xs
xsm
sm
md
lg

“พล.อ.สนธิ” ปธ.กมธ.ปรองดอง แปลกงดวิจารณ์ พ.ร.ฎ.อภัยโทษ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.สนธิ บุญรัตนกลิน (แฟ้มภาพ)
“พล.อ.สนธิ” นั่งประธาน กมธ.ปรองดอง” เน้นต่อยอดงาน คอป.ระบุ เตรียมสรรหาสถาบันเป็นกลางร่วมศึกษา ก่อนเคาะแนวทางร่วมกันเสนอสภา ยกปัญหาไฟใต้เป็นกรณีพิเศษ โฆษก กมธ.ฝ่ายเพื่อแม้ว งดวิจารณ์ออก พ.ร.ฎ.อภัยโทษ อ้างเป็นเรื่องของรัฐบาล

ที่รัฐสภา วันนี้ (18 พ.ย.) ได้มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรก โดยที่ประชุมมีมติให้ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคมาตุภูมิ เป็นประธาน กมธ.ส่วนรองประธานมีทั้งหมด 5 คน คือ นายวัฒนา เมืองสุข พล.ต.อ.วิรุฬห์ ฟื้นแสน ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย นายเจะอามิง โตะตาหยง ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาธิปัตย์ และ นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ส่วน นายชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีตผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นเลขานุการ น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ และ น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นรองเลขานุการ ขณะที่ นายไชยา พรหมมา ส.ส.หนองบังลำภู พรรคเพื่อไทย และ นายนคร มาฉิม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ เป็นโฆษก กมธ.

พล.อ.สนธิ ได้แถลงภายหลังการหารือกว่า 2 ชั่วโมง ว่า ที่ประชุมได้ข้อสรุปว่า กมธ.จะนำผลสรุปของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) มาเป็นพื้นฐานของกรอบแนวความคิด และจะใช้สถาบันที่เป็นกลางเพื่อศึกษาวิจัย ค้นหาวิธีทางในการปรองดอง อาทิ สถาบันพระปกเกล้า เป็นต้น ซึ่งสองแนวทางนี้จะใช้เป็นกรอบในการดำเนินของ กมธ.ต่อไป

ด้าน นายชวลิต วิชยสุทธิ์ เลขานุการ กมธ.กล่าวว่า การทำงานของ กมธ.จะพิจารณาเหตุของความขัดแย้ง โดยเฉพาะเรื่องของกฎหมาย รวมทั้งจะสรรหาสถาบันที่ได้รับการยอมรับจากในและต่างประเทศ เพื่อร่วมเสนอความเห็นและทางออกต่อ กมธ.และที่ประชุมจะนำมาพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง หากเห็นพ้องกันก็จะเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร รวมไปถึงการสนับสนุนของการทำงานของ คอป.ในการตรวจสอบข้อเท็จจริง ขณะเดียวกัน ก็ต้องตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ว่า สิ่งที่ คอป.เสนอมายังมีประเด็นใดที่ยังไม่ได้ดำเนินการ โดยเฉพาะมาตรการเยียวยาที่ทั่วถึงทุกภาคส่วนแล้วหรือไม่

“กมธ.ยังเห็นว่าปัญหาภาคใต้เป็นปัญหาที่สำคัญ จึงมีการแยกส่วน เพราะการแก้ปัญหาภาคใต้ไม่ได้ใช้เวลาสั้นๆ มีความสลับซับซ้อน และต่างจากความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่ง กมธ.จะมีการส่งเรื่องไปยังรัฐบาล ทั้งในเรื่องของกฎหมายและการเยียวยา” นายชวลิต กล่าว

ขณะที่ นายนคร มาฉิม โฆษก กมธ.กล่าวว่า จะพยายามสรรหาและแสวงหาทุกแนวทางบนความถูกต้องและหลักนิติธรรม นิติรัฐ เพื่อให้มีความถูกต้องเกิดขึ้นในสังคม นำพาบ้านเมืองให้ข้ามพ้นความขัดแย้ง รวมถึงสาเหตุของความขัดแย้ง เพื่อนำเข้ามาสู่กระบวนการพิจารณา โดยคำนึงผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศเป็นที่ตั้ง

สำหรับกรณีการตราพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ขอพระราชทานอภัยโทษ ที่หวั่นเกรงว่าจะเป็นอุปสรรคในการสร้างความปรองดอง หรือสร้างความขัดแย้งรอบใหม่นั้น นายไชยา พรหมมา โฆษก กมธ.กล่าวว่า เรามีกรอบการทำงานชัดเจนเพื่อหาแนวทางและสรุป เพื่อนำความสันติสุขมาสู่ประเทศ ในเรื่องนี้เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลที่จะดำเนินการ และตอบคำถามนี้ เราได้แยกส่วนจากที่รัฐบาลได้ดำเนินการชัดเจนแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น