xs
xsm
sm
md
lg

"อภิสิทธิ์"แจงกมธ.สอบทุจริต ไม่มีเอี่ยวรถไฟฟ้า-เมล์เอ็นจีวี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“มาร์ค” รุดแจง กมธ.สอบทุจริต วุฒิฯยัน “เหลิม” ยอมรับครม.ยุคปชป.ไม่มีเอี่ยวทุจริตรถไฟฟ้าสีม่วง ยันรถเมล์เอ็นจีวี ไม่มีการอนุมัติ ย้ำตรวจสอบทุกโครงการ แต่ไม่ล้วงลูก ฝากการบ้านกมธ.จับเข่าสตง. ปรับการทำงานยึดผลลัพธ์มากกว่ากฏระเบียบ เอื้อท้องถิ่นทำงาน ห่วงที่มา ป.ป.ช. จังหวัดไม่รักกุม เปิดช่องทุจริตครบวงจร

เมื่อเวลา 10.00 น.วานนี้ (12 ม.ค.) ได้มีการประชุมคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ที่มี น.ส.รสนา โตสิตระกูล เป็นประธาน โดยได้เชิญ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรี มาชี้แจงกรณีถูก ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี พาดพิงระหว่างการชี้แจงต่อกรรมาธิการ เกี่ยวกับการได้มาซึ่งทรัพย์สินที่ผิดปกติ ของนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม อาจมีที่มาจากการทุจริตในโครงการถไฟฟ้าสายสีม่วง และรถเมล์เอ็นจีวี ซึ่งเป็นโครงการที่มีการพิจารณาในสมัยที่ นายอภิสิทธิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ ทางกรรมาธิการติดใจสงสัยในประเด็นที่ ร.ต.อ.เฉลิม อ้างถึงการพูดส่วนตัวกับนายอภิสิทธิ์ หลังจากมีการตอบกระทู้ในสภาว่า มีเนื้อหาอย่างไร เพราะร.ต.อ.เฉลิม ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า เรื่องทั้งหมดนายอภิสิทธิ์ทราบดี โดยนายอภิสิทธิ์ อธิบายว่า ในการพูดคุยกัน ร.ต.อ.เฉลิม ยอมรับว่าหากมีการกระทำผิดในโครงการรถไฟฟ้าสีม่วงจริง แต่ก็ไม่เกี่ยวกับมติครม.

จากนั้นได้ชี้แจงถึงความเป็นมาของมติครม.ว่า การอนุมัติงบประมาณในโครงการนี้แล้วเสร็จก่อนที่ตนจะเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อเข้ามาบริหารประเทศ โครงการนี้ได้กลับเข้าสู่การพิจารณาอีกครั้ง โดยมีประเด็นเกี่ยวกับวงเงินงบประมาณ และกรณีภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ถูกตั้งคำถาม ซึ่งได้ให้สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีตรวจสอบมติครม.ที่ผ่านมา ว่าในวงเงินงบประมาณได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มไปด้วยหรือไม่ แต่ได้รับคำยืนยันจากฝ่ายประจำ และฝ่ายการเมืองว่า ไม่รวมกับภาษีมูลค่าเพิ่ม

อย่างไรก็ตาม ในมติครม.เดิมกลับไม่ได้มีการกำหนดให้ชัดเจน ซึ่งในเรื่องนี้บุคคลที่เกี่ยวข้องยอมรับว่า เรื่องภาษีมูลค่าเพิ่มมีการกำหนดไว้ในข้อเสนอของที่ปรึกษา ดังนั้นเพื่อความรอบคอบ มติครม.ที่ตนเป็นนายกฯ จึงเขียนชัดเจนว่า ให้ปฏิบัติตามมติครม.เดิม หากรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็ใช้วงเงินตามที่กำหนด แต่ถ้าไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็ต้องหักงบประมาณออกตามความเป็นจริง

นอกจากนี้ เมื่อมีการทักท้วงว่าอาจมีปัญหาเรื่องข้อกฏหมาย จากประธานกรรมาธิการป.ป.ช. ของสภา ตนได้นำหนังสือท้วงติงดังกล่าวส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจง และยังให้กระทรวงการคลัง ตรวจสอบงบประมาณ ว่าสอดคล้องกับความเป็นจริงหรือไม่ รวมทั้งให้อัยการสูงสุด ตรวจสอบว่ามีปัญหาข้อกฎหมายตามที่มีข้อกังวลหรือเปล่า ก็ได้รับการยืนยันจากสองหน่วยงานว่า ไม่มีปัญหา จึงยอมให้มีการนำโครงการดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. หลังจากนั้นก็เป็นขั้นตอนการดำเนินการของกระทรวง ที่เป็นผู้บริหารโครงการ

ด้านน.ส.รสนา ได้แสดงความกังวลว่า การตรวจสอบขาดช่วงหลังจากที่กลับเข้าไปสู่การดำเนินการของกระทรวงคมนาคม ถือเป็นช่องว่างที่ทำให้เกิดการทุจริตหรือไม่ และควรจะมีจุดใดที่จะเชื่อมโยงในการตรวจสอบได้ นายอภิสิทธิ์ ชี้แจงว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะให้ครม. เข้าไปบริหารทุกเรื่อง เพราะแต่ละกระทรวงมีความรับผิดชอบในการบริหาร หากมีการทำความผิด ก็ต้องถูกดำเนินคดีเป็นหลักการบริหารอยู่แล้ว ในส่วนของตนที่กำกับดูแลรัฐมนตรี หากมีการร้องเรียน ก็ไม่เคยละเลยในการตรวจสอบ

