xs
xsm
sm
md
lg

“ประชา” มั่นใจกรุงเทพฯ ไม่ท่วม - สธ.เผยคนเครียดเข้าหลักแสน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก (แฟ้มภาพ)
“ประชา” บอก “ฝนยังไม่ตก อย่าเพิ่งกางร่ม” มั่นใจกรุงเทพฯ ไม่ท่วม เผยประชาชนต้องการไฟฉายมากสุด ด้าน “บิ๊กอ๊อด” รับ “นวนคร” จมบาดาลแล้ว ยังหวังกู้ได้หาก ศปภ.ไม่ปล่อยน้ำเพิ่ม ยันกองทัพทำหน้าที่จนเสร็จภารกิจ ประสานขอ ฮ.ชีนุกช่วยขนของต่อ “ชุมพล” ทำใจต่างชาติเตือนเลี่ยงเที่ยวไทย รับกระทบเป้าหมายแน่ “ปลอด” ยันโครงการเรือดันน้ำ ยังทำหน้าที่ไม่ได้หาย ซัดคนปล่อยข่าวเรือรับเงินแล้วหาย ส่วน สธ.เผยคนเครียดเข้าหลักแสน เหตุพื้นที่น้ำท่วมขยายวงกว้างเตรียมจับมือ ก.แรงงานเยียวยาจิตใจ จัดหางานในศูน์ยอพยพ



เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 18 ต.ค. ที่ท่าอากาศยานดอนเมือง พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย(ศปภ.) ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ถึงพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมนวนคร จ.ปทุมธานี เกิดรูรั่วน้ำท่วมทะลักเพิ่มอีกจุดว่า ตนได้สำรวจพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมดังกล่าวแล้ว พบว่ามีน้ำมากพอสมควร ประมาณร้อยละ 30-40 แต่ยังมีพื้นที่ที่ปลอดภัยอยู่บ้างประมาณร้อยละ 50-60 ทั้งนี้มีการเสนอจากทางนิคมอุตสาหกรรมนวนครที่ขอให้เปิดประตูระบายน้ำ 5 บาน ซึ่งตนไปดูแล้ว และจะดำเนินการให้เปิดในวันนี้(18 ต.ค.) แต่สิ่งสำคัญคือต้องทำความเข้าใจกับประชาชนที่อยู่ในบริเวณนั้น เพราะถ้าเราเปิดประตูระบายน้ำดังกล่าว เขาก็ปิด ซึ่งอาจเป็นเพราะยังมีการพูดคุยที่ยังไม่ลงรอยกันเท่าไหร่ ตอนนี้จึงถึงขั้นต้องมีการจับเข่าคุยกันว่าถ้าไม่ทำตามแผนที่เราวางไว้ ผลเสียหายจะเกิดต่อส่วนรวมอย่างไร นอกจากนี้ต้องให้ กทม.ทำแนวกั้นเสริมให้เสร็จ เราจะป้องกันกรุงเทพฯ ไว้ให้ได้ โดยให้คันกั้นน้ำทำให้น้ำไหลออกไปทางตะวันออกและตะวันตก ซึ่งเราต้องหารือกับ กทม.ว่ามีความพร้อมแค่ไหน โดยในช่วงบ่ายวันนี้ ตนจะประชุมกับกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรุงเทพมหานคร(กทม.) ให้ได้ข้อยุติว่าเราต้องทำอย่างไรบ้าง

ผอ.ศปภ. กล่าวอีกว่า ตนได้ไปสำรวจพื้นที่แล้ว พบว่าบริเวณใต้คลองระพีพัฒน์แยกตกลงมา มีประชาชนกำลังทำนาปลูกข้าวขึ้นยอดอ่อนแล้ว รวมถึงมีสวนส้มและพืชไร่ต่างๆ จำนวนมาก ซึ่งตรงนั้นเป็นพื้นที่ทางน้ำผ่านไปยังฝั่งตะวันออก แต่ตอนนี้ยังไม่ได้รับผลกระทบใดๆ การที่เราสูบน้ำจากคลองระพีพัฒน์แยกใต้ลงไปทาง จ.ปราจีนบุรี ลงไปยังแม่น้ำบางปะกงนั้น ทำได้น้อยและช้า จึงต้องเปิดประตูระบายน้ำบ้าง ดังนั้นต้องมีการพูดคุยกับ กทม.เพื่อทำความเข้าใจกันว่าทาง กทม.มีแนวกั้นไว้อย่างไร

