กมธ.ปรองดอง เผยกฤษฎีกา-ผบ.ตร.-คอป. ส่งเอกสารคดีการเมืองให้ศึกษา “บิ๊กบัง” วอนชาวบ้านให้อภัยกันจะช่วยขับเคลื่อนประเทศได้ ด้านโฆษกระบุที่ประชุมตีกลับร่างปรองดองให้ ส.พระปกเกล้าแก้เพิ่ม ชี้ยังเป็นนามธรรมเกิน
วันนี้ (27 ธ.ค.) ที่รัฐสภา การประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ (กมธ.ปรองดอง) โดยมี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ เป็นประธานแถลงภายหลังการประชุมว่า กมธ.ได้มีการประชุมเป็นครั้งที่ 7 แล้ว ซึ่งในวันนี้คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ส่งเอกสารเกี่ยวกับแนวทางในการยกร่างกฎหมายนิรโทษกรรม รวมทั้งกฎหมายนิรโทษกรรมที่เคยใช้มาก่อนหน้านี้ 22 ฉบับ มาให้ กมธ. ขณะที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้ส่งเอกสารเกี่ยวกับการดำเนินคดีที่มีความขัดแย้งทางการเมือง ทั้งในอดีตและอยู่ระหว่างการดำเนินคดี รวมทั้ง คอป.ได้ส่งข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินคดีที่มีความขัดแย้งทางการเมืองรวมทั้งคู่กรณีมาให้ กมธ.ได้ศึกษา นอกจากนี้ยังได้เชิญ นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนายธวัชชัย ยงกิตติกุล เลขาธิการสมาคมธนาคารไทยด้วย
พล.อ.สนธิกล่าวว่า ในโอกาสปีใหม่ที่จะมาถึง ประชาชน ภาคธุรกิจ และนักวิชาการ ต่างเห็นว่าปัญหาความขัดแย้งในประเทศค่อนข้างใหญ่พอสมควร และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ จึงอยากฝากไปยังประชาชนว่า สิ่งที่จะทำให้ประเทศเกิดความปรองดองกัน คือ การให้อภัยกัน เพราะการเป็นผู้ให้จะทำให้ประเทศขับเคลื่อนจากปัญหาไปได้
ด้าน นายนคร มาฉิม โฆษก กมธ.กล่าวว่า สถาบันพระปกเกล้าได้เสนอโครงร่างข้อเสนอโครงการสร้างความปรองดองแห่งชาติครั้งแรกต่อที่ประชุม ซึ่งทาง กมธ.ได้พิจารณาแล้วได้ให้ความเห็นเพิ่มเติม ซึ่งทางสถาบันก็จะไปยกร่างแก้ไขเพิ่มเติม เพราะ กมธ.ต้องการให้เกิดความชัดเจนเพื่อนำไปสู่แนวทางการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม ไม่ใช่นามธรรมเท่านั้น เพราะบริบทในสังคมที่มีความขัดแย้งหลายอย่างจะต้องมีโครงสร้างกฎหมายและการบังคับใช้ โดยอยากให้สถาบันได้เสนอทางออกให้ด้วยเพื่อนำมาสู่การพิจารณาต่อไป
ขณะที่ นายชวลิต วิชยสุทธิ์ เลขาธิการ กมธ.กล่าวว่า ทางสมาคมธนาคารไทยและประธานสภาอุตสาหกรรมได้ให้ความเห็นตรงกันว่า สถานการณ์ความขัดแย้งของสังคมไทยถือเป็นอันตรายต่อการลงทุน ดังนั้น สมควรจะยุติความขัดแย้งได้แล้ว เพื่อให้เกิดการแข่งขันและความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศ โดยหัวใจสำคัญของการปรองดองจะต้องให้อภัยกัน เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ ทั้งนี้ ในโครงร่างบทเรียนประวัติศาสตร์ของการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่ผ่านมา และอีก 10 ประเทศ ในเอเชีย ยุโรป อเมริกา แอฟริกาใต้ สามารถนำมาปรับใช้เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทยได้