xs
xsm
sm
md
lg

สัมพันธ์ไทย-กัมพูชาจะอยู่เหนืออธิปไตยของชาติไม่ได้!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผ่าประเด็นร้อน

ในที่สุดผลการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย-กัมพูชา (จีบีซี) ครั้งที่ 8 ที่กรุงพนมเปญ กัมพูชา โดยฝ่ายไทยมี พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นหัวหน้าคณะ และมีผู้บัญชาการเหล่าทัพรวมทั้งฝ่ายความมั่นคงเข้าร่วมแบบเต็มคณะ ขณะที่ฝ่ายกัมพูชานำโดย พล.อ.เตีย บัญ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

สำหรับสาระสำคัญที่ได้ข้อสรุปร่วมกันทั้งสองฝ่ายก็คือ “เร่งรัดการถอนทหาร” (ปรับกำลัง) ออกจากพื้นที่พิพาททั้งสองฝ่าย แล้วจัดชุดผู้สังเกตการณ์สามประเทศคือ ไทย กัมพูชา และอินโดนีเซีย เข้าไปในพื้นที่ เป็นต้น

สาระหลักก็จะเป็นเรื่องของการปรับกำลังหรือการถอนทหารออกมาจากพื้นที่ปราสาทพระวิหารและพื้นที่โดยรอบ ซึ่งก็คือพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร นั่นเอง

ทั้งนี้ ผลการประชุมที่ออกมาดังกล่าว ทั้งสองฝ่ายระบุว่าเป็นไปตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลกที่ให้ทั้งสองฝ่ายถอนทหารออกมาแล้วให้อินโดนีเซียส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาสังเกตการณ์

หากพิจารณาโดยเผินๆ แบบฉาบฉวยไม่มีที่มาที่ไปก็ต้องบอกว่า มันก็น่าจะมีความยุติธรรมและเป็นกลางกันทั้งสองฝ่าย ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ น่าจะยอมรับได้ยิ่งในฐานะประเทศเพื่อนบ้านที่มีรั้วติดกัน ต้องมีการค้าขายติดต่อร่วมกันของประชาชนทั้งสองประเทศมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มันก็ไม่น่าจะมีใครมาขัดคอ

แม้ว่าในทางปฏิบัติยังมีขั้นตอนต้องดำเนินการ แต่ถ้าพิจารณากันในความจริงก็ต้องบอกว่า นี่เป็นเรื่องของอธิปไตยของชาติ รวมไปถึงศักดิ์ศรีของชาติที่จะต้องยืนหยัดเอาไว้ให้มั่นคงจะไขว้เขวไม่ได้เป็นอันขาด

เพราะหากย้อนกลับไปพิจารณาจากจุดเดิมที่ตั้งต้นมาตั้งแต่คำพิพากษาของศาลโลก เมื่อปี พ.ศ. 2505 ที่ตัดสินให้ กัมพูชามีกรรมสิทธิ์ “เฉพาะตัวปราสาทพระวิหาร” เท่านั้น ส่วนพื้นที่โดยรอบเนื้อที่ประมาณ 4.6 ตารางกิโลเมตร เป็นของไทย และไทยก็ได้ยืนยันความเป็นเจ้าของ มีอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดีในช่วงที่ผ่านมาตลอดสามสี่สิบปีมานี้เริ่มมีผลประโยชน์ตามแนวชายแดนเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้นเรื่อยทำให้มีข้าราชการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนบางคนกลับทำเอาหูไปนาเอาตาไปไร่รับรู้กับการรุกคืบเข้ามาของฝ่ายกัมพูชาที่มาในรูปแบบของการเข้ามาตั้งชุมชนค้าขาย และจับจองพื้นที่อยู่อาศัย ซึ่งนานวันเข้ากลายเป็นผู้ครอบครองและมีการอ้างสิทธิ์เหนือดินแดน

การดำเนินการแบบค่อยๆ รุกคืบเข้ามาแบบนี้ได้กระทำต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน ขณะเดียวกัน อำนาจทางการเมืองของไทยก็มีการเปลี่ยนขั้วไปเรื่อย จนกระทั่งมีถึงยุครัฐบาลของ ทักษิณ ชินวัตร ที่เริ่มมีการเจรจาเรื่องผลประโยชน์ในธุรกิจพลังงานในพื้นที่อ่าวไทย ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการเจรจากันอย่างต่อเนื่องมาจนถึงยุครัฐบาล “นอมินี” ที่นำโดยสมัคร สุนทรเวช มาจนถึงรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์

