xs
xsm
sm
md
lg

เริ่มแล้วโครงการจำนำข้าวเปลือกทุกเม็ด ขอต้อนรับสู่มหกรรมปล้นกลางนา 2554

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา นับตังแต่การยึดอำนาจ 19 กันยายน 2549 สังคมไทยมีความคิดเห็นแตกแยกกันเป็นฝักฝ่ายแทบทุกเรื่องเกี่ยวกับการเมือง–เศรษฐกิจ จะต้องมีฝ่ายที่คัดค้าน ฝ่ายที่เห็นด้วย ต่างฝ่ายต่างอ้างหลักการ เหตุผลมาสนับนุนความคิดของตนและหักล้างความเห็นของฝ่ายตรงข้าม

เรื่องแปลกแต่จริงคือ ในยุคของรัฐบาลหุ่นเชิด ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นโยบายรับจำนำข้าวเปลือกนาปีฤดูกาลผลิต 2554-2555 เป็นเรื่องเดียวที่นักวิชาการและสื่อซึ่งมีหน้าที่ให้ความเห็นวิพากษ์วิจารณ์นโยบายสาธารณะ ซึ่งปกติจะเห็นต่างกันตามจุดยืนและอคติส่วนตัว แต่ในเรื่องจำนำข้าวนี้ต่างมีความเห็นพ้องต้องกันเป็นหนึ่งเดียว คือเห็นว่านโยบายนี้จะทำลายโครงสร้างตลาดข้าวในประเทศ ทำให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นครั้งมโหฬาร และทำลายความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกของข้าวไทย

เพราะนโยบายการจำนำข้าวเปลือกในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดนั้นเคยเกิดขึ้นมาแล้ว ในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และได้พิสูจน์แล้วว่าล้มเหลวจริง เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นจริง ทั้งยังทำข้าวไทยสูญเสีบส่วนแบ่งในตลาดโลกจริง


บทความเรื่อง “กลับสู่การจำนำข้าวเปลือก” ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ ซึ่งเป็นผู้ผลิตนโยบายประกันราคาข้าวที่รัฐบาลก่อนนำไปใช้ ระบุว่า

“ รัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรได้เปลี่ยนแปลงหลักการสำคัญของการจำนำข้าวเปลือก จากเดิมที่รัฐรับจำนำข้าวเปลือกจากชาวนาในราคาต่ำกว่าหรือใกล้เคียงราคาตลาด มาเป็นการ “รับซื้อ” ข้าวเปลือกจากชาวนาในราคาสูงกว่าราคาตลาด แต่ยังคงชื่อ “การรับจำนำ”

นอกจากการแทรกแซงตลาดข้าวด้วยนโยบายรับจำนำข้าวเปลือกในราคาสูงแล้ว รัฐบาลทักษิณยังพยายามจัดระเบียบการส่งออก เพื่อให้ไทยสามารถขายข้าวส่งออกได้ในราคาแพงขึ้น มาตรการ 2 ด้านที่นำมาใช้ได้แก่การรวมกับประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อีก 4 ประเทศในรูปคณะมนตรีว่าด้วยความร่วมมือค้าข้าวปี 2545 แต่ข้อตกลงนี้ล้มเหลว เพราะเวียดนามขายข้าวต่ำกว่าราคา ทำให้ไทยสูญเสียส่วนแบ่งตลาดที่ตกลงกัน มาตรการที่สองคือการประมูลขายข้าวรัฐบาลส่วนใหญ่ให้แก่บริษัทผู้ส่งออกเพียงรายเดียว แต่บริษัทก็ไม่สามารถส่งเข้าได้ตามสัญญาดั่งรายงานของวุฒิสภาในปี 2548

การรับจำนำข้าวเปลือกในราคาสูงกว่าราคาตลาดทำให้ปริมาณรับจำนำเพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 8.65 ล้านตัน หรือ 38% ของปริมาณผลผลิตข้าวเปลือกปีในฤดู 2548/49 การที่รัฐบาลเพิ่มปริมาณสต๊อกข้าวเปลือก (สูงสุดเกือบ 3.14 ล้านตัน ในปี 2549) ทำให้ราคาข้าวสารในประเทศ และราคาส่งออกสูงขึ้น แต่ผลที่สำคัญคือการสต๊อกที่เพิ่มขึ้น 10% ทำให้ปริมาณการส่งออกลดลง 2.9% ดังนั้นส่วนแบ่งการส่งออกของไทยในตลาดข้าวของโลกจึงลดต่ำกว่าช่วงก่อนและหลังรัฐบาลทักษิณ

