xs
xsm
sm
md
lg

โพลชี้นักเศรษฐศาสตร์ไม่เชื่อมั่นทีมเศรษฐกิจ “ครม.ปู 1”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  (แฟ้มภาพ)
กรุงเทพโพลล์ เปิดผลสำรวจนักเศรษฐศาสตร์ พบส่วนใหญ่ไม่เชื่อมั่นความรู้ ความสามารถทีมเศรษฐกิจ "ครม.ปู 1" ขณะเดียวกันยังไม่เชื่อมือในการบริหารจัดการราคาสินค้า หรือภาวะเงินเฟ้อได้ พร้อมเสนอให้กำหนดกรอบนโยบายงบประมาณให้กลับสู่งบสมดุลภายในปี 2555

ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ทำงานอยู่ในหน่วยงานด้านการวิเคราะห์ วิจัยเศรษฐกิจระดับชั้นนำของประเทศ 30 แห่ง จำนวน 78 คน เรื่อง “ความเชื่อมั่นของนักเศรษฐศาสตร์ที่มีต่อทีมเศรษฐกิจ ครม.ยิ่งลักษณ์” โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 11-18 ส.ค.ที่ผ่านมา พบว่า นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 48.7 ไม่ค่อยเชื่อมั่นในความรู้ความสามารถของทีมเศรษฐกิจ ครม.ยิ่งลักษณ์ รองลงมาร้อยละ 28.2 มีความเชื่อมั่นค่อนข้างมาก

ส่วนความเชื่อมั่นต่อการบริหารเศรษฐกิจ หรือ GDP ให้ขยายตัวไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ต่อปี ตามที่หาเสียงไว้ ร้อยละ 44.9 เชื่อว่า “สามารถทำได้” ขณะที่ร้อยละ 24.4 เชื่อว่า “ไม่สามารถทำได้”

สำหรับความเชื่อมั่นต่อการบริหารจัดการราคาสินค้า หรือภาวะเงินเฟ้อ ไม่ให้สูงกว่าร้อยละ 5 ต่อปีนั้น ร้อยละ 43.6 เชื่อว่า “ไม่สามารถบริหารจัดการได้” ขณะที่ร้อยละ 35.9 เชื่อว่า “สามารถบริหารจัดการได้”

ด้านความเห็นต่อประเด็นการกำหนดกรอบนโยบายงบประมาณให้กลับสู่งบสมดุลภายใน ปี 2555 ตามที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ได้หารือไว้กับสภาพัฒน์นั้น นักเศรษฐศาสตร์มากกว่าครึ่ง หรือร้อยละ 57.7 เห็นว่า รัฐบาลชุดใหม่ควรกำหนดกรอบนโยบายงบประมาณให้กลับสู่งบสมดุลภายใน ปี 2555 ตามกรอบเดิม

เกี่ยวกับความเห็นต่อประเด็นที่ว่า ปัญหาหนี้สาธารณะที่กำลังบั่นทอนเศรษฐกิจของประเทศแถบตะวันตกในเวลานี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเหมือนเมื่อครั้งเกิด Hamburger Crisis ในช่วงปลายปี 2551 อย่างไร นักเศรษฐศาสตร์กว่าครึ่ง หรือร้อยละ 61.5 เช่นกัน เห็นว่าผลกระทบรอบนี้จะรุนแรงน้อยกว่ารอบที่ผ่านมา

เมื่อถามถึงระยะเวลาที่เศรษฐกิจของประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา และกลุ่มยูโรโซน จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ร้อยละ 43.6 เชื่อว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 4-5 ปี รองลงมาร้อยละ 30.8 เชื่อว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 5-10 ปี

สำหรับข้อเสนอที่นักเศรษฐศาสตร์ต้องการบอกทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ ในการบริหารเศรษฐกิจ การเงิน การคลังของประเทศ รวมถึงการแถลงนโยบายด้านเศรษฐกิจต่อรัฐสภา คือ 1.ให้บริหารเศรษฐกิจด้วยความรอบคอบ คำนึงถึงผลกระทบอย่างรอบด้าน ดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป มีกรอบการดำเนินงานที่ชัดเจน วิเคราะห์สถานการณ์ให้แจ่มชัด และไม่มีการคอร์รัปชันรวมถึงการหวังผลทางการเมือง (ร้อยละ 33.3)

2.ให้รักษาวินัยทางการเงินการคลังอย่างยิ่งยวด บริหารหนี้สาธารณะอย่างเคร่งครัด โดยดูบทเรียนจากสิ่งที่ประเทศตะวันตกกำลังประสบอยู่ (ร้อยละ 28.9)

3.ให้รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจระยะยาว ป้องกันไม่ให้เกิดเงินเฟ้อซึ่งจะสร้างความลำเค็ญให้กับประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ได้รับผลประโยชน์ใดๆ จากนโยบายของรัฐบาลเลย ร้อยละ 22.2
กำลังโหลดความคิดเห็น