“สิ่งที่เราวางไว้แต่เดิมมันถูกแล้ว แต่มวลชนยังไม่เห็นด้วย เราจึงต้องทำความเข้าใจกับตรงนี้ คงต้องมีการดูแลกันบ้าง ทั้งนี้ เราต้องเอาภาพรวมไว้ ภาพรองลงมาก็ต้องยอมกันบ้าง มีถูกกระทบกันบ้าง ดังนั้นต้องมีการพูดคุย และต้องพยายามให้กระทบน้อยที่สุด จะทำให้น้ำที่จะลงแม่น้ำเจ้าพระยาและส่วนที่จะลงแม่น้ำบางปะกง เกิดสมดุลให้ได้”ผอ.ศปภ. กล่าวและว่า ขณะนี้ยังไม่จำเป็นที่ถึงขั้นต้องบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ขอให้พูดคุยกันก่อน

พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงสถานการณ์น้ำที่เข้าท่วมนิคมอุตสาหกรรมนวนคร ซึ่งทางกองทัพได้รับผิดชอบในการเข้าควบคุมและแก้ไขปัญหาว่า พนังกั้นน้ำซึ่งเป็นกระสอบทรายนั้น น้ำสามารถซึมผ่านได้ตลอดเวลา รวมทั้งน้ำบางส่วนได้ไหลเข้ามาในพื้นที่ถนน ก็จะไหลลงท่วม ทำให้น้ำพุ่งขึ้นที่ด้านหน้านิคมนวนคร ทำให้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นตลอดเวลา วานนี้ (17 ต.ค.) ตอนที่ตนอยู่ในพื้นที่ก็ได้มีน้ำท่วมเข้าไปกว่า 20 เปอร์เซ็นต์แล้ว เมื่อตอนออกมาจากพื้นที่ก็เพิ่มขึ้นมาประมาณ 40 เปอร์เซนต์

แต่ล่าสุดช่วงเช้าที่ผ่านมาผู้การกรมทหารราบที่ 1 ซึ่งควบคุมพื้นที่อยู่ได้รายงานว่าน้ำท่วมไปกว่า 80-90 เปอร์เซ็นต์แล้ว หากว่ามีการเปิดประตูระบายน้ำเพื่อนำน้ำออกจากพื้นที่นิคมนวนครบางส่วนตามที่ร้องขอไป ก็คิดว่ายังสามารถกู้พื้นที่ได้ โดยกั้นทำนบน้ำขึ้นมาใหม่เป็นชั้นๆ และทำการดูดน้ำออกทีละชั้น เพราะขณะนี้โรงงานต่างๆ มีการกั้นกระสอบทรายและสูบน้ำออกจากพื้นที่โรงงานอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นน้ำส่วนมากก็จะออกมาอยู่บนถนนและง่ายต่อการสูบน้ำออกจากพื้นที่นิคมนวนครทั้งหมด ซึ่งทางผู้บริหารนิคมนวนครก็ประเมินว่าหากน้ำไม่มากไปกว่านี้ก็จะสามารถกู้พื้นที่ได้ แต่ถ้ามามากกว่านี้ก็คงลำบาก โดยได้ประสานทางศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ว่าอย่าระบายน้ำเข้าพื้นที่มากกว่านี้

พล.อ.ยุทธศักดิ์กล่าวอีกว่า ในส่วนของกำลังพลที่อ่อนล้าจากการเข้าควบคุมสถานการณ์ที่นวนครนั้น ก็พยายามให้ผลักกันพักผ่อน และเมื่อคืนที่ผ่านมาก็ได้ให้คนงานในนิคมช่วยกันบรรจุกระสอบทราย เชื่อว่าหากสถานการณ์คลี่คลายไปกว่านี้ก็จะสามารถระดมคนเข้าช่วยในพื้นที่ได้มากกว่านี้ และทางนิคมนวนครก็ร้องขอให้เฮลิคอปเตอร์ชีนุกอยู่ต่ออีกระยะหนึ่ง เพื่อช่วยในการขนย้ายสิ่งของต่างๆ ซึ่งได้ประสานขออนุญาตทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ไปแล้ว รวมทั้งในส่วนของกำลังพลทหารที่จะอยู่ต่อจนหมดภารกิจ

