xs
xsm
sm
md
lg

คลอง4-5แตก น้ำจ่อทะลักกรุง พุทธมณฑลเตือนรีบขนย้าย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน-"นวนคร" สุดแก้ไข น้ำท่วมเต็มพื้นที่ ต้องตัดไฟฟ้า เร่งอพยพคนออก "ยิ่งลักษณ์" บินสำรวจสถานการณ์น้ำโดยรวมรอบกทม. สั่งเปิดประตูคลอง 1-6 เร่งระบายน้ำลงทะเล ก่อนทะลักท่วมกทม.ชั้นใน แต่ยังเจอปัญหาความขัดแย้งของประชาชน ล่าสุดคันกั้นน้ำคลอง 4 คลอง 5 แตก น้ำทะลักไหลรวมคลองรังสิตจ่อเข้ากรุง ประกาศเตือนคนพุทธมณฑลรีบขนย้ายของขึ้นที่สูง มธ.ศูนย์รังสิตประกาศหยุดรังผู้ประสบภัย

หลังจากคันกั้นน้ำของนิคมอุตสาหกรรมนวนครแตก เมื่อช่วงสายของวันที่ 17 ต.ค.ที่ผ่านมา ทำให้น้ำทะลักเข้าท่วมพื้นที่นิคมฯ จนต้องอพยพคนออกนอกพื้นที่ ขณะที่เจ้าหน้าที่ทหารก็เร่งระดมแก้ไขอุดรอยแตกของคันกั้นน้ำ แต่ไม่สำเร็จ ทำให้น้ำเอ่อท่วมพื้นที่ภายในนิคมเกือบทั้งหมด

**"ประชา"ระบุน้ำท่วมนวนครแค่30-40%

เวลา 09.00 น.วานนี้ (18 ต.ค.) พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงสถานการณ์น้ำในนิคมฯ นวนคร ว่า ตนได้เข้าไปสำรวจแล้ว พบว่ามีพื้นที่ถูกน้ำท่วมไปแล้วประมาณ 30-40% ยังมีพื้นที่ปลอดภัยเหลืออยู่ประมาณ 50-60%

ทั้งนี้ มีการเสนอจากทางนิคมฯ นวนคร ที่ขอให้เปิดประตูระบายน้ำ 5 บาน ซึ่งตนไปดูแล้ว และจะดำเนินการให้เปิดให้ แต่สิ่งสำคัญ คือ ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนที่อยู่ในบริเวณนั้น เพราะถ้าเปิดประตูระบายน้ำ เขาก็ปิด ซึ่งอาจเป็นเพราะยังมีการพูดคุยที่ยังไม่ลงรอยกันเท่าไร ตอนนี้จึงถึงขั้นต้องมีการจับเข่าคุยกันว่าถ้าไม่ทำตามแผนที่วางไว้ ผลเสียหายจะเกิดต่อส่วนรวมอย่างไร

นอกจากนี้ ต้องให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) ทำแนวกั้นเสริมให้เสร็จก่อน เพื่อจะป้องกันกรุงเทพฯ ไว้ให้ได้ โดยให้คันกั้นน้ำ ทำให้น้ำไหลออกไปทางตะวันออกและตะวันตก ซึ่งต้องหารือกับกทม.ว่ามีความพร้อมแค่ไหน โดยจะประชุมกับกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรฯ และกทม. ให้ได้ข้อยุติว่าต้องทำอย่างไรบ้าง

"มั่นใจว่า จะไม่มีน้ำท่วมในกทม.แน่นอน เราอย่าเพิ่งไปคิด หรือตระหนกไปก่อน ฝนยังไม่ตก อย่าเพิ่งกางร่ม แต่อย่างไรก็ตาม หากเกิดมีน้ำทะลักเข้ามาในกทม.จริงๆ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ก็มีแผนเตรียมการไว้อยู่แล้ว"

**ทหารรายงานท่วมแล้ว90%

พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมว.กลาโหม กล่าวถึงสถานการณ์น้ำที่เข้าท่วมนิคมฯ นวนคร ว่า ผู้การกรมทหารราบที่ 1 ซึ่งควบคุมพื้นที่อยู่ ได้รายงานว่าน้ำท่วมไปกว่า 80-90% แล้ว หากว่ามีการเปิดประตูระบายน้ำเพื่อนำน้ำออกจากพื้นที่นิคมฯ นวนคร บางส่วน ตามที่ร้องขอไป ก็คิดว่ายังสามารถกู้พื้นที่ได้ โดยกั้นทำนบน้ำขึ้นมาใหม่เป็นชั้นๆ และทำการดูดน้ำออกทีละชั้น เพราะขณะนี้โรงงานต่างๆ มีการกั้นกระสอบทรายและสูบน้ำออกจากพื้นที่โรงงานอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น น้ำส่วนมากก็จะออกมาอยู่บนถนน และง่ายต่อการสูบน้ำออก ซึ่งทางผู้บริหารนิคมฯ นวนคร ก็ประเมินว่าหากน้ำไม่มากไปกว่านี้ ก็จะสามารถกู้พื้นที่ได้ แต่ถ้ามามากกว่านี้ก็คงลำบาก

ส่วนกำลังพลที่อ่อนล้าจากการเข้าควบคุมสถานการณ์ที่นวนครนั้น ก็พยายามให้ผลัดกันพักผ่อน และยังได้ให้คนงานในนิคมช่วยกันบรรจุกระสอบทราย เชื่อว่าหากสถานการณ์คลี่คลายไปกว่านี้ ก็จะสามารถระดมคนเข้าช่วยในพื้นที่ได้มากขึ้น และทางนิคมฯ นวนคร ก็ร้องขอให้เฮลิคอปเตอร์ซีนุกอยู่ต่ออีกระยะหนึ่ง เพื่อช่วยในการขนย้ายสิ่งของต่างๆ ซึ่งได้ประสานขออนุญาตทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ไปแล้ว รวมทั้งในส่วนของกำลังพลทหารที่จะอยู่ต่อจนหมดภารกิจ

** ใช้แผนแบ่งโซนเร่งกู้นวนคร

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. กล่าวถึงการแก้ปัญหานิคมฯ นวนครว่า ยังมีความหวังว่า จะกู้ให้ได้ ส่วนนิคมอื่นๆ ไม่ได้ทิ้ง แต่รอให้ระดับน้ำทรงตัว และจะทำคันกั้นใหม่ ดูดน้ำออกเป็นโซนๆ เพื่อจะกู้แต่ละโรงงานกลับมาให้ได้ เพราะถ้าน้ำไหลอยู่ ก็ทำอะไรไม่ได้ ส่วนกทม.ที่ต้องเฝ้าระวัง คือ พื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณทางน้ำ คลองส่งน้ำ ที่ต้องระวังน้ำล้นตลิ่ง ขอให้ฟังการประกาศของส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ในส่วนของกรุงเทพฯ ฟังประกาศของ กทม. ส่วนทหารส่งกำลังไปสนับสนุนบางจุด ที่ร้องขอมา ขอให้เชื่อมั่น

อย่างไรก็ตาม ในการผันน้ำ ต้องฟังทางศปภ. ซึ่งเขาจะผันน้ำไปทางทิศตะวันตกและทิศตะวันออก แต่ปัญหา คือ ประชาชนที่อยู่ริมแม่น้ำจะโดนก่อน จากน้ำล้นตลิ่ง ความเสี่ยงอยู่ตรงนี้ ต้องเตรียมตัวให้พร้อม และถ้าพื้นที่ตรงนี้ท่วมแล้ว ต่อไปก็จะเข้าในโซนชั้น 2 ชั้น 3

**ผบ.ทบ.ขอความร่วมมือแก้ปัญหา

เมื่อถามว่า ประชาชนรู้สึกว่า รัฐบาลแก้ปัญหาตามน้ำ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า คงไม่ใช่ เราอย่าพูดว่า ใครผิดใครถูก แต่ต้องดูว่าจะบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนอย่างไร โดยไม่ให้เสียชีวิต อย่าไปโทษกัน ต้องทบทวนว่าเมื่อเกิดขึ้นจะแก้ปัญหาอย่างไร ต้องเข้าใจว่าน้ำที่มาเป็นล้านลูกบาศก์เมตร วิธีเดียว คือ การกระจายน้ำออกให้เร็วที่สุด ไปตามคลองส่งน้ำ คลองที่เราไปขุดลอกไว้ แต่ถ้าท้ายน้ำยังตันอยู่ น้ำทะเลยังสูง ก็ระบายได้ช้า ก็ต้องดูว่าน้ำทะเลหนุนสูงหรือไม่ แต่น้ำทะเลจะหนุนสูงในวันที่ 18 ต.ค. และอีกช่วงหนึ่ง คือ วันที่ 28-30 ต.ค.

