ASTVผู้จัดการออนไลน์ -- เจ้าหน้าที่ระดับสูงกระทรวงด้านทรัพยากรธรรมชาติกับสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องจากประเทศไทย ลาว กัมพูชา และ เวียดนาม กำลังจะร่วมกันประชุมกันในสัปดาห์นี้ เพื่อร่วมกันหารือเกี่ยวกับเขื่อนไซยะบูลี ที่กำลังจะสร้างกั้นทางตอนเหนือของแม่น้ำโขง และกำลังข่มขู่ประเทศตามตอนล่างของลำน้ำ
การประชุมคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง หรือ MRC (Mekong River Commission) กำลังจะมีข้นที่เมืองเสียมราฐ ของกัมพูชาวันที่ 8-9 ธ.ค.นี้ ซึ่งจะเป็นครั้งที่ 18 และคาดว่า ผู้เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้จะร่วมกันหาข้อสรุปว่า ควรจะก่อสร้างเขื่อนแห่งนี้หรือไม่ หนังสือพิมพ์เตื่อยแจ๋กล่าว
เจ้าหน้าที่จากประเทศกลุ่มแม่น้ำโขงจะร่วมกันพิจารณาว่า ผลการศึกษาโครงการเขื่อนไซยะบูลี สอดคล้องกับจุดประสงค์กับข้อกำหนดของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง หรือไม่ แม้ว่าการศึกษาที่ดำเนินการโดยบริษัท ปอยรี (Poyry) ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านทรัพยากรแหล่งน้ำจากประเทศฟินแลนด์ สื่อของทางการกล่าว
เขื่อนไซยะบูลี ในแขวงไซยะบูลี มูลค่า 3,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งกลุ่ม ช.การช่าง จากประเทศไทย เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ อาจจะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อประเทศที่อยู่ตอนล่างลงไป คือ กัมพูชา ไทย และ เวียดนาม และการศึกษาได้ระบุวิธีการแก้ไขผลกระทบต่างๆ เอาไว้
“ประเทศต่างๆ กำลังต่อรองกันในสองประเด็นสำคัญซึ่งบางครั้งขัดแย้งกัน คือ การสร้างเขื่อนที่เชื่อถือได้กับการให้หลักประกันต่อชีวิตความเป็นอยู่ และสภาพแวดล้อมของบรรดาประเทศที่อยู่ตอนล่างลงไป” เตื่อยแจ๋อ้างคำพูดของของแหล่งข่าวแห่งกองทุนเพื่อธรรมขาติโลก (Worldwide Fund for Nature) ที่ไม่ประสงค์จะให้ระบุตัวตนผู้หนึ่ง
เดือน เม.ย.ปีนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเวียดนาม ได้เรียกร้องให้รัฐบาลลาวหยุดการก่อสร้างเขื่อนไซยะบูลีไว้ก่อนเป็นเวลา 10 ปี เพื่อศึกษาผลกระทบต่อลำน้ำโขง และประชาชนที่อาศัยทำกินตลอดสองฝั่ง
นายทองสิง ทำมะวง นายกรัฐมนตรีลาว ได้บอกกับนายเหวียนเติ๋นยวุ๋ง นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ระหว่างการประชุมผู้นำอาเซียนครั้งที่ 18 ในประเทศอินโดนีเซีย แจ้งให้ทราบว่ารัฐบาลลาวได้เลื่อนการก่อสร้างออกไปเป็นการชั่วคราวในขณะนั้น
นายฟัม-เขย-งเวียน (Pham Khoi Nguyen) ประธานคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงเวียดนามกล่าวว่า นอกจากเขื่อนไซยะบูลีแล้วก็ยังมีเขื่อนอื่นๆ อีก 11 แห่งอยู่ระหว่างการเตรียมโครงการก่อสร้าง ตลอดลำแม่น้ำสายสำคัญนี้ ถ้าหากทุกโครงการได้รีบอนุมัติโดยปราศจากการศึกษาอย่างเพียงพอและเชื่อถือได้ ก็จะกลายเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่
นักวิทยาศาสตร์คาดกันว่าการก่อสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำโขงจะทำให้ดินตะกอนที่มีประโยชน์สำหรับการการเกษตรที่ถูกพัดพาไปตามลำน้ำหายไปจำนวนมากในแต่ละปี และ เขื่อนยังจะเป็นอันตรายอย่างใหญ่หลวงต่อชีวะนานาพันธุ์ในลำน้ำและปลาสำคัญหลายชนิดอาจสูญพันธุ์