xs
xsm
sm
md
lg

ส.พระปกเกล้า เล็งขอ กมธ.วิฯ ปรองดอง ขยายเวลาศึกษาเพิ่ม 120 วัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กรรมการสภาสถาบันพระปกเกล้า (แฟ้มภาพ)
“อภิสิทธิ์” เผย ที่ประชุมสภาสถาบันพระปกเกล้า คาด ศึกษาแนวทางปรองดองส่ง กมธ.วิฯ ปรองดองไม่ทัน 90 วัน ยันไม่มีร่างกฏหมายเพิ่ม เน้นดูภาพรวม ยันไม่ตกเป็นเครื่องมือการเมือง ด้าน หน.ทีมวิจัย เล็งขอขยายกรอบเพิ่ม 120 วัน ไม่ตอบออก พ.ร.บ.นิรโทษเป็นไปตามนิติรัฐหรือไม่ ย้ำเป็นกลาง

วันนี้ (30 พ.ย.) ที่รัฐสภา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกรรมการสภาสถาบันพระปกเกล้า กล่าวภายหลังการประชุมสภาสถาบันพระปกเกล้า ว่า มีการพิจารณากรณีที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางสร้างความปรองดองแห่งชาติ ขอให้ทางสถาบันศึกษาเกี่ยวกับแนวทางปรองดองภายใน 30 วัน ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าปัจจัยที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการปรองดองเป็นเรื่องที่สถาบันสามารถศึกษาได้ แต่มีข้อสังเกตว่าระยะเวลาคงไม่ใช่ 30 วันตามความต้องการของกรรมาธิการ แต่ทางสถาบันพระปกเกล้าจะทำให้เร็วที่สุด และยังกังวลเรื่องที่มีความสลับซับซ้อนอาจจะทำไม่เสร็จภายใน 90 วัน นอกจากนี้ มีการอภิปรายถึงผลกระทบทางการเมืองและความเหมาะสมของขอบเขตงานวิจัย จึงสรุปว่า จะไม่มีการร่างกฎหมายตามที่มีการเสนอมา แต่เป็นการศึกษาหลักการมากกว่า โดย นายวุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า และนักวิชาการอีกสองคนจะเป็นผู้ดำเนินการ

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า รายละเอียดของการศึกษาคงจะดูภาพรวมทั้งหมด จากประสบการณ์ของต่างประเทศ เกี่ยวกับกระบวนการปรองดองว่าจะต้องทำอย่างไร ซึ่งในชั้นนี้ไม่มีการปฏิเสธแนวทางไหนทั้งสิ้น รวมทั้งเรื่องนิรโทษกรรม แต่จะไม่มีการยกร่างกฎหมาย

ผู้สื่อข่าวถามว่า สุดท้ายแล้วอาจจะมีการใช้ผลวิจัยไปเป็นข้ออ้างในการร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งจะกลายเป็นเครื่องมือหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังสรุปล่วงหน้าไม่ได้ ซึ่งกรรมการเน้นในเรื่องของยุติธรรมเปลี่ยนผ่าน จะต้องประสานกับ คอป.ซึ่งสถาบันพระปกเกล้าคงไม่ยอมเป็นเครื่องมือทางการเมืองให้ใคร โดยหน้าที่ของผู้วิจัยจะต้องดำเนินการเพื่อลดความขัดแย้งไม่ใช่เสนอในสิ่งที่เพิ่มเติมความขัดแย้ง และโครงร่างที่จะศึกษาวิจัยอาจไม่ตรงกับความต้องการของกรรมาธิการที่เสนอมา เนื่องจากสถาบันมีอิสระทางวิชาการ ส่วนกรรมาธิการจะเห็นด้วยหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ด้าน นายวุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า หัวหน้าทีมศึกษาวิจัยเรื่องปรองดอง กล่าวว่า จะขอขยายเวลาในการศึกษาเรื่องนี้จาก 90 วัน เป็น 120 วัน โดยกรอบในการพิจารณาจะศึกษาทั้งกระบวนการปรองดองในต่างประเทศ ภายในประเทศ และสถานการณ์การเมือง นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จนถึงสถานการณ์ปัจจุบันที่มีความขัดแย้งทางความคิดในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งจะไม่มีการเสนอเป็นร่างกฎหมาย แต่สภาผู้แทนราษฎรก็สามารถเสนอกฎหมายได้เองอยู่แล้ว ซึ่งสถาบันพระปกเกล้าต้องคำนึงถึงความเป็นอิสระทางวิชาการ และกล้าหาญที่จะพูดทุกเรื่อง ไม่อยู่ในอาณัติของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ทั้งนี้ การศึกษาจะไม่ไปแทรกแซง หรือทับซ้อนกับการทำงานของคอป.ที่มีหน้าที่โดยตรงและทำงานอย่างต่อเนื่อง

“เราคงไม่ตั้งคำอธิบายว่าความขัดแย้งเกิดจากใคร แต่จะชี้ให้เห็นว่ามีข้อเสนอที่แตกต่างอย่างไร เพื่อให้เกิดข้อเปรียบเทียบ และเราจะไม่ทำในเรื่องการร่างกฎหมาย เพราะเป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า การออกกฎหมายอาจจะเป็นเรื่องท้ายๆ ของกระบวนการปรองดอง แต่ไม่ใช่เรื่องเดียว ถ้าทำต้องดูทั้งระบบ” นายวุฒิสาร กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเป็นหนึ่งแนวทางที่จะเสนอใช่หรือไม่ นายวุฒิสาร กล่าวว่า คงสรุปเช่นนั้นไม่ได้ เพราะเราจะทำในเชิงกระบวนการหาคำตอบให้เท่านั้น เงื่อนไขสำคัญต้องดูหลักนิติรัฐว่าอะไรทำได้ ทำไม่ได้ ซึ่งตนไม่อยู่ในฐานะที่จะตอบว่าการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เป็นไปตามหลักนิติรัฐหรือไม่ เพราะต้องรอผลการศึกษาวิจัยก่อน และประสบการณ์ในหลายประเทศก็มีทุกอย่างไม่ได้แปลว่ามีนิรโทษกรรมอย่างเดียว และคำว่านิรโทษกรรมไม่ได้แปลว่าเกี้ยเซียะ หรือยอมกันไปหมด จึงขอวอนอย่าเร่งรัดเรื่องคำตอบ เพราะจะทำให้การศึกษาวิจัยขาดความเป็นอิสระซึ่งทีมงานวิจัยจะเดินหน้าโดยยึดกรณีศึกษาเป็นหลัก ส่วนสังคมจะให้ความเชื่อถือผลการศึกษาอย่างไรคงตอบไม่ได้ แต่ยืนยันสถาบันมีความเป็นกลางทางการเมือง อยู่ภายใต้การกำกับของสภา มีตัวแทนจากหลายฝ่าย จึงมีความเป็นกลางสูงและตนในฐานะผู้วิจัยยืนยันว่ามีความเป็นอิสระพอสมควร
กำลังโหลดความคิดเห็น