“ปู” กดปุ่มรับจำนำข้าว วันนี้ “โต้ง” ยันความพร้อมรับจำนำข้าว 100% ขณะที่ผลการถกโรงสีไม่ลงตัว เซอร์เวเยอร์ที่ติดแบล็กลิสต์ หมดสิทธิ์ร่วม โพลนัก ศศ.ไม่เชื่อ “จำนำข้าว” ได้ราคาสูงกว่าตลาด ขณะที่ 82.1% มั่นใจเกิดทุจริตแน่ นักการเมืองได้ประโยชน์ พ่อค้าฟันกำไรพุงกาง
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าในวันที่ 6 ตุลาคม 2554 (วันนี้) นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานในพิธีเปิดการรับจำนำข้าวที่ทำเนียบรัฐบาล พร้อมทั้งแถลงอย่างเป็นทางการถึงวัตถุประสงค์ของการรับจำนำข้าว และจะประกาศว่า ถ้าใครทุจริตและประพฤติมิชอบในโครงการรับจำนำข้าว ต้องถูกเล่นงาน อีกทั้งถ้าใครกังวลว่าโครงการนี้จะไม่เรียบร้อย ก็ให้ช่วยกันจับตาดู โดยรัฐบาลจะทำให้เต็มที่
นายกิตติรัตน์ ยืนยันว่า ขณะนี้ความพร้อมของการรับจำนำข้าวเปลือกนั้น เกือบสมบูรณ์ 100% แล้ว แต่อาจจะมีปัญหาติดขัดอยู่บ้าง ซึ่งในด้านการรับรองโรงสีที่เข้าร่วมโครงการจะทยอยรับรอง หากโรงสีผ่านเกณฑ์ได้รับรองก็สามารถปฏิบัติงานได้ทันที ส่วนโรงสีใดมีปัญหา ยืนยันว่าจะไม่นำมาเข้าร่วมโครงการเด็ดขาด เพราะมีปัญหาแค่ 1-2 ราย อาจจะทำให้ระบบการรับจำนำเสียหายทั้งระบบได้
สำหรับหลักเกณฑ์การดำเนินโครงการ รับจำนำข้าวของโรงสีที่ได้รับคัดเลือกให้ เข้าร่วมโครงการนั้น จะรับจำนำข้าวเปลือกจากเกษตรกรได้ไม่เกิน 30 เท่า ของกำลังการผลิต โดยโรงสีจะต้องวางหลักทรัพย์ค้ำประกัน 50% ของมูลค่าข้าวที่เข้าร่วมโครงการ ส่วนกรณีการรับจำนำข้ามเขตจะต้องวางหลักทรัพย์ค้ำประกัน 100% ส่วนการเก็บรักษาข้าวเปลือกที่รับจำนำไว้ โรงสีจะได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกที่รับจำนำตันละ 55 บาทต่อเดือน เมื่อเก็บข้าวเปลือก ไว้เกิน 90 วัน
ขณะที่การสีแปรสภาพข้าวนั้น ข้าวเปลือกเจ้าให้มีการสีแปรทุก 10 วัน ในอัตรา 100% ของปริมาณข้าวที่รับจำนำ ณ วันที่สั่งสีแปรสภาพ ส่วนข้าวชนิดอื่นให้มีการสีแปรตามมติคณะอนุกรรมการกำกับดูแลการรับจำนำข้าวที่พิจารณาตามความเหมาะสมกับสถานการณ์
ส่วนบริษัทตรวจสอบคุณภาพข้าว หรือเซอร์เวเยอร์ และโรงสีที่ติดแบล็กลิสต์ จะไม่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการ ส่วนการระบายข้าว ขอให้ผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจไปตามปกติ ทั้งผู้ค้าข้าวในประเทศและผู้ส่งออก โดยยืนยันว่ารัฐบาลจะไม่ขายข้าวให้กระทบ ผู้ประกอบการแน่นอน
สำหรับกรณีการรับจำนำข้าวแม้ว่า เกษตรกรจะนำข้าวมาจำนำเกินที่แจ้งปริมาณ ผลผลิตไว้ ก็ให้โรงสีรับจำนำไว้ทั้งหมด โดยกระทรวงพาณิชย์จะดำเนินการตรวจสอบต่อไป โดยในวันที่ 7 ตุลาคม 2554 ซึ่งเป็นวันเปิดรับจำนำวันแรกกระทรวงพาณิชย์จะเปิดห้องปฏิบัติการติดตามควบคุมการรับจำนำข้าวเพื่อกำกับดูแลตลอดโครงการ
รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า นายกิตติรัตน์ ได้สั่งการให้ตั้งคณะกรรมการกำหนดเกณฑ์อัตราค่าสีแปรข้าวสำหรับโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปี 2554/2555 เพื่อให้ได้ข้อสรุปซึ่งเป็นที่ยอมรับร่วมกันได้ระหว่างโรงสีและรัฐบาล ก่อนระบุในสัญญาที่โรงสีต้องลงนามก่อนร่วมโครงการเพื่อเป็นหลักประกันการทำงานที่ชัดเจน
สำหรับองค์ประกอบคณะกรรมการ ได้แก่ ผู้แทนโรงสี ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 1-2 วันนี้ เพื่อให้ทันการเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าว หรือหากล่าช้าจะต้องไม่ให้เกินกว่ากำหนดระยะเวลาสีแปรทุก 10 วัน ซึ่งต้องแล้วเสร็จก่อนวันที่ 17 ตุลาคม 2554 นี้
ด้านศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ทำงานอยู่ในหน่วยงานด้านการวิเคราะห์ วิจัยเศรษฐกิจระดับชั้นนำของประเทศ 31 แห่ง จำนวน 67 คน เรื่อง "อนาคตโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี : ใครกำไร ใครขาดทุน?" โดยพบว่า นักเศรษฐศาสตร์ 50.7% เชื่อว่า ราคารับจำนำข้าวเปลือก ที่ชาวนาจะได้จริง จะต่ำกว่าราคาที่รัฐบาลประกาศไว้ ขณะที่ 38.8% เชื่อว่า ราคารับจำนำที่ชาวนาได้ จะเท่ากับราคาที่รัฐบาลประกาศไว้
อย่างไรก็ตาม ความเห็นที่มีต่อราคาข้าวสารในตลาดโลกโดยรวม ในปี 2555 จะสูงกว่าราคาที่รัฐบาลจะขายหรือไม่ นักเศรษฐศาสตร์ 56.7% เชื่อว่า มีโอกาสน้อย ที่ราคาข้าวสารในตลาดโลกโดยรวมจะสูงกว่าราคาที่รัฐบาลจะขาย ขณะที่ 19.4% เชื่อว่า ไม่มีโอกาสเลย ที่ราคาข้าวสารในตลาดโลกโดยรวมจะสูงกว่าราคาที่รัฐบาลจะขาย มีเพียง 17.9% ที่เชื่อว่า มีโอกาสมาก ที่ราคาข้าวสารในตลาดโลกโดยรวมจะสูงกว่าราคาที่รัฐบาลจะขาย
ส่วนปัญหาทุจริตคอร์รัปชันนั้น นักเศรษฐศาสตร์ 82.1% เชื่อว่าจะมีการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างแน่นอน มีเพียง 4.5% ที่เชื่อว่าจะไม่มีการทุจริต สำหรับกลุ่มผู้ได้รับผลประโยชน์มากที่สุด 3 ลำดับแรก ในโครงการรับจำนำข้าวเปลือก คือ โรงสีไซโล 86.6% นักการเมือง 61.2% และ ผู้ส่งออก 43.3% ส่วนกลุ่มผู้เสียผลประโยชน์มากที่สุดคือ ผู้บริโภค 74.6% ชาวนา 41.8% รัฐบาล 37.3%
ด้านความคิดเห็นที่จะเสนอต่อรัฐมนตรีพาณิชย์ ในการแก้ปัญหาราคาข้าวนั้น นักเศรษฐศาสตร์ 59.7% เห็นว่า ควรแก้ปัญหาโดยไม่เข้าไปแทรกแซงกลไกราคา แต่ควรใช้การประกันราคาในระดับที่เหมาะสมกับต้นทุน ดังที่ได้ดำเนินมาในโครงการประกันรายได้เกษตรกร ของพรรคประชาธิปัตย์ ขณะที่มีเพียง 17.9% ที่เห็นว่าควรแก้ปัญหาโดยใช้วิธีการบริหารจัดการอุปทาน