กมธ.ปรองดองแห่งชาติ เล็งดึง “อานันท์-หมอประเวศ” ร่วมวงถก พร้อมเชิญ คอป.มาติวอีก ยันให้อิสระสถาบันพระปกเกล้าเต็มที่ คาด เม.ย.ปีหน้าเป็นรูปเป็นร่าง หวังได้แนวทางทุกฝ่ายยอมรับ
วันนี้ (11 ธ.ค.) นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคภูมิใจไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่ทางสถาบันพระปกเกล้ารับข้อเสนอของ กมธ.เพื่อศึกษาวิจัยต้นตอของความขัดแย้งในสังคมที่แท้จริง และแนวทางแก้ไขว่า ทาง กมธ.ได้ให้เวลาสถาบันพระปกเกล้าศึกษาวิจัยในระยะเวลา 120 วัน เบื้องต้นนั้นคงมีรายงานสรุปออกมาช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. 2555 อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาวิจัย ทาง กมธ.ไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยว สำหรับรายละเอียด หรือผลการศึกษาจะออกมาเป็นไปในรูปแบบของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือแก้ไขกฎหมายนั้น ทาง กมธ.ต้องนำมาพิจารณาร่วมกันอีกครั้ง เพื่อนำไปสู่จุดที่ทุกฝ่ายสามารถยอมรับได้
ด้าน นายนคร มาฉิม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะโฆษก กมธ.ปรองดอง เปิดเผยถึงการประชุมในสัปดาห์หน้าว่า ได้เชิญ 3 หน่วยงานมาชี้แจงและให้ข้อมูล ได้แก่ สถาบันพระปกเกล้า เพื่อรับทราบแนวทางและให้ข้อเสนอแนะต่อ กมธ. คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) เพื่อมาให้ข้อเท็จจริงนอกเหนือจากรายงานที่เป็นเอกสารซึ่งมอบให้กับรัฐบาล โดย กมธ.ได้ตั้งข้อสังเกตในประเด็นต่างๆ อาทิ นิยามของนักโทษการเมือง และลักษณะของบุคคลที่ทำผิดกฎหมายใดที่เข้าข่ายเป็นนักโทษการเมือง เป็นต้น และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) หลังจากที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เชิญมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับคดีทางการเมืองที่คงค้างอยู่ในการพิจารณาแล้ว แต่ยังไม่มีรายงานที่มีลักษณะเป็นการทำงานที่คืบหน้า ดังนั้น ทาง กมธ.จึงได้ฝากประเด็นให้ สตช. นำรายงานผลการทำงานมาเสนอต่อที่ประชุมอีกครั้ง ได้แก่ รายละเอียดของการทำคดีที่คงค้าง และคดีที่ได้ดำเนินที่ผ่านมา ปัญหา อุปสรรค รวมถึงความล่าช้าของการดำเนินการ
“สำหรับคดี สตช.นั้น เรามีเป้าหมายในส่วนของคดีการเมือง ที่ต้องนำผลการดำเนินคดีมาพิจารณาอีกครั้งว่า โทษหรือความผิดที่เกิดขึ้นนั้นจะสามารถที่จะหาทางออกเพื่อนำไปสู่ความปรองดองได้หรือไม่ โดยทุกฝ่ายให้การยอมรับ โดยยึดหลักนิติธรรมและนิติรัฐเป็นหลัก โดยชั้นนี้ที่ประชุมยังไม่ได้คุยกันถึงการพัฒนาคดีไปสู่การนิรโทษกรรมนักโทษการเมือง” นายนครระบุ
นายนครยังกล่าวถึงการให้สถาบันพระปกเกล้าไปศึกษาวิจัยต้นเหตุของความขัดแย้งในสังคม ที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการซ้ำซ้อนกับผลการศึกษาของ คอป. โดยยืนยันว่าไม่ได้ทำงานซ้ำซ้อนกับหน่วยงานใด เนื่องจากการให้สถาบันพระปกเกล้าดำเนินการนั้นได้ตั้งเป้าหมายไว้ที่การแก้ไขกฎหมาย ที่ถูกมองว่ามีความสองมาตรฐาน และไม่เป็นธรรม รวมถึงให้สถาบันพระปกเกล้าได้พิจารณายกร่างแก้ไขกฎหมายที่ไม่มีความเป็นธรรมตามที่ศึกษาและค้นพบ
โฆษก กมธ.ปรองดองกล่าวอีกว่า ในที่ประชุมยังจะหารือถึงการเชิญนายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) และ นพ.ประเวศ วะสี ประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) มาให้ข้อมูลต่อกรรมาธิการฯ ถึงมุมมองการปรองดองที่ทำได้อย่างเป็นรูปธรรม