"เรื่องแก้ปัญหาน้ำท่วม คนไทยเราเป็นคนไม่ยอมกัน หากเห็นตรงไหนท่วม แล้วอีกที่ไม่ท่วม ก็เกิดปัญหา จะต้องให้ท่วมกันทั้งหมด เฉลี่ยความทุกข์สุขให้เท่าๆ กัน นี่คือ คนไทย ไม่มีใครเหมือน คนไทยเก่งกว่าเพื่อน ไม่ว่าประเทศรอบบ้านที่ไหนก็สู้คนไทยไม่ได้ ทั้งยอกย้อน ซ่อนเงื่อน ครบหมด คนไทยไม่ได้มาจากเทือกเขาอัลไตหรอก แต่อยู่กันแถวๆ นี้ จงภูมิใจเถอะว่า เราเป็นเจ้าของพื้นที่แห่งประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ ตอนนี้ทหารถูกใช้งานเยอะมาก ทั้งดูแลสถานการณ์ภาคใต้ ดูแลชายแดน พอมีตีกันในกรุงเทพฯ หรือมีปัญหาน้ำท่วม ก็ใช้ทหารชุดเดิมในการแก้ไขปัญหา น้ำท่วมครั้งนี้คงทำให้เรารัก และสามัคคีกันมากขึ้น"ผบ.ทบ. กล่าว

**วิกฤติหนัก"ตัดไฟ"นวนคร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงบ่าย สถานการณ์น้ำในนิคมฯ นวนคร ได้วิกฤติหนักยิ่งขึ้น เนื่องจากน้ำยังไหลทะลักเข้ามาในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง บนถนนสายต่างๆ ในนิคมฯ ระดับน้ำสูงกว่า 1 เมตร ทำให้การอพยพผู้คนออกจากเพื้นที่เป็นไปด้วยความยากลำบาก และไฟฟ้าในนิคมฯ ก็ถูกตัดไปแล้ว
**นายกฯเครียดรัฐมนตรีไม่ทำการบ้าน

ในการประชุมครม.เมื่อวานนี้ (18 ต.ค.) แหล่งข่าวจากที่ประชุมครม. เปิดเผยว่า ในช่วงแรกมีรัฐมนตรีมาน้อย เพราะต่างคิดว่า คงไม่มีเรื่องพิจารณาอะไร นอกจากเรื่องน้ำท่วม ทำให้การประชุมต้องเริ่มในเวลา 09.40 น.

อย่างไรก็ตาม ทันทีที่นายกฯ ได้หยิบยกเรื่องการหารือระหว่างนายกฯ และรัฐมนตรี เป็นรายกระทรวงเกี่ยวกับการช่วยเหลือ ดูแลฟื้นฟูผู้ประสบอุทกภัย ทำให้บรรดารัฐมนตรีต่างต้องรีบเข้ามาในที่ประชุม และบางคนต้องรีบโทรศัพท์สั่งการไปยังข้าราชการในสังกัด เพื่อให้เตรียมข้อมูลการวางแผนงานที่นายกฯ มอบหมายให้รับผิดชอบ เนื่องจากนายกฯ ได้สั่งการมอบหมายการบ้านให้รัฐมนตรีแต่ละกระทรวงรับผิดชอบอย่างละเอียด โดยจัดเป็นหมวดหมู่ใหม่ โดยกำชับให้เร่งส่งการบ้านเป็นการด่วน พร้อมทั้งมอบให้ไปจัดวางแผนแก้ปัญหาระยะยาว 4 ระยะ จนทำให้รัฐมนตรีบางคนถึงกับแสดงความกังวล และขอหารือกับครม.ว่า งานที่ตัวเองได้รับนั้น เหมือนหรือแตกต่างจากที่เคยได้รับอย่างไร หรือไม่

