xs
xsm
sm
md
lg

"ปู"ชื่นชมพม่าปรองดอง พบ"อองซาน"ก่อนกลับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 09.00 น.วานนี้ ที่ ศูนย์การประชุมนานาชาติเมียนมาร์ นครเนปิดอว์ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 4 ร่วมกับผู้นำจากเมียนมาร์ ลาว กัมพูชา เวียดนาม และ จีน ร่วมด้วยประธานธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย หรือ ADB
ก่อนเริ่มการประชุม GMS Summit ครั้งนี้ ผู้นำประเทศสมาชิก ได้ร่วมเป็นสักขีพยายนการลงนามในบันทึกความเข้าใจ 3 ฉบับ ได้แก่บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการเร่งรัดในการจัดให้มีโครงข่ายทางด่วนสารสนเทศในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ระยะที่ 2 บันทึกความเข้าใจสำหรับการดำเนินงานร่วมกันเพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อเอดส์ที่มีการเคลื่อนย้ายในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจัดตั้งสมาคมขนส่งในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง นำ 6 ประเทศสมาชิก GMS พร้อมประธาน ADB หารือกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาแผนงาน GMS
จากนั้น นายกรัฐมนตรี และผู้นำประเทศสมาชิก GMS และประธาน ADB ได้เข้าร่วมการประชุม GMS Summit ซึ่งได้มีการหารือเกี่ยวกับการนำกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาแผนงาน GMS ไปสู่การปฏิบัติ และการสนับสนุนของประเทศหุ้นส่วนการพัฒนาซึ่งกรอบยุทธศาตร์ฉบับใหม่ 2012 – 2022 นี้ จะเน้นการดำเนินงานที่ต่อเนื่องของ GMS โดยการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ ยังคงเป็นหัวใจหลักของการดำเนินงาน และเน้นการบูรณาการระหว่างสาขา และพัฒนาความสามารถในการจัดการกับประเด็นที่ซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งต้องอาศัยเงินทุนและการเสริมสร้างองค์ความรู้เพื่อรองรับการพัฒนา รวมถึงการประสานกับกรอบอื่นในภูมิภาคและเตรียมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
โดยในประเด็นดังกล่าวนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงการสนับสนุนของไทย โดยไทยมองว่า GMS เป็นแกนหลักของการพัฒนาลุ่มน้ำโขง และขับเคลื่อนอนุภูมิภาคสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และไทยยืนยันความพร้อมสนับสนุนการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงทั้งในด้านการเงินและวิชาการ โดย
ด้านการเงิน ได้ดำเนินงานแล้ว 2 โครงการ ได้แก่ สะพานข้ามแม่น้ำโขง ณ นครพนม-คำม่วน (แล้วเสร็จ) ถนนเมียวดี-กอกะเรก (อยู่ระหว่างดำเนินการ) และมีโครงการอยู่ในแผนของ สพพ. อีกกว่า 2,000 ล้านบาท
ด้านวิชาการ จะสนับสนุนให้สถาบันวิจัย และมหาวิทยาลัยสร้างเครือข่ายการทำงานกับ GMS และแลกเปลี่ยนความเชี่ยวชาญผ่าน สพร.
นอกจากนี้ ไทยพร้อมจะขยายเส้นทางรถไฟเชื่อมโยงอนุภูมิภาค โดยเฉพาะระหว่างไทย-ลาว-จีน และพร้อมจะรับเป็นศูนย์ประสานงานการรถไฟของอนุภูมิภาค ไทยเสนอให้ GMS ร่วมพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นใหม่ เช่น ทวาย-กาญจนบุรี นครพนม-คำม่วน และแม่สอด-เมียวดี รวมถึง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงกับเมืองทวาย และพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษที่กาญจนบุรี เพื่อรองรับฐานเศรษฐกิจใหม่ของภูมิภาค
นายกรัฐมนตรียังได้กระตุ้นให้ GMS ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องร่วมมืออย่างใกล้ชิด เรื่องสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ โดยสนับสนุนการวางแผนและลงทุนในด้านการพัฒนาเมือง เช่น ระบบป้องกันน้ำท่วม และการจัดการน้ำเสีย รวมถึงการพัฒนาศักยภาพให้แก่ชุมชนเพื่อเพิ่มศักยภาพการจัดการกับภัยพิบัติ
ในช่วงบ่าย น.ส.ยิ่งลักษณ์ และนายเต็ง เส่ง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ได้ร่วมหารือทวิภาคีร่วมกัน โดยผู้นำทั้งสองต่างแสดงความยินดีต่อความสัมพันธ์ไทย-พม่า ที่มีพัฒนาการที่ดีขึ้น โดยเฉพาะนับตั้งแต่การเยือนเมียนมาร์อย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 ต.ค.54 และทางการเมียนมาร์ได้เปิดจุดผ่านแดนเมียวดี เมื่อวันที่ 5 ธ.ค.ที่ผ่านมา รวมทั้งมีการปล่อยตัวนักโทษชาวไทย8 คนจากทัณฑสถานเกาะสอง เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 7 รอบ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทั้งรัฐบาลไทยและประชาชนชาวไทย รู้สึกซาบซึ้งในไมตรีจิตของเมียนมาร์เป็นอย่างยิ่ง
นายกรัฐมนตรียังได้ชื่นชมนโยบายของรัฐบาลเมียนมาร์ ภายใต้การนำของประธานาธิบดี คนปัจจุบัน และเห็นว่าเมียนมาร์มีพัฒนาการภายในประเทศในทิศทางบวก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรองดองแห่งชาติ และความสำเร็จในการเจรจาหยุดยิงกับ ชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่ม โดยไทยยืนยันที่จะสนับสนุนการดำเนินการของรัฐบาลเมียนมาร์ และหวังว่านโยบายการปรองดองแห่งชาติจะเดินหน้าต่อไปและประสบความสำเร็จ
ระหว่างการสนทนา นายกรัฐมนตรีย้ำว่า รัฐบาลไทยมีความมุ่งมั่นที่จะผลักดันกลไกหารือทวิภาคีที่สำคัญให้เดินหน้าต่อไป โดยเฉพาะการประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย-เมียนมาร์
หลังการหารือ นายกรัฐมนตรีและคณะ เดินทางออกจากท่าอากาศยานเนปิดอว์ ไปยังกรุงย่างกุ้ง เพื่อพบ นางออง ซาน ซูจี ณ ทำเนียบเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงย่างกุ้ง ก่อนเดินทางกลับประเทศไทย ในเวลาประมาณ 21.40 น.
กำลังโหลดความคิดเห็น