xs
xsm
sm
md
lg

ไปอยู่เมืองนอก "ประยุทธ์"ยั๊วะ!ไล่ส่ง เบรกพวกจ้องแก้ ม.112

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน-"ประยุทธ์"ไล่พวกอ้างสิทธิมนุษยชนที่จะแก้มาตรา 112 ให้ไปอยู่ต่างประเทศ "เหลิม"โหนตามทหาร ซัดพวกนี้ไม่มีงานทำ ปัดล้างคุกวีไอพีไว้รอใครบางคน "มาร์ค"ยื่นเงื่อนไขให้รัฐบาลสลายสีแดง พร้อมจะหนุนนโยบาย 66/23 เต็มที่ "บิ๊กบัง" เตรียมเชิญ"ประธานสภาฯ-ประธานวุฒิฯ-หัวหน้าพรรค-ปูชนียบุคคล-คู่ขัดแย้ง" ร่วมวงถกปรองดอง เผย 4 ฐานความผิด เข้าข่ายนิรโทษฯ "ก่อการร้าย-พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ-ชุมนุม-ตัดสิทธิ์เลือกตั้ง" แต่ยังไม่ฟันธง

เมื่อเวลา 08.00 น. วานนี้ (20 ธ.ค.) ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีการเคลื่อนไหวเพื่อให้มีการแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันเบื้องสูงว่า เป็นสิ่งที่ไม่ควรพูดถึง เป็นความเห็นส่วนตัวของแต่ละพวก แต่ละฝ่าย แต่ในส่วนของตน ซึ่งเป็นฝ่ายความมั่นคงและมีหน้าที่ในการพิทักษ์และปกป้อง ซึ่งตนก็เฝ้าและติดตามอยู่ เราเป็นประเทศประชาธิปไตยก็จริง แต่อย่าให้เลยเถิดจนมากเกินไป

เมื่อถามว่า บางฝ่ายพยายามที่จะอ้างกลุ่มสิทธิมนุษยชนของต่างประเทศที่ออกมาระบุให้ไทยปรับปรุง มาตรา 112 พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ก็ไปอยู่ต่างประเทศก็แล้วกัน

** "เหลิม"ซัดพวกคิดแก้ม112 ไม่มีงานทำ

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ไม่ขอแสดงความเห็นเรื่องนี้ และใครที่หมั่นแสดงความเห็นเรื่องนี้ ตนค่อนข้างไม่เห็นด้วย เมืองไทยเจริญรุ่งเรืองได้ เพราะมีพระมหากษัตริย์ ถ้าไม่มีสถาบันหลัก บ้านเมืองจะเป็นอย่างไร ทรงพระเมตตากรุณาทุกเรื่อง จากบ้านเรายากจน จนมาสู่ประเทศพอมีฐานะ จากประเทศที่ด้อยพัฒนา มาเป็นประเทศพัฒนา ประชาชนในชาติมีความรู้ไม่แพ้ชาติอื่นๆ ในอาเซียนก็ไม่เป็นรองใคร แล้วมาคิดทำไม เรื่องมาตรา112 ตนไม่เห็นด้วย และชัดเจนมาตลอด จะไปเปลี่ยนแปลงทำไม สิ่งที่มีก็ดีอยู่แล้ว พวกไม่มีงานทำกันหรือ

** ปัดล้างคุกวีไอพีไว้รอใคร

ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวถึงแผนการเตรียมย้ายโทษการเมืองเข้าไปอยู่คุกวีไอพี ว่า พวกนักการเมืองที่วิจารณ์ เขาไม่รู้ที่มาที่ไป ตนเคยไปติดมาแล้ว เมื่อเหตุรัฐประหารเดือนเม.ย.2524 สมัยรัฐบาลพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ แล้วตนแพ้ ตนก็ไปติดคุกที่สถานีตำรวจสันติบาล บางเขน แต่พอเลยกำหนด 7วันแล้ว ก็จะมีการเอาผู้คุมมาคุม เป็นอย่างนี้มานานแล้ว สมัยก่อนเขาก็ขังพวกที่ต้องสงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ตนอยู่ในนั้น 1 เดือน 3 วัน ไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องแปลก เมื่อปี 24 ก่อนหน้านั้นก็มี และบางครั้งก็รอขังพวกรอถูกเนรเทศ ทีนี้คนก็หยิบมาเป็นปมการเมือง ไม่รู้ที่มาที่ไป แค่เขาแยกออกมาจากเรือนจำ มันก็เหมือนคุกนั่นแหละ