ยกตัวอย่างเช่น นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรฯ และนพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.อุตสาหกรรม โดยทั้ง 2 คน แสดงความวิตกกังวลว่า ที่นากยฯ สั่งการจะให้ส่งแผนงานนั้น ขอส่งในวันจันทร์ที่ 24 ต.ค. ได้หรือไม่ แต่นายกฯ ไม่ยอม พร้อมทั้งกำชับว่า อย่างน้อยทุกกระทรวง ต้องส่งภายในเที่ยงวันศุกร์ที่ 21 ต.ค.นี้ แม้ว่าแผนจะไม่เสร็จทั้งหมด แต่นายกฯ จะขอเท่าที่ทำได้มากที่สุด ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาว ก็อนุโลมให้ส่งวันจันทร์ได้

** "กิตติรัตน์"เสนอเร่งกู้เงินมาช่วยเหลือ

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ กล่าวกับครม.ด้วยสีหน้าเคร่งเครียด และมีน้ำตาคลอเบ้า จนรัฐมนตรีที่นั่งข้างๆ แซวว่า “อย่าร้องไห้นะ” โดยนายกิตติรัตน์เน้นย้ำว่า อุทกภัยที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ได้ส่งผลกระทบและเกิดความเสียหายมหาศาล ดังนั้น เราต้องเตรียมการรับมือเอาไว้ด้วย เพราะนี่เข้ามาในช่วงเดือนต.ค.แล้ว แต่ฝนยังไม่หยุดตกเลย เมื่อไปถึงเดือนพ.ย. หากเราวางแผนระยะยาวไม่ดีพอ อีกไม่ถึง 6 เดือน ถ้าน้ำเติมเข้ามาอีก ปัญหาก็จะกลับมาอีกเหมือนเดิม

ดังนั้น เราต้องสร้างอะไรขึ้นมาเพื่อสร้างความเชื่อมั่น ก็ต้องทำแล้ว จะกู้เงินเท่าไร ก็ต้องกู้

**รัฐบาลพร้อมช่วยขนย้ายเครื่องจักร

ขณะที่พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม ในฐานะอดีต รมว.อุตสาหกรรม ระบุว่า บรรดาโรงงานต่างๆ ก็มีติดต่อมาที่ตนบ้างเหมือนกัน ซึ่งตนก็ไม่รู้เหมือนกันว่าต้องไปคุยกับใคร ตอนนี้มีโรงงานติดต่อมาที่ตนเพื่อขอพื้นที่ 2.5 หมื่นตารางเมตร เพื่อที่จะขนย้ายเครื่องจักรมาเก็บรักษาไว้ ซึ่งต้องเป็นพื้นที่สูง น้ำไม่ถึง และมีระบบจัดการที่ดี ไม่ทำให้เครื่องจักรเขาเสียหาย จนทำให้ นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.อุตสาหกรรม รีบพูดว่า ทำไมโรงงานเหล่านั้นถึงไม่ติดต่อมาที่ตน ทั้งที่ตนก็เตรียมการไว้แล้วว่า จะใช้รถของทหาร ขสมก. หรือรถของกระทรวงคมนาคม ไปขนย้าย จนทำให้นายกฯ ต้องกล่าวแย้งขึ้นว่า อย่าไปยึดติดว่า จะรถของหน่วยงานของรัฐ หรือไม่ เพราะหากระบบการขนย้ายไม่ดี อาจทำให้ความเสียหายมากขึ้นอีก ถ้าจำเป็นต้องจัดจ้างเอกชนที่เป็นมืออาชพในการขนย้าย ก็ทำไปเถอะ เพราะแค่นี้โรงงานต่างๆ เขาก็เสียหายหนักอยู่แล้ว ขอฝาก กระทรวงพาณิชย์ ช่วยไปหาข้อมูลว่า มีบริษัทใดเป็นมืออาชีพในการขนย้ายครื่องจักรขนาดใหญ่ ถ้าดีที่สุดก็ให้ไปถามทางโรงงานว่า ใครเป็นคนขนย้ายเครื่องจักรให้ตอนซื้อมา ทางรัฐบาลยินดีออกค่าใช้จ่ายในการขนย้ายให้