นอกจากเม็ดเงินที่ใช้ในการรับจำนำข้าวเปลือกที่ส่วนใหญ่ตกแก่ชาวนาแล้ว การรับจำนำยังก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายแฝงถึงตันละ 1,452 บาท อันได้แก่ค่าจ้างสีแปรสภาพ ค่าเช่าโกดัง ค่าเสื่อมสภาพข้าว และค่าใช้จ่ายของหน่วยงานรัฐในการดำเนินการแทรกแซงตลาดแล้ว แต่ที่สำคัญคือรัฐบาลมีภาระต้องถือสต๊อกข้าวเป็นจำนวนมาก สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินพบว่า จากโครงการจำนำปี 2547/48 ถึงปี 2549/50 จำนวน 10.33 ล้านตัน รัฐบาลระบายข้าวออกเพียง 5.49 ล้านตัน ทำให้มีข้าวค้างสต๊อกถึง 4.84 ล้านตัน ขณะเดียวกันเงินค่าจำนำข้าวทั้งหมดเป็นเงินกู้จาก ธ.ก.ส.ดังนั้นเมื่อรัฐบาลขายข้าวไม่หมด รัฐบาลก็ยังเป็นหนี้ ธ.ก.ส.โดยขณะนี้รัฐบาลยังมีหนี้คงค้างกับ ธ.ก.ส.เป็นจำนวน 1.408 แสนล้านบาท (ณ 31 ก.ค. 2554) สำหรับโครงการจำนำข้าวเปลือกระหว่างปี 2547 ถึงปี 2552 (ซึ่งรวมการจำนำข้าวในสมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช จนถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ด้วย)

เฉพาะโครงการจำนำข้าวในปี 2548/49 จำนวน 5.25 ล้านตัน รัฐบาลกู้เงินมาจ่ายค่าจำนำ 44,797 ล้านบาท มีค่าใช้จ่ายแฝงอีก 6,961 ล้านบาท และประมูลขายข้าวในราคาต่ำ แต่มีรายรับเพียง 32,628 ล้านบาท ทำให้ขาดทุน 19,130 ล้านบาท

แม้รัฐจะใช้เงินแทรกแซงเป็นจำนวนมาก แต่กลับปรากฏว่าชาวนาได้ประโยชน์เพียง 7 พันล้านบาท หรือ 37% ของผลประโยชน์ทั้งหมด ผู้ส่งออกได้เพียงหยิบมือเดียวได้ประโยชน์ถึง 4.47 พันล้านบาท หรือ 24% โรงสี 323 แห่ง (จากกว่า 2,000 แห่ง) ได้ประโยชน์ 3.46 พันล้านบาท หรือ 18% ฯลฯ จึงไม่น่าแปลกใจว่าผู้สนับสนุนนโยบายจำนำข้าวคือโรงสีขนาดใหญ่

นอกจากนั้น โครงการจำนำข้าวยังก่อให้เกิดผลกระทบสำคัญต่อโครงสร้างตลาดข้าวไทย ชาวนาหันมาผลิตข้าวอายุสั้นที่มีคุณภาพต่ำเพื่อจะได้นำข้าวสู่โครงการจำนำปีละหลายครั้ง ข้าวเขมรและพม่าจำนวนมากทะลักเข้าสู่โครงการจำนำ โรงสีในโครงการรับจำนำได้กำไรโดยไม่ต้องใช้ฝีมือในการค้า ตลาดกลางสูญพันธุ์ พ่อค้าท้องถิ่นบางส่วนหันมาทำธุรกิจโรงสี ทำให้โรงสีมีกำลังการผลิตส่วนเกินกว่า 60 ล้านตัน ขณะที่ผลผลิตข้าวตลอดปีมีเพียง 30 ล้านตัน

โครงการรับจำนำข้าวเปลือกในราคาสูงจึงสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจข้าวไทย ชาวนาผลิตข้าวคุณภาพต่ำขายให้รัฐบาลด้วยต้นทุนสูงขึ้น ไทยเริ่มสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้คู่แข่ง เกิดกระบวนการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนเกินจากเงินแทรกแซงของรัฐ ขณะที่รัฐสร้างภาระหนี้แบบปลายเปิดให้คนรุ่นหลัง”

รู้ทั้งรู้ว่าล้มเหลว แต่โครงการจำนำข้าวเป็นไฟต์บังคับของ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ไม่ใช่เพราะหาเสียงไว้แล้ว แต่เพราะผลประโยชน์มหาศาลที่จะไหลเข้าพกเข้าห่อผู้อยู่เบื้องหลังการผลักดันนโยบาย คิดง่ายๆ แล้วกันว่าราคารับซื้อตันละ 8,000 บาทที่ไปซื้อจากชาวนาแล้วมาขายให้รัฐบาลตันละ 15,000 บาท กำไรตันละ 7,000 บาท 20 ล้านตันเป็นเงินเท่าไร ?



กำลังโหลดความคิดเห็น