xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ปรองดองแจกการบ้าน สถาบันพระปกเกล้ายึดหลักนิติรัฐ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ที่ประชุม กมธ.ปรองดองฯ แจกการบ้าน 4 กรอบใหญ่ให้สถาบันพระปกเกล้า ให้เวลา 120 วันส่งข้อสรุป เน้นค้นหาความจริง-ศึกษารากเหง้าปัญหา ตั้งเป้าต้องไม่เกิดความขัดแย้งในอนาคต โดยยึดหลักนิติรัฐไม่ลืมจี้รัฐเดินหน้าเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ รับต้องแยกปัญหาไฟใต้ เนื่องจากสภาพปัญหาแตกต่าง

วันนี้ (29 พ.ย.) ได้มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร โดยมี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคมาตุภูมิ ในฐานะประธาน กมธ.ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ซึ่งได้มีการเชิญ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า เข้าร่วมประชุม ขณะที่นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อค้นหาความจริงและสร้างความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่เชิญไปเช่นกัน ไม่ได้เข้าร่วมประชุม เนื่องจากติดภารกิจ โดยจะมีการเชิญร่วมประชุมอีกครั้งในสัปดาห์หน้า

ภายหลังการประชุม นายไชยา พรหมมา ส.ส.หนองบัวลำภู พรรคเพื่อไทย ในฐานะโฆษก กมธ. เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้เชิญผู้แทนสถาบันพระปกเกล้า มารับฟังแนวทางที่ กมธ.จะมอบภารกิจในการวางกรอบการศึกษาแนวทางสร้างความปรองดอง โดยมีแนวทางที่สำคัญ 4 ประเด็น คือ 1.ตรวจสอบและค้นหาความจริง 2.ศึกษารากเหง้าของปัญหาความขัดแย้ง 3.มาตรการเยียวยาบุคคล สังคม องค์กร ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และ 4.ป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งให้เกิดขึ้นในอนาคต ทั้งแนวทางการศึกษาจะต้องไม่ซ้ำซ้อนกับการทำงานและบทสรุปของ คอป. ที่สำคัญต้องยึดหลักความเป็นธรรม และหลักนิติรัฐนิติธรรม

นายไชยากล่าวอีกว่า ในส่วนของกรอบเวลาการทำงานนั้น ทางสถาบันพระปกเกล้าได้ขอเวลาในการศึกษา 120 วัน เนื่องจากข้อมูลมีจำนวนมาก และต้องนำกรณีศึกษาของต่างประเทศ 10 ประเทศ ที่มีสภาพสังคม และปัญหาใกล้เคียงกับประเทศไทยมาสรุปอีกครั้ง ทั้งนี้ กรอบเวลาดังกล่าวอาจไม่สอดคล้องกับกรอบเวลาที่ กมธ.ได้รับจากสภาผู้แทนราษฎร ที่แต่เดิมได้รับอนุญาต 30 วัน และทำการเสนอขอขยายเพิ่มเติมไปยังประธานสภาฯอีก 90 วัน รวมเป็น 120 วันแล้วก็ตาม โดยจะมีการหารือถึงแนวทางเพื่อให้ครอบคลุมการทำงานของทั้ง 2 ส่วนงานนี้อีกครั้ง โดยระหว่างที่ทำงานในด้านศึกษาข้อมูล ทาง กมธ.ก็จะทำงานในด้านการติดตามทำงานของรัฐบาล ในส่วนของมาตรการเยียวยาดูแลผู้ได้รับผลกระทบต่างๆด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า เบื้องต้นมีแนวโน้มที่จะเสนอออกหรือแก้ไขกฎหมายฉบับใดหรือไม่ นายไชยากล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้มองไปถึงขั้นนั้น คงต้องอยู่ที่ผลการศึกษาของสถาบันพระปกเกล้า และข้อสรุปของ คอป. แต่ยอมรับว่าผลการศึกษาที่ผ่านมาของ คอป.ซึ่ง กมธ.นำมาเป็นกรอบการทำงานนั้นมีการเสนอให้ปรับปรุงและปฎิรูปกฎหมาย อย่างไรก็ตามจะระมัดระวังเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งในอนาคต

ด้าน นายนคร มาฉิม ส.ส.พิษณุโลก ในฐานะโฆษก กมธ.กล่าวเสริมว่า ที่ประชุมได้เน้นกรอบการทำงานให้แก่สถาบันพระปกเกล้า โดยให้ยึดหลักความเป็นธรรมและนิติรัฐ โดยยอมรับว่าผลการศึกษาและข้อเสนอบางอย่างอาจจะไม่ประสบความสำเร็จ แต่ กมธ.พร้อมที่จะสนับสนุนผลักดันให้ทุกอย่างเดินไปได้ ขณะที่สถาบันพระปกเกล้าก็ได้เสนอการทำงานด้านวิชาการภายใต้กรอบหลักยุติธรรมระหว่างการเปลี่ยนผ่าน ในการแสวงหาความจริงเพื่อให้เกิดความทรงจำ และไม่เกิดความขัดแย้งขึ้นอีกในอนาคต สำหรับเรื่องความรุนแรงในจังหวัดภาคใต้ที่ กมธ.จะหยิบยกมาทำงานควบคู่กันไปนั้น จะแยกการศึกษาออกมาเป็นอีกประเด็นหนึ่ง เนื่องจากมีรายละเอียดค่อนข้างมาก เพราะต้องมีการศึกษาบริบทและสภาพสังคม รวมไปถึงแนวความคิดทางการเมืองที่มีความแตกต่างกับความขัดแย้งของพื้นที่อื่นด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น