** ครม.สั่งทำแผนแก้ปัญหา 4 ระยะ

นางฐิติมา ฉายแสง โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุม ครม.ถึงการแก้ปัญหาน้ำท่วมว่า นายกรัฐมนตรี ได้แบ่งระยะของการแก้ไขและการป้องกันออกเป็น 4 ระยะ คือ 1.การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเร่งด่วน โดยให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดดำเนินการทันที อย่างเต็มที่ รวมทั้งให้ผู้บัญชาการกองทัพเข้าไปแก้จังหวัดที่มีสถานการณ์รุนแรง 2.ภาวะน้ำท่วมจะทำให้ประชาชนต้องอยู่กับน้ำ 4-6 สัปดาห์ ดังนั้น ทุกกระทรวง ทบวง กรม จะต้องมีมาตรการรองรบกับวิถีชีวิตของประชาชน 3.ระยะฟื้นฟูหลังน้ำลด ซึ่งรัฐบาลได้คณะกรรมการขึ้นมาแล้ว 3 ชุด แต่ก็จำเป็นต้องทำด้วยความเร่งด่วน และ 4.ต้องปรับโครงการต่างๆ บูรณาการร่วมกันในการป้องกัน โดยจะให้นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย ซึ่งเป็นคณะทำงานติดตามเรื่องน้ำท่วมและดินโคลนถล่ม เร่งรัดให้คณะกรรมการชุดนี้มีผลงานออกมาโดยด่วน เพื่อตัดสินใจ ในการงวางแผนสร้างเขื่อน ทำแก้มลิงต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุน และเป็นการปรับตัว ประคองตัวเพื่อดูแลประชาชนให้ได้

"นายกฯ ได้สั่งให้สภาพัฒน์เป็นศูนย์กลางในการส่งแผน 4 ระยะ ภายในก่อนเที่ยงของวันที่ 21 ต.ค. ท่านนายกฯ บอกว่า รัฐบาลจะต้องพยายามสื่อสารกับประชาชนให้ได้ ทั้งที่อยู่ในศูนย์อพยพ ที่ติดอยู่ในน้ำ หรือผู้ประกอบการที่ได้รับผลบกระทบ ท่านบอกว่าเราต้องทำให้ดีที่สุด แต่เราไม่อาจฝืนธรรมชาติได้"นางฐิติมากล่าว

** "ยิ่งลักษณ์"บินตรวจสถานการณ์น้ำ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 15.25 น. หลังการประชุมครม. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. พล.อ.อ.สุกำพล สุวรณทัต รมว. คมนาคม นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม นายชลิต ดำรงศักดิ์ อธิบดีกรมชลประทาน ได้ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ บินสำรวจศูนย์ อพยพ ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต รวมไปถึงนิคมฯ นวนคร จ.ปทุมธานี แนวคันกั้นน้ำรังสิต แนวคันกั้นน้ำกทม. และถนนสายไหม นิมิตรใหม่ ร่มเกล้า พร้อมกับบินผ่านบริเวณท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ สะพานภูมิพล 1 คลองลัดโพธิ์ และรอบกทม. เพื่อสำรวจสถานการณ์น้ำในนพื้นที่ต่างๆ

**จ่อเปิดประตูน้ำคลอง1ถึงคลอง 6

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้สัมภาษณ์หลังการบินสำรวจพื้นที่ภายในกทม.ว่า เส้นทางน้ำสภาพโดยรวมตั้งแต่แนวคลองเปรมประชากร ยาวไปจนถึงคลองระพีพัฒน์ เรามีแนวทางที่จะเปิดประตูน้ำตั้งแต่คลอง 1 ถึง คลอง 6 โดยให้นายยงยุทธ์ วิชัยดิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย เข้าไปเจรจาในพื้นที่ ซึ่งคาดว่าประชาชนจะให้ความร่วมมือ

ทั้งนี้ ถ้าเราเปิดประตูน้ำได้ เราก็จะระบายน้ำออกทางด้านขวา โดยจะเปิดประตูน้ำทั้งหมด 6 ประตู ซึ่งทางกรมชลประทาน จะพยายามประสานงานให้สัมพันธ์ในระดับที่ประตูน้ำจะรองรับน้ำได้ แต่ขณะเดียวกันเราจะมีการองป้องกันในส่วนคลองรังสิตประยูรศักดิ์ ซึ่งเราได้ไปดูแนวพนังกั้นน้ำ บริเวณคลองรังสิตประยูรศักดิ์แล้ว เพื่อให้แน่ใจต่อการเปิดประตูน้ำ ถือว่าเป็นการแบ่งเบาจากด้านบน

