“ปานเทพ” แจงโมเดล “ทักษิณ” เพื่อกลับคืนสู่อำนาจ ชี้อาจเลือกให้ประเทศนองเลือด เพื่อรวบอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด หรือเดินหน้าจับมือกับทุกฝ่ายช่วยตัวเองพ้นผิด เชื่อเลือกไพ่เร็วๆ นี้เพราะเจ้าตัวเป็นคนใจร้อน ควบคุมอารมณ์ไม่อยู่ ด้าน “คมสัน” เตือนจับตาแก้ รธน.ผ่านทางคณะกรรมการต่างๆ ให้ดี มีแนวโน้มทำให้เหลือแค่ไม่กี่มาตรา แล้วเรื่องจะผ่านเร็วมาก
คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายการ “คนเคาะข่าว”
วันที่ 25 พ.ย. นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และนายคมสัน โพธิ์คง อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้ร่วมรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV
โดยนายปานเทพกล่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณมีโมเดลที่จะทำให้ตัวเองพ้นผิดและกลับมามีอำนาจ ซึ่งกำลังตัดสินใจว่าจะเลือกไพ่ใบไหน 1.ชนะขาดรวบอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญ เชื่อว่าถ้าทำได้ทำไปนานแล้ว ซึ่งถ้าทำได้ก็ต้องเผชิญหน้ากับมวลชนเหมือนปี 2549 หรือว่า 2551 ที่มีมวลชนเกิดขึ้นมหาศาล ยิ่งคราวนี้มีมวลชนเสื้อแดงด้วย ถ้าทำจริงจะเป็นการสร้างกลียุคเกิดขึ้น ฝ่ายใดถ้าชนะก็ชนะเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ฝ่ายแพ้ก็บาดเจ็บล้มตายแผ่นดินรุกเป็นไฟ 2.ชนะขาดแต่ยอมปฏิรูป ตอนนี้ไม่เห็นแนวทางนี้เลย
3.แนวทางนี้พอเห็นลางๆ ว่ามีความพยายาม ก็คืออยากจะจับมือเพราะรบมาไม่ชนะขาดสักที ก็เลยอยากจับมือ เช่น ส.ส.ร.ก็จะตั้งเพื่อให้มีความชอบธรรมในการทำประชามติ หรือแม้กระทั่งความคิดที่จะเชิญบางคนที่รับใช้เบื้องพระยุคลบาทมาทำงานมากขึ้น เพื่อส่งสัญญาณว่าเขาสามารถจับมือได้ หรือตั้งคณะกรรมการปรองดองแห่งชาติซึ่งตอนนี้มีทุกกลุ่มแล้ว แต่พันธมิตรฯ ไม่ไป เพราะจุดประสงค์ไม่ชัดเจน เหมือนต้องการล้มความผิดในอดีต เชื่อว่าถ้าจับมือได้จริง คนที่จับกันต้องยอมเสียสละมวลชนตัวเองไป เขาจะยอมอย่างนั้นหรือไม่ คิดว่าที่ผ่านมามวลชนถูกปลุกเร้า มีความเชื่อของตัวเอง ยึดติดในความเชื่อนั้นแล้ว หากโมเดลนี้เกิดขึ้นก็จะสูญเสียมวลชนอย่างมหาศาล 4.ประการสุดท้ายจับมือกันยึดหลักนิติรัฐปฏิรูปประเทศ ซึ่งตอนนี้รู้สึกจะมีกลุ่มเดียวที่สู้เรื่องนี้คือพันธมิตรฯ ภายใต้เงื่อนไขเหล่านี้พ.ต.ท.ทักษิณกำลังเล่นไพ่หลายใบ
นายปานเทพกล่าวต่อว่า บางคนในพรรคเพื่อไทยเหมือนพยายามช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ แต่บางคนอาจไม่อยากให้มาก็ได้ เพราจะมาลดบทบาทของตัวเอง เช่น ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เวลาไม่มี พ.ต.ท.ทักษิณ เหมือนจะเป็นนายกฯเองเลย ฉะนั้นมีบางคนในเพื่อไทยพูดว่าเฉลิมไม่ต้องการให้ทักษิณมา ถึงได้จุดประเด็นรายวัน ทั้งๆ ที่ยังไม่ถึงวาระ และให้คนถล่มเยอะๆ ไม่ว่าจะอย่างไรภายใต้สภาวะน้ำท่วม รัฐบาลเสื่อม ทหารคะแนนนิยมสูงขึ้น อำนาจรัฐสั่นคลอน มีความเสี่ยงมาก ทักษิณเลยต้องรีบกระชับอำนาจ และทำให้เร็ว
“คิดว่าทักษิณกำลังชั่งใจอยู่ 2 โมเดล คือ รวบอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดยอมนองเลือด ต้องจัดตั้งกองกำลังครั้งใหญ่เลย มีสิทธิ์นองเลือดสูงมาก หรือสอง เดินทางการประนีประนอม แต่ก็ไม่คิดเสียสละอำนาจ โดยมีเดิมพันเป็นน้องสาวตัวเอง ที่มีฐานะรักเหมือนลูกสาว ต้องจับตามอง” นายปานเทพกล่าว