"7วันแรก ผมถูกขังเดี่ยว ห้องมืดทึบ พอฝากขังศาลเสร็จ ก็ออกมาคุกธรรมดา ผมว่าใครที่วิจารณ์เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ไม่ได้ทำไว้รอใคร เป็นแต่เพียงเมื่อก่อนไม่ใช่เป็นพื้นที่ใช้สอย"ร.ต.อ.เฉลิมกล่าว

ร.ต.อ.เฉลิมย้ำว่า จะย้ายได้เมื่อไรนั้น เป็นหน้าที่ของ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม และอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ซึ่งตนก็ไม่ได้ไปยุ่งในรายละเอียด และฝากบอกพวกที่วิจารณ์ว่าคุกที่บางเขน ทำไว้รอคนนั้น คนนี้ ไม่มีใครเขามาหรอก อย่าไปวิจารณ์เลย ไม่มีใครเขามาหรอก พูดเท่านั้นพอ

"แหมผมรู้จักพวกนี้จริง ก็ผมไปติดมาแล้ว ไม่มาถาม ไปถามฝ่ายค้านมันจะไปรู้เรื่องอะไร พวกนั้นมันไม่เคยติดคุก" ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว

** คุกวีไอพีของขวัญปีใหม่นักโทษการเมือง

พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลเปิดเรือนจำชั่วคราวบางเขนไว้ เพื่อรองรับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ว่า ไม่ได้เปิดไว้รอใคร แต่เป็นการทำเพื่อส่วนรวมเท่านั้น แต่เดิมก็เคยทำมาแล้วในอดีต ยืนยันว่าไม่ได้มีการทำเพื่อวัตถุประสงค์แอบแฝง เพื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เพียงแต่ขณะนี้เกิดปัญหานักโทษล้นคุก ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่มาก ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีการพระราชทานอภัยโทษไป 2.6 หมื่นคนก็ตาม

ดังนั้น มองเห็นว่า นักโทษการเมือง ไม่ใช่กลุ่มที่ก่อเหตุความรุนแรงทางด้านอาชญากรรม ก็ควรจะได้รับการแยกออกมา ซึ่งอีก 1 สัปดาห์ จะมีการเคลื่อนย้ายผู้ต้องหาทางการเมืองไปคุมขังไว้ที่เรือนจำชั่วคราวบางเขน ส่วนจำนวนผู้ต้องหาที่จะขนย้ายไปนั้น พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาแล้ว

เมื่อถามว่า นายอริสมนต์ พงษ์เรืองรอง แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จะได้ย้ายไปอยู่ที่ใหม่นี้หรือไม่ รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า ยังไม่ทราบ ต้องให้คณะกรรมการพิจารณา แต่หลักเกณฑ์ต้องเป็นนักโทษทางการเมืองเท่านั้น

เมื่อถามว่า หากบุคคลใดมีคดีอาญาพ่วงอยู่ด้วย ถือว่าหมดสิทธิ์ ใช่หรือไม่ รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า แล้วแต่คณะกรรมการจะพิจารณา แต่คำว่านักโทษการเมือง มันมีคำจำกัดความของมันอยู่ ซึ่งตนก็ให้คณะกรรมการดูด้วยความเป็นธรรม ดูด้วยรายละเอียด ซึ่งเรื่องนี้กรมราชทัณฑ์ เป็นผู้รับผิดชอบ

** "มาร์ค"หนุน66/23 แต่ต้องสลายแดง

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่นายวัฒนา เมืองสุข ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ศึกษาความปรองดองแห่งชาติ เสนอจะใช้นโยบาย 66/23 มาเป็นต้นแบบในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทย ว่า นโยบาย 66/23 มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ คือ ผู้ที่จับอาวุธต่อสู้ จะได้รับการเปิดโอกาสเข้ามากลับตัวเพื่อร่วมพัฒนาชาติไทย ดังนั้น ถ้ามีการนำแนวคิดนี้มาใช้จริง ก็ต้องมีการบอกว่า เสื้อแดง ต้องสลายตัว หยุดเคลื่อนไหวแล้วมาร่วมพัฒนาประเทศไทย หากเป็นเช่นนี้ตนเห็นด้วย ไม่มีปัญหา