นายชุมพล ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวยอมรับขณะนี้หลายประเทศได้มีการประกาศให้คำแนะนำกับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาเที่ยวในประเทศไทย โดยให้ใช้ความระมัดระวังและเลี่ยงพื้นที่ที่ประสบภัยน้ำท่วม ซึ่งการประกาศดังกล่าวมีผลกระทบต่อตัวเลขของนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศไทย แต่เชื่อว่าไม่มากนัก เพราะจากตัวเลขของคนต่างชาติที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองที่สนามบินสุวรรณภูมิพบว่าตัวเลขยังคงอยู่ในระดับปกติ ส่วนอุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยวขณะนี้ได้รับรายงานว่าได้รับผลกระทบทางด้านการคมนาคม จึงทำให้บางบริษัทต้องเปลี่ยนแปลงสถานที่ที่จะพานักท่องเที่ยวไปเยี่ยมชม

ในส่วนมาตรการฟื้นฟูด้านการท่องเที่ยวหลังน้ำลด นายชุมพลกล่าวว่า ขณะนี้ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหามาตรการทำแคมเปญท่องเที่ยว ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะมีการเปิดโครงการท่องเที่ยวฟรีในบางพื้นที่

นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการะทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวยืนยันว่าขณะนี้เรือที่เข้าร่วมโครงการเรือประชาอาสาดันน้ำลงสู่ทะเล ยังคงปฏิบัติหน้าที่เต็มจำนวนที่เข้าร่วมโครงการ ด้วยการกระจายไปปฏิบัติหน้าที่ในส่วนต่างๆ ที่ได้มีการวางแผนไว้ ส่วนที่มีข่าวระบุว่าเหลือเรือเพียงไม่กี่ลำที่ร่วมทำโครงการ เพราะบางลำมารับเงินแล้วเดินทางกลับนั้น ไม่เป็นความจริง ซึ่งคนที่พูดนั้นโกหก อย่างไรก็ตามโครงการดังกล่าวนั้นยืนยันว่าสามารถเพิ่มความเร็วของกระแสน้ำให้ไหลลงสู่ทะเลได้มากขึ้น

“ขณะนี้ยังไม่ได้มีการจ่ายเงินให้กับเจ้าของเรือที่นำเรือเข้ามาร่วมโครงการแม้แต่บาทเดียว ตอนนี้รัฐบาลได้ให้การสนับสนุนเฉพาะค่าน้ำมันฟรีเท่านั้น”

นายปลอดประสพกล่าวอีกว่า ขณะนี้ได้มีการประสานงานไปยังกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้ช่วยตัดไม้ไผ่จากป่า มาทำเป็นแพเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ที่ประสบภัยน้ำท่วมได้ใช้สัญจร แทนเรือที่ทำจากไฟเบอร์นั้นไม่มีจำหน่ายแล้วขณะนี้ อย่างไรก็ตาม จากการที่ประเมินน้ำท่วมขัง คาดว่าจะมีน้ำขังในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะบริเวณทุ่งนา นานอีก 1 เดือนหลังจากนี้ เบื้องต้นตนได้รับคำแนะนำมากจากทางกรมชลประทานของประเทศจีน ถึงการระบายน้ำออกจากพื้นที่ต่างๆ คือ ต้องมีการแบ่งเป็นพื้นที่เป็นเซลเล็กๆ และใช้เครื่องสูงบน้ำเร่งระบายน้ำออกไป

ผู้สื่อข่าวถามความเห็นต่อกรณีที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.ระบุเมื่อค่ำวันที่ 17 ต.ค. ว่าเหลือเวลาอีก 48 ชั่วโมงที่น้ำจากนิคมอุตสาหกรรมนวนครจะไหลมาถึง กทม. นายปลอดประสพกล่าวว่า ตนไม่ทราบ ส่วนปริมาณน้ำจะเข้าพื้นที่ กทม.นั้นจะท่วมสูงหรือไม่ต้องขึ้นอยู่กับพื้นที่ว่าเป็นที่ลุ่มหรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นนายปลอดประสพพยายามเดินหลบการซักถามของสื่อ โดยก่อนจะขึ้นลิฟต์นั้น ได้พูดว่า “เรื่องน้ำท่วมนั้นอยากให้ไปสอบถามหน่วยงานที่ดูแลเกี่ยวกับน้ำเป็นหลัก ส่วนผมพูดอะไรมากจะไม่ดี”