นายปานเทพยังกล่าวอีกว่า คิดว่าอีกไม่นาน พ.ต.ท.ทักษิณต้องเลือกไพ่ เพราะไม่มีทางเลือกอื่น ทิ้งไว้นานปัญหายิ่งเพิ่ม และเขาเป็นคนใจร้อน เป็นคนที่ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ ตอนนี้แค่ใคร่ครวญว่าจะใช้อันไหน และใช้ทั้ง 2 อย่างควบคู่กันไป อันไหนเป็นไปได้ก็เทไปทางนั้น ถ้าจับมือไม่ได้แยกอาณาจักรไม่ได้ก็รวบอำนาจ แต่เชื่อว่าถึงตอนนั้นประเทศไทยต้องมีเดิมพันระหว่างฝ่ายระบอบทักษิณขึ้นสถาปนาอำนาจอย่างเต็มตัว กับฝ่ายตรงข้ามทักษิณกำจัดระบอบทักษิณอย่างสุดขั้ว อย่างเต็มที่
ด้าน นายคมสันกล่าวว่า ไม่แปลกใจที่ พล.อ.สนธิ มาเป็นหัวหน้ากรรมาธิการปรองดอง เพราะการนิรโทษกรรม ข้อเสนอของนิติราษฎร์ ถ้าทำให้รัฐประหารเป็นโมฆะ พล.อ.สนธิก็ต้องถูกจับฐานเป็นกบฎ ก็อาจเอาตัวรอด ด้วยการเข้ามาดูแลคณะกรรมการซะเอง แล้วก็ทำเรื่องเสนอเข้าไป แต่สุดท้ายแล้วข้อเสนอกรรมาธิการ ไม่ว่าจะเป็นชุดของ พล.อ.สนธิ ดร.อุกฤษ หรือของอาจารย์คณิต หรือชุดต่างๆ ที่เกิดขึ้น สุดท้ายแล้วก็จะนำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญ โดยมีเป้าประสงค์นิรโทษกรรมเป็นตัวแถม และพ.ต.ท.ทักษิณกลับมามีอำนาจ
เชิงคิดทฤษฎีที่อาจารย์ปานเทพกล่าวถึง ตนเห็นว่าเป็นไปได้ในข้อที่ว่าจะรวบอำนาจเบ็ดเสร็จ แต่ใครจะเป็นผู้ได้รับเบ็ดเสร็จนี้ก็อยู่ที่ปัจจัยหลายประการ เสื้อแดงก็ไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกัน เพราะเกาะเกี่ยวกันขึ้นจากผลประโยชน์
เรื่องอภัยโทษที่ออกมา เขาคิดว่าถ้าข้ามวันที่ 5 ธ.ค.ได้เขามีโอกาส แต่ว่าจะอยู่ได้นานเท่าไหร่ แค่ตัวนิรโทษไม่สามารถให้ พ.ต.ท.ทักษิณอยู่รอดปลอดภัยถึงขนาดมีอำนาจได้ มันต้องตามมาด้วยแพ็กเกจอื่นๆ ต้องมีล้างมลทิน นิรโทษ แก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลับไปใช้รัฐธรรมนูญปี 40 ตามข้อเสนอนิติราษฎร์อันนี้ที่เขาจะปลอดภัยที่สุด กลับมามีอำนาจเหมือนเดิม แต่ว่าในแง่มวลชนไม่ปลอดภัยแน่ คงเกิดกลียุค คงไม่มีคนยอมง่ายๆ
เงื่อนไขไม้ตายตนคิดว่าการนิรโทษกรรมที่เขาพอจะทำได้น่าจะออกมาในรูปแบบการแก้รัฐธรรมนูญมากกว่า ซึ่งคิดว่ามีวิธีการทำรัฐธรรมนูญให้คนโต้ยาก ทำเร็วโดยเขียนแค่ 5-6 มาตรา เพราะเคยมีแบบแล้วที่เอารัฐธรรมนูญ 2475 มาใช้ในปี 2482 เอามาทั้งฉบับโดยเขียนแค่ 4-5 มาตรา ซึ่งอาจจะออกมาคือ หนึ่ง ให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 50 สอง ให้เอารัฐธรรมนูญปี 40 กลับมาใช้บังคับ สาม ให้ ส.ส. ส.ว. และศาลคงอยู่ แต่เงื่อนไขเวลาให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี 40 ให้กลับไปที่เก่า สี่ องค์กรอิสระไหนไม่พอใจก็ยุบไป สรรหาใหม่ ห้า ให้การกระทำที่เกิดขึ้นระหว่าง 19 ก.ย. จนถึงปัจจุบันสิ้นผลลงเสมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย หก สุดท้ายเรื่องของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญของเก่าก็กลับมา ของใหม่ก็ตายไป
หลักการเหล่านี้ก็ไปทำลายมาตรา 237 หลักเรื่องการยุบพรรคทั้งหมด ถ้าให้ตนร่างจะได้ไม่เกิน 10 มาตรา แล้วคนจะแปรญัติอย่างไรก็ยาก คิดว่าจะออกมาในรูปแบบนี้ มานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ ก็เคยพูดไว้ ถ้าไม่เฝ้าระวังให้ดีมันผ่านเร็วมาก เพราะกฎหมายมันสั้น ตอนนี้เต้ากระแสก่อน ถ้าไม่มีกระแสค้านจะสร้างความชอบธรรมในมวลชนของเขาเกิดขึ้นมาได้ แต่การคัดค้านและเจอเรื่องน้ำท่วมเข้าไป ทำให้ข้อเสนอนิติราษฎร์เงียบไป เลยต้องเต้ากระแสขึ้นมาใหม่ อีกไม่นานกลุ่มเดิมคงออกมาอีก
คงเกิดการแก้รัฐธรรมนูญผ่านคณะกรรมการปรองดองของคณะกรรมการชุดต่างๆ โดยเอาข้อเสนอนิติราษฎร์มาเป็นตัวแกน ตามให้ดีมันมาเป็นแพกมาเป็นกลุ่ม คราวนี้เขาตอ้งมั่นใจว่าเข้ามาแล้วต้องอิสระจริงๆ