้านน.ส.รสนาได้แสดงความกังวลว่าการตรวจสอบขาดช่วงหลังจากที่กลับเข้าไปสู่การดำเนินการของกระทรวงคมนาคม ถือเป็นช่องว่างที่ทำให้เกิดการทุจริตหรือไม่ และควรจะมีจุดใดที่จะเชื่อมโยงในการตรวจสอบได้ นายอภิสิทธิ์ชี้แจงว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะให้ครม.เข้าไปบริหารทุกเรื่อง เพราะแต่ละกระทรวงมีความรับผิดชอบในการบริหาร หากมีการทำความผิดก็ต้องถูกดำเนินคดีเป็นหลักการบริหารอยู่แล้ว ในส่วนของตนที่กำกับดูแลรัฐมนตรีหากมีการร้องเรียนก็ไม่เคยละเลยในการตรวจสอบ นอกจากนี้ยังมีปัญหาว่าหลายหน่วยงานมีการท้วงติงเรื่องความรับผิดชอบทางกฏหมายว่าหากมีการเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าถูกฟ้องจากเอกชนหน่วยงานนั้นก้ต้องเป็นผู้รับผิดชอบในทางกฏหมาย ดังนั้นจึงต้องให้หน่วยงานทำงานตามความรับผิดชอบของตนเอง

ส่วนกรณีโครงการรถเมล์เอ็นจีวี นายอภิสิทธิ์ชี้แจงว่าไม่ได้มีการอนุมัติโครงการนี้ โดยมีการปรับเปลี่ยนโครงการหลายครั้ง ตั้งแต่จำนวนและแนวทางในการบริหาร ซึ่งทางกระทรวงคมนาคมให้เหตุผลถึงการทำโครงการนี้ว่าจะเป็นการปฏิรูป สมก. ให้พ้นจากการขาดทุน ซึ่งถือว่าเป็นหลักการที่ดี แต่หลักการสำคัญไม่ใช่เรื่องการเช่า หรือซื้อ เพราะมีข้อด้อยต่างกัน คือ ถ้าเช่าก็มีการตั้งข้อสังเกตเรื่องจะไม่เป็นทรัพย์สินของข.ส.ม.ก.ส่วนถ้าซื้อก็จะเป็นภาระเรื่องการบำรุงรักษา ซึ่งเป็นช่องทางในการทุจริตด้วย แต่สาระสำคัญอยู่ที่การจะนำตั๋วอิเลคทรอนิคส์และการปรับปรุงเส้นทางเพื่อลดต้นทุนที่จะทำให้ข.ส.ม.ก.ได้กำไร แต่ทางหน่วยงานไม่สามารถตอบคำถามได้ว่าจะดำเนินการอย่างไรในการลดพนักงานเพื่อนำมาสู่การใช้ตั๋วอิเลคทรอนิคส์ ทำให้โครงการนี้ยังไม่ผ่านการพิจารณา และต้องเข้าใจว่าโครงการนี้เริ่มต้นตั้งแต่ยุคนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุมไม่มีการติดใจสงสัยซักถามเพิ่มเติม แต่มีการขอความเห็นนายอภิสิทธิ์ในฐานะอดีตนายกฯว่าควรจะกำหนดมาตรการที่จะปิดช่องทางการทุจริตอย่างใด ซึ่งนายอภิสิทธิ์ได้ให้ความเห็นว่าในยุคที่ตนเป็นนายกฯได้มีการประสานกับป.ป.ช. และภาคเอกชน ซึ่งขณะนั้นนายดุสิต นนทะนาคร อดีตประธารหอการค้า ร่วมกับรัฐบาลในการต่อต้านการทุจริตซึ่งเป็นที่มาของการก่อตั้งของภาคเอกชนในเรื่องนี้ และตนยังได้ขอให้ทางหอการค้าสานต่อ หลังจากที่นายดุสิตเสียชีวิตไป นอกจากนี้ในส่วนของท้องถิ่นที่ถูกวิจารณ์ว่ามีการทุจริตมาก เพราะชาวบ้านสัมผัสโดยตรงแต่ไม่กล้าให้ข้อมูลเนื่องจากเกรงกลัวอิทธิพล ดังนั้นจึงต้องมีการคุ้มครองเพื่อให้มีการให้ข้อมูลเพื่อตรวจสอบการทุจริต

ขณะที่กรรมาธิการบางส่วนแสดงความเห็นด้วยและตั้งข้อสังเกตว่า ตำแหน่งนายกฯอบจ. กลายเป็นการสืบทอดอิทธิพลจากระดับชาติมาสู่ท้องถิ่น เพราะเป็นผู้จัดสรรนโยบายให้กับ อบต. ซึ่งนายอภิสิทธิ์เห็นว่าเป็นโจทย์ที่กรรมาธิการซึ่งถือเป็นหน่วยงานอิสระควรจะพิจารณาใน2 ส่วน เพราะการใช้งบประมาณท้องถิ่นจะถูกตรวจสอบโดยสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง) แต่ที่ผ่านมามีปัญหาว่า สตง.เน้นในเรื่องกฏระเบียบมากกว่าผลลัพท์ โดยมีบางเรื่องที่เร่งด่วน และองค์กรท้องถิ่นได้ทดลองจ่ายไปก่อนกลับถูก สตง.ตรวจสอบว่าไม่สามารถทำได้ต้องรอจนคดีความแล้วเสร็จ ทำให้เกิดปัญหา พร้อมกับยกตัวอย่างกรณีเรือน้ำตาลล่มที่อยุธยา ที่จำเป็นต้องมีการเยียวยาอย่างรวดเร็ว โดยท้องถิ่นไม่กล้าทดลองจ่าย จึงอยากให้มีการหารือถึงปัญหานี้กับ สตง. เพื่อให้ยึดเรื่องผลลัพท์เป็นหลักแทนที่จะมุ่งไปกฏระเบียบเพื่อประโยชน์ของประชาชน

ส่วนการทุจริตในอนาคตจะมีป.ป.ช.จังหวัด ซึ่งตนถือเป็นเสียงข้างน้อยที่ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้เพราะคิดว่าจะเป็นอันตรายยิ่ง เพราะระบบของเราไม่ได้รองรับการสรรหาป.ป.ช.ในระดับจังหวัด แต่มุ่งที่ระดับชาติมากกว่า เช่นเดียวกับกกต. ดังนั้นหากมีการได้ป.ป.ช.จังหวัดที่มีปัญหาก็จะทำให้การทจริตครบวงจรในพื้นที่ จึงอยากให้กรรมาธิการดูในเรื่องนี้ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น