นอกจากนี้ยังมีปัญหาว่าหลายหน่วยงานมีการท้วงติงเรื่องความรับผิดชอบทางกฏหมาย ว่าหากมีการเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าถูกฟ้องจากเอกชนหน่วยงานนั้นก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบในทางกฏหมาย ดังนั้นจึงต้องให้หน่วยงานทำงานตามความรับผิดชอบของตนเอง

ส่วนกรณีโครงการรถเมล์เอ็นจีวี นายอภิสิทธิ์ ชี้แจงว่า ไม่ได้มีการอนุมัติโครงการนี้ โดยมีการปรับเปลี่ยนโครงการหลายครั้ง ตั้งแต่จำนวน และแนวทางในการบริหาร ซึ่งทางกระทรวงคมนาคม ให้เหตุผลถึงการทำโครงการนี้ว่า จะเป็นการปฏิรูป ขสมก.ให้พ้นจากการขาดทุน ซึ่งถือว่าเป็นหลักการที่ดี แต่หลักการสำคัญไม่ใช่เรื่องการเช่า หรือซื้อ เพราะมีข้อด้อยต่างกัน คือ ถ้าเช่า ก็มีการตั้งข้อสังเกตเรื่องจะไม่เป็นทรัพย์สินของขสมก.ส่วนถ้าซื้อ ก็จะเป็นภาระเรื่องการบำรุงรักษา ซึ่งเป็นช่องทางในการทุจริตด้วย แต่สาระสำคัญอยู่ที่การจะนำตั๋วอิเลกทรอนิกส์ และการปรับปรุงเส้นทาง เพื่อลดต้นทุนที่จะทำให้ขสมก.ได้กำไร แต่ทางหน่วยงานไม่สามารถตอบคำถามได้ว่าจะดำเนินการอย่างไร ในการลดพนักงาน เพื่อนำมาสู่การใช้ตั๋วอิเลกทรอนิกส์ ทำให้โครงการนี้ยังไม่ผ่านการพิจารณา และต้องเข้าใจว่า โครงการนี้เริ่มต้นตั้งแต่ยุค นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุมไม่มีการติดใจสงสัยซักถามเพิ่มเติม แต่มีการขอความเห็น นายอภิสิทธิ์ ในฐานะอดีตนายกฯว่า ควรจะกำหนดมาตรการที่จะปิดช่องทางการทุจริตอย่างใด ซึ่งนายอภิสิทธิ์ ได้ให้ความเห็นว่า ในยุคที่ตนเป็นนายกฯ ได้มีการประสานกับป.ป.ช. และภาคเอกชน ซึ่งขณะนั้น นายดุสิต นนทะนาคร อดีตประธารหอการค้า ร่วมกับรัฐบาล ในการต่อต้านการทุจริต ซึ่งเป็นที่มาของการก่อตั้งของภาคเอกชนในเรื่องนี้ และตนยังได้ขอให้ทางหอการค้าสานต่อ หลังจากที่นายดุสิต เสียชีวิตไป

นอกจากนี้ ในส่วนของท้องถิ่นที่ถูกวิจารณ์ว่ามีการทุจริตมาก เพราะชาวบ้านสัมผัสโดยตรง แต่ไม่กล้าให้ข้อมูลเนื่องจากเกรงกลัวอิทธิพล ดังนั้นจึงต้องมีการคุ้มครองเพื่อให้มีการให้ข้อมูล เพื่อตรวจสอบการทุจริต

ขณะที่กรรมาธิการบางส่วน แสดงความเห็นด้วยและตั้งข้อสังเกตว่า ตำแหน่งนายกฯอบจ. กลายเป็นการสืบทอดอิทธิพลจากระดับชาติมาสู่ท้องถิ่น เพราะเป็นผู้จัดสรรนโยบายให้กับ อบต. ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เห็นว่าเป็นโจทย์ที่กรรมาธิการซึ่งถือเป็นหน่วยงานอิสระ ควรจะพิจารณาใน 2 ส่วน เพราะการใช้งบประมาณท้องถิ่น จะถูกตรวจสอบโดยสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แต่ที่ผ่านมามีปัญหาว่า สตง. เน้นในเรื่องกฎระเบียบมากกว่าผลลัพธ์ โดยมีบางเรื่องที่เร่งด่วน และองค์กรท้องถิ่นได้ทดรองจ่ายไปก่อน กลับถูกสตง.ตรวจสอบว่า ไม่สามารถทำได้ ต้องรอจนคดีความแล้วเสร็จ ทำให้เกิดปัญหา พร้อมกับยกตัวอย่างกรณีเรือน้ำตาลล่ม ที่ จ.อยุธยา ที่จำเป็นต้องมีการเยียวยาอย่างรวดเร็ว โดยท้องถิ่นไม่กล้าทดรองจ่าย จึงอยากให้มีการหารือถึงปัญหานี้กับ สตง. เพื่อให้ยึดเรื่องผลลัพธ์ เป็นหลัก แทนที่จะมุ่งไปกฎระเบียบ เพื่อประโยชน์ของประชาชน

ส่วนการตรวจสอบทุจริตในอนาคตจะมี ป.ป.ช.จังหวัด ซึ่งตนถือเป็นเสียงข้างน้อยที่ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ เพราะคิดว่าจะเป็นอันตรายยิ่ง เพราะระบบของเราไม่ได้รองรับการสรรหาป.ป.ช.ในระดับจังหวัด แต่มุ่งที่ระดับชาติมากกว่า เช่นเดียวกับ กกต. ดังนั้นหากมีการได้ป.ป.ช.จังหวัดที่มีปัญหา ก็จะทำให้การทุจริตครบวงจรในพื้นที่ จึงอยากให้กรรมาธิการดูในเรื่องนี้ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น