ที่ผ่านมามีแต่ข้อสงสัยเรื่องการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ทางธุรกิจ ในลักษณะผลประโยชน์ทับซ้อนอยู่ตลอดเวลา ซึ่งที่กลายเป็นเรื่องอื้อฉาวก็คือการยกอธิปไตยในพื้นที่โดยรอบของปราสาทพระวิหารเนื้อที่ประมาณ 4.6 ตารางกิโลเมตร ให้กับกัมพูชาโดยยอมให้ขึ้นทะเบียนปราสาทเป็นมรดกโลกเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งต่อมาศาลปกครองก็ชี้ขาดออกมาแล้วว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายในลักษณะเปลี่ยนแปลงอาณาเขต

น่าสังเกตในประการต่อมาก็คือ การยอมให้ฝ่ายกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเพียงฝ่ายเดียวอาจเกี่ยวข้องกับการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ด้านธุรกิจพลังงานในอ่าวไทย ซึ่งมีหลายฝ่ายกังวลว่าจะมีผลกระทบไปถึงเขตแดนทั้งทางบกต่อเนื่องลงไปถึงเขตแดนในทะเลเสียทั้งดินแดนและผลประโยชน์ด้านทรัพยากรของชาติอีกมหาศาล

สำหรับพื้นที่ 4.6 ตารากิโลเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่โดยรอบปราสาทนั้นที่ผ่านมานั้นเป็นของไทย แต่ด้วยความไม่เอาไหน มีการปล่อยปละละเลยทั้งฝ่ายทหารและฝ่ายการเมืองในอดีตที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวทำให้ฝ่ายกัมพูชารุกคืบเข้ามาเรื่อยๆ จนกระทั่งมีการก่อสร้าง วัดแก้วสิกขาคีรีสวาระ มีการสร้างชุมชน สร้างถนนขึ้นมา โดยที่ฝ่ายไทยไม่ได้ทักท้วงอย่างแข็งกร้าว จนทำให้มีการอ้างสิทธิ์จนกลายเป็นพื้นที่พิพาทหรือพื้นที่ทับซ้อนในที่สุด ทั้งที่พื้นที่บริเวณนั้นเป็นพื้นที่ของไทยทั้งหมด

อย่างไรก็ดี ความผิดพลาดได้เกิดขึ้นซ้ำซากไม่เว้นแม้แต่ยุครัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ที่ผ่านมาที่ไปยอมรับอำนาจของศาลโลกในกรณีดังกล่าว โดยยอมให้กัมพูชายื่นตีความคำพิพากษาเมื่อปี พ.ศ. 2505 ว่านอกจากตัวปราสาทแล้วยังครอบคลุมไปถึงพื้นที่โดยรอบหรือไม่ รวมทั้งมีความพยามสร้างเรื่องก่อสงครามชายแดนเพื่อต้องการให้องค์กรระหว่างประเทศเข้ามาไกล่เกลี่ยจนประสบความสำเร็จในวันนี้

วันนี้ วันที่ไทยมีแนวโน้มต้องถอนทหารออกจากพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ของตัวเอง ขณะที่ฝ่ายกัมพูชามีแต่ได้ ขณะเดียวกันยังลากเอามหาอำนาจเข้ามาโดยใช้ผลประโยชน์ด้านพลังงานเป็นตัวล่อ อีกทั้งฝ่ายรัฐบาลไทยที่อยู่ภายใต้การบงการของ ทักษิณ ชินวัตร ก็คิดอยู่อย่างเดียวคือต้องสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมองผิวเผินถือว่าเป็นเรื่องดี แต่คำถามก็คือมันมีวาระซ่อนเร้นมีผลประโยชน์ทับซ้อน โดยเอาดินแดนและอธิปไตยของชาติไปแลกหรือเปล่า เพราะถ้าเป็นแบบนั้นมันก็ไม่มีความจำเป็นใดๆเลย

ขณะเดียวกันก็ต้องเรียกร้องให้ฝ่ายกองทัพตั้งแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกรณ์ รวมไปถึง ผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นต้น ที่ก่อนหน้านี้มีท่าทีหนักแน่นว่าจะไม่ยอมถอนทหารออกจากพื้นที่ดังกล่าว เพราะเห็นตรงกันว่าเป็นการเสียอธิปไตย ดังนั้นนาทีนี้ถึงเวลาต้องพิสูจน์แล้ว อย่าดีแต่พูดก็แล้วกัน!!
กำลังโหลดความคิดเห็น