xs
xsm
sm
md
lg

“ปู” โอ่ กลางที่ประชุมลุ่มน้ำโขง พร้อมดันแนวออก-ตก แหล่งอุตสาหกรรมใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง(GMS) ครั้งที่ 4 ณ ศูนย์การประชุมนานาชาติเมียนมาร์ นครเนปิดอว์ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์
“ยิ่งลักษณ์” ร่วมประชุมผู้นำกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง ลงนามข้อตกลงเร่งรัดโครงข่ายสารสนเทศ-ลดผู้ติดเชื้อเอดส์ในภูมิภาค พร้อมย้ำไทยหนุน GMS เป็นแกนหลักการพัฒนาพื้นที่ ลั่น พลิกวิกฤตน้ำท่วมเป็นโอกาส ผลักดันระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก เป็นแหล่งอุตสาหกรรมมูลค่าสูง

วันนี้ (20 ธ.ค.) เวลา 09.00 น.ณ ศูนย์การประชุมนานาชาติเมียนมาร์ นครเนปิดอว์ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ครั้งที่ 4 ร่วมกับผู้นำจาก เมียนมาร์ ลาว กัมพูชา เวียดนาม และ จีน ร่วมด้วยประธานธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย หรือ ADB จากนั้นมีการถ่ายภาพหมู่ระหว่างผู้นำประเทศสมาชิก GMS ต่อด้วยการชมวิดีทัศน์ เกี่ยวกับความสำเร็จภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในกรอบอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ในสาขาด้านการท่องเที่ยว การเกษตร และสภาพแวดล้อม

ก่อนเริ่มการประชุม GMS Summit ครั้งนี้ ผู้นำประเทศสมาชิกได้ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามในบันทึกความเข้าใจ 3 ฉบับ ได้แก่ บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการเร่งรัดในการจัดให้มีโครงข่ายทางด่วนสารสนเทศในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ระยะที่ 2 บันทึกความเข้าใจสำหรับการดำเนินงานร่วมกันเพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อเอดส์ที่มีการเคลื่อนย้ายในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง บันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจัดตั้งสมาคมขนส่งในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง นำ 6 ประเทศสมาชิก GMS พร้อมประธาน ADB หารือกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาแผนงาน GMS

จากนั้นเวลา 10.40 น.นายกรัฐมนตรี และผู้นำประเทศสมาชิก GMS และประธาน ADB ได้เข้าร่วมการประชุม GMS Summit ซึ่งเป็นลักษณะ Closed-Door Meeting โดยในช่วงแรกได้มีการหารือเกี่ยวกับการนำกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาแผนงาน GMS ไปสู่การปฏิบัติ และการสนับสนุนของประเทศหุ้นส่วนการพัฒนา (Development Partners ) ซึ่งกรอบยุทธศาตร์ฉบับใหม่ 2012-2022 นี้ จะเน้นการดำเนินงานที่ต่อเนื่องของ GMS โดยการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ (Economic Corridor) ยังคงเป็นหัวใจหลักของการดำเนินงาน และเน้นการบูรณาการระหว่างสาขา และพัฒนาความสามารถในการจัดการกับประเด็นที่ซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งต้องอาศัยเงินทุนและการเสริมสร้างองค์ความรู้เพื่อรองรับการพัฒนา รวมถึงการประสานกับกรอบอื่นในภูมิภาคและเตรียมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

ในประเด็นดังกล่าวนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงการสนับสนุนไทย โดยไทยมองว่า GMS เป็นแกนหลักของการพัฒนาลุ่มน้ำโขง และขับเคลื่อนอนุภูมิภาคสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และไทยยืนยันความพร้อมสนับสนุนการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงทั้งในด้านการเงินและวิชาการ โดยด้านการเงิน ได้ดำเนินงานแล้ว 2 โครงการ ได้แก่ สะพานข้ามแม่น้ำโขง ณ นครพนม-คำม่วน (แล้วเสร็จ) ถนนเมียวดี-กอกะเรก (อยู่ระหว่างดำเนินการ) และมีโครงการอยู่ในแผนของ สพพ.อีกกว่า 2,000 ล้านบาท ด้านวิชาการ จะสนับสนุนให้สถาบันวิจัย และมหาวิทยาลัยสร้างเครือข่ายการทำงานกับ GMS และแลกเปลี่ยนความเชี่ยวชาญผ่าน สพร.