นายต่อพงษ์ ไชยสาส์น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการดูแลผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่อยู่ในศูนย์อพยพว่า มาตรการใดๆ ที่รัฐบาลจะทำลงไปจะเป็นยุทธศาสตร์ จะมีการเยียวยา มีการดำเนินกิจกรรมให้มีประโยชน์ต่อกลุ่มคนที่อยู่ ไม่ว่าจะเป็นการเยียวยาด้านจิตใจ จัดหางาน วิชาชีพเสริม โดยกรมสุขภาพจิตสนธิกำลังกับกระทรวงแรงงาน และหน่วยงานต่างๆ เพื่อที่จะให้ประชาชนที่อยู่ยังศูนย์อพยพได้มีกิจกรรม และเพื่อไม่ให้เกิดอาการซึมเศร้า สามารถผ่อนคลายจากภาวะความเครียดสูง และหากถึงขึ้นเกิดความเครียดถึงขั้นฆ่าตัวตาย ก็จะมีเรื่องของยาเข้าไปเสริม เวลานี้กำลังใจดีที่สุด

ผู้สื่อข่าวถามว่า เวลานี้ผู้ที่อยู่ในภาวะมีความเครียดอยู่ที่จำนวนเท่าไร นายต่อพงษ์ กล่าวว่า วันนี้ประชาชนที่ประสบปัญหาอุทกภัยที่มีอาการเครียดสูงถึง 9 หมื่นคน จะเข้าไปที่แสนคนแล้ว ยอมรับว่าไม่สามารถสกัดได้อยู่ เนื่องจากเกิดพื้นที่น้ำท่วมมากขึ้น แต่จะขีดวงจำกัดผู้ที่มีความเครียดสูงที่มีอยู่กว่า 5- 6 พันคน ซึ่งเชื่อว่าในส่วนนี้เราจะเอาอยู่ ที่นอกจากจะมีดารา นักร้อง ตลก ที่เข้ามาช่วยในเรื่องของฟื้นฟูจิตใจแล้ว จะมีการขอความร่วมมือไปยังนักศึกษาจิตแพทย์ เพื่อเข้ามามีส่วนร่วมในการเยียวยา

สำหรับการดูแลรักษาและป้องกันไม่ให้เกิดโรคระบาดนั้น นายต่อพงษ์กล่าวว่า วันนี้มีมาตรการที่จะไปดูพื้นที่ที่สถานการณ์น้ำได้ลดลงแล้วว่า มีภาวะโรคที่มากับน้ำตามมาหรือไม่ ณ วันนี้สามารถควบคุมโรคระบาดได้ และสิ่งสำคัญสุดคือ เรื่องของการขอความร่วมมือภาคประชาสังคม ภาคประชาชนว่า มาตรการที่รัฐบาลรณรงค์ในเรื่องของสุขอนามัยต้องได้รับความร่วมมือ ไม่อย่างนั้นจะยากลำบากที่จะนำไปสู่เป้าหมายได้ ส่วนปัญหาฟาร์มไก่ ที่บางประอินตายเป็นจำนวนมาก จนส่งผลให้เกิดเชื้อแบคทีเรีย และก๊าซมีเทน ในรัศมี 150 เมตร ประมาณครึ่งกิโลเมตร ต้องมีการใส่หน้าก๊าซ เพราะก๊าซจะกระจายไปในพื้นที่ ในด้านของรัฐเองก็มีหน้าที่ในการควบคุมไม่ให้มีการกระจายออกไป วันนี้เราก็ได้รับการสนับสนุนภาคเอกชนหาเทคโนโลยีมาขจัดปัญหา ขณะเดียวกัน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็ดำเนินการแก้ไขอยู่ แต่ก็ต้องมีมาตรการเสริมด้วยหากไม่สามารถสกัดกั้นได้
กำลังโหลดความคิดเห็น