"ถ้าจะใช้นโยบายนี้จริง ก็ต้องทำ ต้องเชิญชวนคนเสื้อแดง อย่างเช่นในอดีตที่ใครเป็นคอมมิวนิสต์ ก็ไม่ต้องเป็นแล้วมาช่วยกันพัฒนาประเทศ ถ้าใช้หลักคิดนี้ก็ต้องบอกเสื้อแดงว่า วันนี้ถอดเสื้อแดงออก เลิกหมู่บ้านแดง หันหน้ามาร่วมกันพัฒนาประเทศ"นายอภิสิทธิ์กล่าว

เมื่อถามย้ำว่า เชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะสลายคนเสื้อแดงได้หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ก็เขาบอกว่าอยากจะใช้แนวนี้เป็นรูปแบบ เขาก็ควรลองทำ ซึ่งความจริงก็ล้วนแล้วแต่ผู้สนับสนุนรัฐทั้งสิ้น ไปพูดกับผู้สนับสนุนตัวเองก็จบ

เมื่อถามว่า หากไม่สามารถสลายสีแดงได้ ก็ไม่ควรที่จะใช้นโยบาย 66/23 นายอภสิทธิ์ กล่าวว่า แสดงว่าไม่มีการใช้ 66/23 เพราะถ้าใช้ 66/23 ก็เชิญชวนมา บอกไม่ต้องเป็นแล้วเสื้อแดง มาเป็นคนไทย มาร่วมกันพัฒนาประเทศ ก็เป็นเรื่องที่ดี ขอให้ทำอย่างนี้

ส่วนความเห็นที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา ผบ.ทบ. ออกมาให้ความเห็นเรื่อง มาตรา 112 นั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนยังมีความเห็นว่า ควรมีคณะกรรมการมาเป็นที่ปรึกษาในการบังคับใช้จะดีที่สุด จะได้ไม่เป็นประเด็นความขัดแย้ง

**อย่าเลือกปฏิบัติเฉพาะแก๊งแดง

นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงการย้ายนักโทษการเมืองไปอยู่คุกวีไอพีว่า นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการอิสระค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ออกมาระบุชัดเจนถึงคดีทางการเมืองว่า ไม่รวมถึงคดีที่มีการใช้อาวุธต่างๆ ในการชุมนุม ขณะที่ทางอธิบดีกรมราชทัณฑ์เอง ยังไม่มีความชัดเจนในกรณีเหล่านี้ว่า เริ่มจากแนวคิดที่จะมีการแยกขัง อ้างอิงไปถึงงานของคอป. ดังนั้น เมื่อ คอป.ทำความชัดเจนออกมา ก็ควรที่จะปฏิบัติตามนั้น ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นการเลือกปฏิบัติ สองมาตรฐาน

เมื่อถามว่า กรณีของนายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง แกนนำนปช. และผู้ต้องหาก่อการร้าย ก็ไม่ควรที่จะได้รับการยกเว้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เท่าที่ฟังดู จะจำกัดเฉพาะการชุมนุม ส่วนเรื่องการมีอาวุธ หรือกระทำความผิดอื่นๆ ก็ไม่เข้าข่าย ดังนั้น ใครเข้าข่าย บ้างจะมาเหมารวมไม่ได้ อะไรที่เกิดหลังเดือนก.ย.2549 หรืออะไรที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวที่มีการชุมนุม แล้วแปลว่า ต้องมาแยกขังทั้งหมด คอป.ไม่ได้หมายความอย่างนั้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า แนวคิดของกรมราชทัณฑ์ รัฐบาล และคนเสื้อแดง ดูเหมือนว่าจะเอาคนเสื้อแดงที่ถูกขังทั่วประเทศ มารวมกันอยู่ที่คุกการเมือง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า หากเป็นเช่นนั้น ก็ไม่ใช่การปรองดองแล้ว หรือตรงตามหลักการของ คอป. แต่กลายเป็นเรื่องของรัฐบาลที่กำลังเลือกปฏิบัติ ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นพวกพ้องของตัวเอง การจะมาเลือกเอาเฉพาะสิ่งที่เป็นประโยขน์ต่อตัวเอง คงทำไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจในการเลือกปฏิบัติ ส่วนจะเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ต้องไปดูรายละเอียด และขอย้ำว่า ถึงตรงนี้แล้วกรมราชทัณฑ์ที่รับแนวคิดนี้มาจาก คอป. จะเคารพความเห็นของ คอป. หรือไม่