ผู้สื่อข่าวถามว่า การเปิดประตูน้ำทั้ง6 ประตู จะมีผลกระทบอย่างไรบ้างต่อประชาชนที่ต้องรับน้ำ นายกฯ กล่าวว่า โดยหลักเราจะพยายามปล่อยน้ำลงสู่แนวคลอง ไล่ออกไปทางด้านขวา จ.ปทุมธานี ซึ่งอาจจะมีผลกระทบบ้าง ซึ่งเราจะไปหารือในรายละเอียดกับพี่น้องประชาชนที่อยู่บริเวณนั้น

** ประตูระบายน้ำพระยาบันลือแตก

ผู้สื่อข่าวถามว่า ได้รับรายงานหรือไม่ว่า ประตูระบายน้ำพระยาบันลือ แตกแล้ว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ทำหน้าแปลกใจ พร้อมกับหันกลับไปถาม นายชลิต ดำรงษ์ศักดิ์ อธิบดีกรมชลประธานว่าได้รับรายงานหรือไม่ ขณะที่นายชลิต กล่าวยอมรับว่า มีข่าวลือก่อนที่ตนจะขึ้นบินกับนายกฯ แต่เช็คแล้วไม่มีอะไร

เมื่อถามว่า ล่าสุดทาง ผู้ว่าฯนนทบุรี เปิดเผยว่า ได้รับรายงานว่าประตูระบายน้ำพระยาบันลือเอาไม่อยู่ ซึ่งปัญหาตรงนี้เป็นผลพวงจากการเปิดประตูระบายน้ำทั้ง 6 บาน หรือไม่ นายชลิต กล่าวว่า ประตูระบายน้ำพระยาบัน ลืออยู่คนละฝั่ง ไม่เกี่ยวข้องกันกับการเปิดประตูระบายน้ำดังกล่าว และนอกจากการเปิดประตูระบายน้ำ 6 บานนั้น เรายังมีทางอื่นที่จะผันน้ำจาก จ.พระนครศรีอยุธยา นิคมฯ นวนคร ไปลงทะเล เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อน

***แนวคันดินกั้นน้ำคลอง4คลอง5พัง

ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำท่วมจาก จ.ปทุมธานี ว่า วานนี้ (18 ต.ค.) เมื่อเวลา 13.40 น.แนวคันดินกั้นน้ำคลองระพีพัฒน์ ที่บริเวณคลอง 4 เกิดพังเป็นระยะทาง 7 เมตร และเมื่อเวลา 17.10 น. คันกั้นน้ำคลองระพีพัฒน์ บริเวณคลอง 5 ได้พังคลืนลงมาอีกเป็นแนวยาวกว่า 40 เมตร และน้ำได้ทะลักเข้าท่วมพื้นที่ อ.คลองหลวง บางส่วนแล้ว ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้เร่งอพยพประชาชนที่อยู่ในชุมชน หมู่ 16 ต.คลอง 5 อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ซึ่งมีอยู่ประมาณ 700 คน ออกจากพื้นที่อย่างเร่งด่วนแล้ว

นายนเรศ เสาะแสวง กำนัน ต.คลอง 5 กล่าวว่า ยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ และเส้นทางน้ำนี้จะไปสมทบกับน้ำบริเวณคลอง 4 ที่คันดินพังก่อนหน้านี้ ทำให้ขณะนี้มีมวลน้ำจากทั้งคลอง 3 คลอง 4 และคลอง 5 ไหลรวมกันไปยังคลองรังสิตประยูรศักดิ์ ซึ่งต้องจับตาดูกันต่อไปว่าคลองรังสิตจะสามารถรับมวลน้ำนี้ได้อีกนานเท่าไร

***สั่งคนพุทธมณฑลเตรียมอพยพ

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า นายอำเภอพุทธมณฑล นครปฐม ให้เจ้าหน้าที่แจ้งไปยังผู้ใหญ่บ้านและผู้นำชุมชนว่าให้แจ้งประชาชนว่าน้ำอาจจะขึ้นอีก 1 เมตร ภายใน 24 ชม. จึงขอให้ประชาชนให้ขนย้ายสิ่งของ และเร่งทำแนวป้องกัน หากใครไม่สามารถอยู่ได้ให้อพยพไปยังศูนย์ที่เตรียมไว้