นอกจากนี้ ไทยพร้อมจะขยายเส้นทางรถไฟเชื่อมโยงอนุภูมิภาค โดยเฉพาะระหว่างไทย-ลาว-จีน และพร้อมจะรับเป็นศูนย์ประสานงานการรถไฟของอนุภูมิภาค ไทยเสนอให้ GMS ร่วมพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นใหม่ เช่น ทวาย-กาญจนบุรี นครพนม-คำม่วน และแม่สอด-เมียวดี รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงกับเมืองทวาย และพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษที่กาญจนบุรี เพื่อรองรับฐานเศรษฐกิจใหม่ของภูมิภาค

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียังได้กระตุ้นให้ GMS ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องร่วมมืออย่างใกล้ชิดเรื่องสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ โดยสนับสนุนการวางแผนและลงทุนในด้านการพัฒนาเมือง เช่น ระบบป้องกันน้ำท่วม และการจัดการน้ำเสีย รวมถึงการพัฒนาศักยภาพให้แก่ชุมชนเพื่อเพิ่มศักยภาพการจัดการกับภัยพิบัติ ทั้งนี้ ไทยจะเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสใหม่ของภูมิภาค ด้วยการส่งเสริมแนวพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตกให้เป็นพื้นที่ศักยภาพใหม่ สำหรับการลงทุนอุตสาหกรรมมูลค่าสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ในด้านการร่วมมือกับหุ้นส่วนการพัฒนา หรือ Development Partners นายกรัฐมนตรีแสดงความเห็นชอบให้มีการจัดทำแผนการลงทุนของอนุภูมิภาค แต่ควรจัดลำดับความสำคัญ และวิเคราะห์ความคุ้มค่าเชิงเศรษฐกิจและการเงินประกอบด้วย โดยไทยสามารถช่วยจัดทำการเตรียมความพร้อมก่อนการลงทุนของโครงการดังกล่าวได้ พร้อมทั้งควรปรับรูปแบบการหารือกับ Development Partners (DPs) ให้เฉพาะเจาะจง และไม่เป็นทางการมากขึ้น และควรพัฒนารูปแบบการบริหารการเงินอย่างสร้างสรรค์เพื่อรองรับการลงทุนดังกล่าว ซึ่งรวมถึงการระดมทุนจาก ASEAN Infrastructure Fund

จากนั้นในช่วงที่ 2 ของการประชุม ได้มีการหารือกันในประเด็นการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ (Economic Corridor) ซึ่งที่ผ่านมา มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเกือบครบเต็มระบบแล้ว ในระยะต่อไปจึงต้องกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการลงทุน รวมทั้งจัดตั้งกลไก Economic Corridor Forum เพิ่มเติมในระดับรัฐมนตรีและผู้ว่าราชการจังหวัด และที่สำคัญ คือ การเพิ่มการมีส่วนร่วมของระดับพื้นที่และภาคเอกชนในการพัฒนา และการลงทุนตามแนวระเบียงเศรษฐกิจ

สำหรับในประเด็นดังกล่าวนี้ นายกรัฐมนตรีได้เสนอเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของระดับพื้นที่ ว่า รัฐควรเปิดโอกาสการมีส่วนร่วมตลอดทั้งกระบวนการพัฒนา และสร้างช่องทางการสื่อสารผ่านทางหน่วยงานของรัฐ สถาบันการศึกษา และสื่อมวลชนในพื้นที่ รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นโดยเร่งโครงการให้เป็นรูปธรรมในระยะแรก โดยเฉพาะในด้านท่องเที่ยว โลจิสติกส์ และเครือข่ายกระบวนการผลิต และการปรับรูปแบบ Economic Corridor Forum ให้เน้นระดับปฏิบัติการมากขึ้น

ส่วนในประเด็นการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน นายกรัฐมนตรี เห็นว่า ควรสนับสนุนการทำงานของ GMS Business Forum อย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะงานของ FRETA ควรขยายความร่วมมือกับภาคเอกชนขนาดใหญ่และบริษัทข้ามชาติ รวมถึงช่วยพัฒนาศักยภาพให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และการเสริมสร้างกลไกการหารือระหว่างภาครัฐ-เอกชน โดยให้มีการหารือระหว่างรัฐ-เอกชนในการประชุมอย่างสม่ำเสมอ และให้มีหลักสูตรฝึกอบรมร่วมภาครัฐ-เอกชนภายใต้แผนงานพนมเปญ

กำลังโหลดความคิดเห็น