xs
xsm
sm
md
lg

ที่ประชุม GMS รับรองกรอบยุทธศาสตร์ 10 ปีฉบับใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>ผู้นำประเทศจาก 6 ชาติสมาชิกกลุ่มอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขงร่วมกันถ่ายภาพหมู่ระหว่างพิธีเปิดการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ครั้งที่ 4 ที่กรุงเนปีดอ ในวันนี้ (20 ธ.ค.). -- AFP PHOTO/Soe Than Win. </font></b>

ซินหัว - การประชุมผู้นำกลุ่มอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ครั้งที่ 4 เริ่มขึ้นแล้ววันนี้ (20 ธ.ค.) ที่กรุงเนปีดอ ของพม่า พร้อมทั้งรับรองกรอบยุทธศาสตร์พัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงฉบับใหม่สำหรับปี 2555-2565

การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นที่ศูนย์การประชุมนานาชาติพม่า ในกรุงเนปีดอ ภายใต้แนวคิด “Beyond 2012: Towards a New Decade of GMS Strategic Development Partnership” โดยประธานาธิบดี เต็งเส่ง ที่เป็นประธานการประชุม กล่าวว่า การประชุม GMS ครั้งที่ 4 เกิดขึ้นในช่วงเวลาสำคัญสำหรับกลุ่มอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง ในขณะที่สถานการณ์เศรษฐกิจโลกกำลังย่ำแย่ และกลุ่มอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขงได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการปรับตัวเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งล่าสุด แต่ไม่ควรชะล่าใจกับความสำเร็จในตอนนี้ กลุ่มควรเพิ่มความมุ่งมั่นเพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ร่วมกันของกลุ่มอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง

ประธานาธิบดีพม่า ยังกล่าวว่า โครงการ GMS กำลังก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 3 ของความร่วมมือ ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในระหว่างกลุ่มประเทศอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขงด้วยกันในภาคส่วนต่างๆ

สำหรับผู้นำกลุ่มประเทศอนุภาคแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ที่เข้าร่วมการประชุม ประกอบด้วย นายไต๋ ปิงกั๋ว มนตรีแห่งรัฐของจีน นายกรัฐมนตรี ฮุนเซน ของกัมพูชา นายกรัฐมนตรี ทองสิง ทำมะวง ของลาว ประธานาธิบดี เต็งเส่ง ของพม่า นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ของไทย และนายกรัฐมนตรี เหวียน เติ๋น ยวุ๋ง ของเวียดนาม และบรรดาผู้นำจากทั้ง 6 ประเทศ ยังได้รับรองกรอบยุทธศาสตร์พัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงฉบับใหม่สำหรับปี 2555-2565 ด้วย

กรอบยุทธศาสตร์ธ์ฉบับใหม่ มุ่งเน้นไปยังปัญหาและข้อกังวลต่างๆ ที่คาดว่า จะเป็นความเสี่ยงต่อการเติบโต และการพัฒนาของกลุ่มอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง ที่ประธานาธิบดี เต็งเส่ง ได้อ้างถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ พลังงานพอเพียง ความมั่นคงด้านอาหาร ความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และว่า กรอบยุทธศาสตร์จะทำหน้าที่เป็นแนวทางในการพัฒนาอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง และเรียกร้องให้ประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ในการเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ

โครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจของกลุ่มอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขงเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2535 ระหว่างประเทศที่ร่วมใช้แม่น้ำโขง ซึ่งประกอบด้วย กัมพูชา จีน ลาว พม่า ไทย และ เวียดนาม โดยมีธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) ริเริ่มโครงการและดำเนินการเป็นผู้ประสาน รวมทั้งยังเป็นผู้สนับสนุนด้านเทคนิคและการเงิน

การประชุม GMS ครั้งแรก มีขึ้นที่กรุงพนมเปญ กัมพูชา ในปี 2545 ที่กรอบยุทธศาสตร์ฉบับแรก (2545-2555) ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ ส่วนการประชุม GMS ครั้งที่ 2 จัดขึ้นที่นครคุนหมิง มณฑลหยุนหนัน ของจีน ในปี 2548 และการประชุม GMS ครั้งที่ 3 มีขึ้นที่กรุงเวียงจันทน์ ของลาว ในปี 2551
กำลังโหลดความคิดเห็น