สำหรับจุดอพยพของ อ.พุทธมณฑล 1.รร.กาญจนาภิเษกวิทยาลัย ต.ศาลายา ติดต่อ รองผอ. 084-6626298 รับคนได้ 1,000 คน รถ 400 คัน 2.มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ต.ศาลายา ติดต่อนายธนากร 086-8807238 รับได้ 500 คน รถ 400 คัน

***นนทบุรีปิดถนนหลังน้ำทะลัก

นายประดิษฐ์ สุคนธสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการ จ.นนทบุรี กล่าวว่า ขณะนี้มีการปิดถนนชัยพฤกษ์ เป็นระยะทางกว่า 3 กิโลเมตรแล้ว หลังมีน้ำจากถนน 345 ไหลบ่าเข้าท่วม โดยกำลังเร่งกู้ให้กลับมาใช้การได้เร็วที่สุด เนื่องจากเป็นถนนสายสำคัญที่เหลืออยู่

ขณะที่สำนักงานบำรุงทางนนทบุรี สั่งปิดถนนหลวง 3 สาย ได้แก่ หน้าหมู่บ้านสมบัติบุรี บางบัวทอง ลาดบัวหลวง และบริเวณคลองพระอุดม ซึ่งมีระดับน้ำท่วมสูง 50-120 เซนติเมตร

**ศปภ. ยันน้ำจากนวนครไม่เข้ามธ.

นายวิม รุ่งวัฒนจินดา โฆษกศปภ. กล่าวว่า น้ำจากนวนคร ยังไม่ไหลเข้าสู่พื้นที่ม.ธรรมศาสตร์รังสิต ยังไม่มีผลถึงพื้นที่อาศัยของประชาชน ส่วนสถานการณ์น้ำคลองระพีพัฒน์แยกตก ทางศปภ.ได้คุยหน่วยงานทีเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกองทัพ เร่งดำเนินการเสริมพนังกั้นน้ำ เพื่อสามารถรับปริมาณน้ำที่จะเข้ามา ขณะที่ประตูบริเวณคันคลองต่างๆ ตั้งแต่ คลอง 2-9 ได้ประสานเปิดประตูระบายน้ำ เพื่อให้น้ำไหลไปสู่บริเวณภาคตะวันออกของ กทม. เพื่อลดแรงน้ำ ฝั่งนวนคร หรือภาคตะวันตก เพราะตอนนี้มีน้ำในจ.ปทุมธานี เพิ่มมากขึ้น

**ขอเวลา 2 วันซ่อมประตูน้ำคลอง 3-4

นายวิมกล่าวว่า ขณะนี้บริเวณคลอง 3 คลอง 4 และคลองระพีพัฒน์ มีประตูระบายน้ำชำรุด เป็นแนวประมาณ 30 เมตร ซึ่งทั้ง 2 จุดห่างกันประมาณ 2-3 กม.โดย ศปภ.ได้ส่งเจ้าหน้าที่ทหารและอุปกรณ์เข้าไปซ่อมแซมแล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จทั้ง 2 จุด ภายใน 2 วัน

ทั้งนี้ ยืนยันว่าที่ผ่านมา เป็นเพียงข่าวลือที่ปล่อยว่าจะมีน้ำท่วมในบริเวณชุมชนดังกล่าว เพราะรัฐบาลสามารถบริหารจัดการบริเวณทุ่งรังสิตไม่ให้เกิดน้ำท่วมได้ ขณะที่แนวทางในการระบายน้ำสู่ทางฝั่งตะวันออก ศปภ.จะเร่งระบายน้ำจากคลอง 8 คลอง 9 คลอง 10 ไปลงคลอง 17 และไหลลงคลองพระองค์ไชยานุชิต ออกประตูระบายน้ำคลองด่าน เพื่อที่จะไหลสู่อ่าวไทย เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีเครื่องสูบน้ำจำนวนมาก ซึ่งสามารถระบายออกได้อย่างรวดเร็ว

ส่วนการระบายน้ำออกทางทิศตะวันตกนั้น จะเร่งระบายน้ำที่ล้นเอ่อเหนือนิคมฯ นวนคร ออกคลองเชียงรากน้อย เชียงรากใหญ่ และคลองสาระพัน เพื่อให้ไหลออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา

** ทอ.สั่งเคลื่อนย้ายเครื่องบินหนีน้ำ

พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผบ.ทอ. กล่าวว่า การเคลื่อนย้ายเครื่องบิน กองทัพอากาศได้วางแผนอพยพ เพราะเครื่องบินเป็นยุทโธปรณ์ที่มีราคาสูง ได้วางแผนไว้เป็นขั้นตอน โดยเครื่องบินที่จะต้องมีการซ่อมบำรุง และใช้เวลาในการขึ้นบินนาน ซึ่งเป็นเครื่องบินที่ปฏิบัติภารกิจได้ไม่ถึง 100% จะพิจารณาให้นำไปก่อน ซึ่งตอนนี้ได้นำเครื่องบินทยอยออกไปที่สนามบินอู่ตะเภา ส่วนเครื่องบินที่ใช้งานได้ตามปกติ ยังอยู่ที่ตั้งเดิม โดยนำเครื่องบินเหล่านี้กระจายอยู่ตามกองบินต่างๆ เพราะพื้นที่ดอนเมืองเป็นพื้นที่ที่ต้องพิจารณาเป็นพิเศษ

**"เด็กปลอด"ทำแพไม้ไผ่แจก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายดำรงค์ พิเดช อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้นำคณะข้าราชการกรมอุทยานฯ เดินทางไปที่ ศปภ. โดยนำแพที่สร้างจากไม้ไผ่ จำนวน 300 แพ พร้อมกับไม้ไผ่สำหรับค้ำถ่อ มามอบให้กับ ศปภ. เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับทางผู้ว่าราชการจังหวัดที่ประสบภัย

นายดำรงค์ กล่าวว่า แพทุกลำที่นำมามอบได้ผ่านการตรวจสอบคุณภาพ คือ สามารถลอยน้ำได้จริง และรองรับน้ำหนักได้ประมาณ 200 ก.ก. ซึ่งขณะนี้ได้เร่งระดมให้หน่วยงานของกรมอุทยานฯ ในพื้นที่ จ.ราชบุรี และชลบุรี เร่งผลิตแพดังกล่าว เพื่อให้ครบ 1 หมื่นแพ ภายในสัปดาห์นี้ โดยคาดว่าจะใช้ไม้ไผ่จาก จ.กาญจนบุรี ซึ่งมีเป็นจำนวนมาก และจะไม่กระทบสิ่งแวดล้อม เพราะไผ่สามารถแตกหน่อ ขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว ทั้งนี้ ความยาวของแพอยู่ที่ประมาณ 2 เมตร กว้าง 1 เมตร สามารถรองรับคนนั่งได้ 2-3 คน โดยมีต้นทุนในการผลิตเพียงแพละ 300 บาทเท่านั้น มีความทนทาน สามารถเก็บไว้ใช้ในฤดูน้ำหลากในปีต่อๆ ไปได้

***มธ.ศูนย์รังสิตแจ้งปิดรับผู้ประสบภัย

ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ มธ.ศูนย์รังสิต ผู้รับผิดชอบศูนย์พักพิงผู้ประสบอุทกภัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ออกแถลงการณ์แจ้งเตือน “ศูนย์รังสิต” มีโอกาสสูงที่จะถูกน้ำท่วมภายใน 2-3 วันนี้ จึงไม่สามารถรับผู้ประสบอุทกภัยเพิ่มเติมได้ หากมีการประสานงานล่วงหน้ามาเป็นกลุ่มใหญ่ ทางศูนย์ฯ จะประสานงานให้ศูนย์พักพิงแห่งอื่นที่เปิดเพิ่มเติม

**ขอ ม.เกษตร-ศรีปทุม เปิดศูนย์อพยพ

นายวรวัจน์ เอื้ออภิญากุล รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ได้มีการประสานไปยังมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เขตบางเขน และ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ให้เปิดสถานที่เป็นศูนย์อพยพให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วม หลังจากที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (รังสิต) มีผู้อพยพเข้าไปเต็มความจุ 3,500 คนแล้ว อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 มหาวิทยาลัย เป็นส่วนที่เพิ่มเติมจาก 104 ศูนย์ของสถาบันการศึกษา ที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศให้เป็นศูนย์อพยพในพื้นที่ 13 จังหวัด ที่ประสบภัยพิบัติ
กำลังโหลดความคิดเห็น