xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.วิฯ ปรองดองเผยกฤษฎีกา ชี้ 4 คดีมีลุ้นนิรโทษได้ ยัน ส.พระปกเกล้าฯ วิจัยให้ต่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาสร้างความปรองดองแห่งชาติ เป็นประธานในการประชุม โดยได้เชิญกฤษฎีกามาให้ความเห็นถึงสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นในอดีต เพื่อดูข้อกฎหมายว่าจะใช้เป็นทางออกความขัดแย้งนี้อย่างไร ที่ห้องประชุมคณะกมธ.3701 อาคารรัฐสภา 3  (20 ธ.ค.54) 
กมธ.วิฯ ปรองดอง เชิญกฤษฎีกาถกมุมมองกฎหมาย “สนธิ” ยัน กมธ.ไม่ทำเพื่อคนใดคนหนึ่ง ทำงานเหมือนไม่มีพรรค เล็งเชิญหัวหน้าพรรค บุคคลสำคัญ และคู่ขัดแย้งคุย ด้าน โฆษกปัดข่าว ส.พระปกเกล้าฯ เมินทำวิจัยให้ ยัน เลขาฯ ระบุ พร้อมทำแต่ไม่เกี่ยวเรื่องกฎหมาย ชี้ 4 คดีที่เข้าข่ายนิรโทษได้ ขณะเลขาฯ กมธ.เผยจ่อเชิญเอกชน, ส.พระปกเกล้าฯคุยต่อ

วันนี้ (20 ธ.ค.) ที่รัฐสภา การประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ (กมธ.ปรองดอง) สภาผู้แทนราษฎร โดยมี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ ในฐานะประธาน กมธ.เป็นประธานในที่ประชุม ซึ่งที่ประชุมได้เชิญผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเข้าร่วม เพื่อเสนอแนะข้อคิดเห็นในมุมมองทางกฎหมาย ภายหลังการประชุม พล.อ.สนธิ เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้เชิญตัวแทนคณะกรรมการกฤษฎีกา ชี้แจงถึงคำจำกัดความทางการเมือง รวมทั้งการนิรโทษกรรมหรืออภัยโทษในประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทยที่ผ่านมาว่ามีเรื่องใดบ้าง โดยจะมีการรวบรวมและนำเสนอให้กับ กมธ.อีกครั้ง

ทั้งนี้ พล.อ.สนธิ กล่าวย้ำด้วยว่า การดำเนินการของกรรมาธิการไม่ได้ทำเพื่อคนใดคนหนึ่ง หรือคณะบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่ทำเป็นกระบวนการเพื่อนำไปสู่ความปรองดองของประเทศชาติ และแม้ว่า กมธ.ทั้ง 38 คนจะมาจากต่างพรรคการเมือง แต่ในการทำงานถือว่าไม่มีพรรคการเมือง แต่จะทำเพื่อให้เกิดความปรองดอง เพราะประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีความสุข ถ้าเห็นคนไทยยังมีความขัดแย้ง ซึ่งความขัดแย้งก็เกิดขึ้นในคนส่วนน้อย

“ในการประชุมครั้งต่อๆไปจะเชิญบุคคลที่มีความสำคัญที่จะนำสังคมไปสู่ความปรองดอง ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรค บุคคลที่เป็นปูชนียบุคคลของประเทศ สื่อมวลชน ที่สำคัญคือคู่ขัดแย้ง เพราะเชื่อว่าทั้งสองฝ่ายเห็นด้วยกับแนวทางปรองดอง แต่อาจมีความเห็นแตกต่างกัน จะต้องมาพูดคุยกัน” พล.อ.สนธิ ระบุ

ขณะที่ นายนคร มาฉิม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ กล่าวเพิ่มเติมโดยปฏิเสธข่าวสถาบันพระปกเกล้าฯปฏิเสธที่จะไม่รับทำวิจัยแนวทางปรองดอง ในส่วนของการเสนอกฎหมายปรองดอง หรือนิรโทษกรรม ว่า จากการยืนยันของ นายวุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าฯ ยืนยันว่า สื่อนำเสนอข่าวคลาดเคลื่อน โดยยืนยันว่า สถาบันพร้อมที่จะสนองงานที่ได้รับมอบหมายจาก กมธ.โดยคำนึงถึงความมีเหตุมีผล และเพื่อผลประโยชน์ของส่วนร่วม เพียงแต่เห็นว่าการเสนอร่างกฎหมายปรองดองใดๆ นั้น เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการกฤษฎีกา

นายนคร กล่าวอีกว่า สำหรับการนิรโทษกรรมที่ผ่านมาในอดีต ทางกฤษฎีกาได้ให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมา มีมูลเหตุของคดีที่เข้าข่ายได้รับการนิรโทษกรรม 4 ประเภทด้วยกัน คือ 1.คดีเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร 2.คดีเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐนอกราชอาณาจักร 3.ความผิดพระราชบัญญติ (พ.ร.บ.) คอมมิวนิสต์ และ 4.การชุมนุมทางการเมืองของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของความผิดปัจจุบันที่คณะกรรมการกฤษฎีกา มีความเห็นว่า อาจจะเข้าข่ายได้รับการนิรโทษกรรม เพราะเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมืองนั้น มี 4 ประเภทเช่นกัน คือ 1.คดีก่อการร้าย 2.ความผิดตามพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) พ.ศ.2548 3.ความผิดจากการชุมนุมทางการเมือง หรือการเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐาน รวมไปถึงการแสดงความเห็น และ 4.การตัดสิทธิ์ที่เกิดจากการเลือกตั้ง แต่ทั้งนี้จะได้รับการนิรโทษกรรมหรือไม่ ต้องได้รับความเห็นชอบทางสังคมด้วย

ด้าน นายชวลิต วิชยสุทธิ์ เลขานุการ กมธ.ปรองดอง กล่าวเสริมว่า ในส่วนของการเชิญผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุมกับ กมธ.นั้น เบื้องต้นในการประชุมนัดต่อไปจะเชิญ ผู้แทนจากสถาบันพระปกเกล้าฯ เพื่อมาให้ข้อมูลผลการศึกษาตามที่ กมธ.ได้มอบหมายไป และภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบความเสียหายจากความขัดแย้งทางการเมืองที่มีอยู่ เพื่อนำเสนอปัจจัยในการนำไปสู่ความปรองดอง ทั้งนี้ ในระยะต่อไปจะมีการเชิญทุกภาคส่วนเข้าร่วม ตั้งแต่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา หัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรค คู่ขัดแย้งทางการเมือง เพื่อให้ทุกฝ่ายร่วมกันแสดงความคิดเห็นถึงปัจจับในการสร้างความปรองดองอย่างตรงไปตรงมา หากมีจุดใดที่ยังไม่ตรงกัน ก็ต้องมีการจูนปรับให้เข้ากันได้



กำลังโหลดความคิดเห็น