**"บิ๊กบัง"เตรียมเชิญทุกฝ่ายถกปรองดอง

วันเดียวกันนี้ ที่รัฐสภาได้มีการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ (กมธ.ปรองดอง) สภาผู้แทนราษฎร โดยมี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ ในฐานะประธาน กมธ. เป็นประธานในที่ประชุม โดยเชิญผู้แทนจากกฤษฎีกาเข้าร่วม เพื่อเสนอแนะข้อคิดเห็นทางกฎหมาย เกี่ยวกับเรื่องคดีทางการเมือง และการนิรโทษกรรม

พล.อ.สนธิ กล่าวว่า การดำเนินการของกมธ.ปรองดอง ไม่ได้ทำเพื่อคนใดคนหนึ่ง หรือคณะบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่ทำเป็นกระบวนการ เพื่อนำไปสู่ความปรองดองของประเทศชาติ โดยการประชุมครั้งต่อๆ ไป จะเชิญบุคคลที่มีความสำคัญที่จะนำสังคมไปสู่ความปรองดอง ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรค บุคคลที่เป็นปูชนียบุคคลของประเทศ สื่อมวลชน ที่สำคัญ คือ คู่ขัดแย้ง เพราะเชื่อว่าทั้งสองฝ่ายเห็นด้วยกับแนวทางปรองดอง แต่อาจมีความเห็นแตกต่างกัน จะต้องมาพูดคุยกัน

**ปัดข่าวปกเกล้าไม่รับทำกม.ปรองดอง

นายนคร มาฉิม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการฯ กล่าวปฏิเสธข่าวที่ว่าสถาบันพระปกเกล้า จะไม่รับทำวิจัยแนวทางปรองดอง ในส่วนของการเสนอกฎหมายปรองดองหรือนิรโทษกรรม ว่า นายวุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ยืนยันว่า เรื่องนี้สื่อนำเสนอข่าวคลาดเคลื่อน ทางสถาบันพร้อมที่จะสนองงาน ที่ได้รับมอบหมายจาก กมธ. โดยคำนึงถึงความมีเหตุมีผล และเพื่อผลประโยชน์ของส่วนร่วม เพียงแต่เห็นว่าการเสนอร่างกฎหมายปรองดองใดๆ นั้น เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการกฤษฎีกา

ส่วนการนิรโทษกรรมที่ผ่านมาในอดีต ทางกฤษฎีกาได้ให้ข้อมูลว่า มีมูลเหตุของคดีที่เข้าข่ายได้รับการนิรโทษกรรม 4 ประเภท คือ 1.คดีเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร 2.คดีเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐนอกราชอาณาจักร 3.ความผิดพ.ร.บ.คอมมิวนิสต์ และ 4.การชุมนุมทางการเมืองของนักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของความผิดปัจจุบันที่คณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่า อาจจะเข้าข่ายได้รับการนิรโทษกรรม เพราะเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมืองนั้น มี 4 ประเภท คือ 1.คดีก่อการร้าย 2.ความผิดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน 3.ความผิดจากการชุมนุมทางการเมือง หรือการเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐาน และ 4.การตัดสิทธิ์ที่เกิดจากการเลือกตั้ง ทั้งนี้ จะได้รับการนิรโทษกรรมหรือไม่ ต้องได้รับความเห็นชอบทางสังคมด้วย

ด้านนายชวลิต วิชยสุทธิ์ เลขานุการ กมธ.ปรองดอง กล่าวว่า การประชุมกมธ.ในระยะต่อไป จะมีการเชิญทุกภาคส่วนเข้าร่วม ตั้งแต่ประธานสภาผู้แทนฯ ประธานวุฒิสภา หัวหน้าพรรคทุกพรรค รวมทั้งคู่ขัดแย้งทางการเมือง เพื่อให้ทุกฝ่ายร่วมกันแสดงความคิดเห็นถึงปัจจัยในการสร้างความปรองดองอย่างตรงไปตรงมา หากมีจุดใดที่ยังไม่ตรงกัน ก็ต้องมีการจูนปรับให้เข้ากันให้ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น