xs
xsm
sm
md
lg

“ดร.อัมมาร” ดักคอ จำนำข้าวนำไปสู่คอร์รัปชันซ้ำรอยอดีต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.อัมมาร สยามวาลา
“ดร.อัมมาร” ตอบโจทย์จำนำข้าวช่วยชาวนารวย ส่งผลชาวนาแห่ปลูกข้าวขายรัฐบาล คุณภาพข้าวไทยจะตกต่ำลง หวั่นลดผู้ส่งออกข้าวเหลือรายเดียวเหมือนในอดีต เป็นต้นตอของคอร์รัปชัน ปล่อยข้าวไหลกลับมาขายราคาแพงในประเทศ ผู้ส่งออกหวั่นราคาข้าวไทยแพง ส่วนแบ่งตลาดโลกหดหายแน่นอน

ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ กล่าวในรายการ “ตอบโจทย์” ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ระบุว่า การรับจำนำข้าว และการประกันราคาข้าวเป็นกลไกเพื่อช่วยเหลือชาวนาที่ยากจน แต่ความจริงข้าวส่วนใหญ่ 50%มาจากชาวนาที่รวยที่สุด 15% ซึ่งเราไม่ได้ ช่วยชาวนาที่จนจริงๆ เขาไม่ได้อะไรเท่าไร แต่ชาวนาระดับบนได้เป็นกอบเป็นกำ ชาวนารวยในประเทศไทย 15% ซึ่งอยู่ในกลุ่มที่เป็นยอดปิรามิด รัฐบาลจะจะใช้ เงินหมื่นล้าน หรือแสนล้าน เข้าไปช่วย ถือว่าเป็นการใช้เงินผิดวิธี

การประกันราคาข้าวของรัฐบาลชุดที่แล้ว ถือว่าเข้าใกล้เกษตรกรได้มากกว่า แต่ตั้งเป้าปริมาณการรับประกันราคาไว้สูงเกินไป แทนที่จะตั้งเป้า 30 ตัน อาจจะลดลงมาเหลือ 10-15 ตัน ก็จะช่วยชาวนารายเล็กรายน้อยได้มากกว่า และอาจจะเพิ่มราคารับประกันได้อีกด้วย ซึ่งกลไกการรับประกันราคาถือว่าไม่ได้เข้าไปยุ่งกับตลาด ไม่มีการเข้าไปซื้อไปขาย

ดร.อัมมารกล่าวย้ำว่า ทั้งการรับจำนำ และการประกันราคามีจุดประสงค์ เพื่อช่วยชาวนาที่ยากจน ถ้าชาวนารวย รัฐบาลก็ไม่ต้องทำอะไรทั้งนั้น การรับจำนำเป็นการให้ความช่วยเหลือออกไป ทั้งชาวนารวยทั้งชาวนาจนได้หมด แต่การประกันราคาสามารถทำให้เบนไปให้ความช่วยเหลือชาวนายากจนได้มากกว่า ผลเสียของการรับจำนำข้าว คือ ตลาดข้าวไทย เมื่อก่อนมีประสิทธิภาพสูงมาก ตลาดมีการแยกแยะข้าวดี ข้าวเลวอย่างชัดเจน ถ้าเรารับจำนำข้าวมากๆ ชาวนาจะเร่งปลูกข้าวเพื่อมา ขายให้รัฐบาล คุณภาพของข้าวก็จะดิ่งลงไปเรื่อยๆ เพราะชาวนาจะเร่งแต่ผลิตข้าวออกมา ใช้การปลูกระยะเวลาสั้นๆ ปลูกปีละ 3 ครั้ง เพื่อเร่งเข้าโครงการรับจำนำ เมื่อรัฐบาลรับซื้อข้าวผ่านโรงสี ความพิถีพิถันในการแยกแยะคุณภาพจะหายไปหมด เราต้องดูแลคุณภาพของข้าวด้วย

น.ส.กอบสุข เอี่ยมสุรีย์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า การประกันราคาข้าว ทำให้ชาวนาที่ไม่สามารถนำข้าวมาจำนำที่โรงสี คือ ชาวนาที่อยู่ห่างไกล อยู่ในที่กันดาร ได้รับชดเยส่วนต่างราคาข้าวด้วย ที่ผ่านมามีจำนวนกว่า 3 ล้านราย แต่นโยบายรับจำนำข้าว สำหรับชาวนาที่ไม่สามารถเข้าสู่ระบบจำนำได้ เพราะปลูกเนื้อที่น้อย หรืออยู่ห่างไกล มาโรงสีไม่ได้ ก็ไม่ได้ประโยชน์จากระบบรับจำนำ

การที่รัฐบาลอยากจะยกระดับราคาข้าวในตลาดโลก โดยคิดว่าข้าวไทยกำหนดราคาตลาดโลกได้ จริงอยู่ข้าวไทย 30%ที่ขายในตลาดโลกจะส่งผลต่อราคา ถ้าตอนนี้ กำหนดราคารับจำนำตันละ 15,000 บาท จะทำให้ราคาข้าวเปลือกของไทยแพงที่สุดในโลกเวลานี้ ผู้ค้ารายอื่นในตลาดโลกอาจชวนกันขึ้นราคาตาม แต่เราทำแล้วไม่ ได้ประโยชน์อะไร เพราะประเทศอื่นขึ้นราคาตามก็จริง แต่ก็จะยังต่ำกว่าเรา ทำให้ผู้ซื้อจะไปหาซื้อจากประเทศคู่แข่งก่อน อย่าง เวียดนาม ปากีสถาน อุรุกวัย บราซิล จะถูกซื้อข้าวไปก่อนข้าวไทย ความเชื่อที่ว่าเมื่อซื้อข้าวจากประเทศอื่นหมดแล้วจะหันมาซื้อข้าวของไทยนั้น ตอนนี้เทคโนโลยีการผลิตพัฒนาไปมาก ใช้เวลา 4 เดือน ในการผลิตข้าวออกมา เราก็จะอยู่ที่สุดท้าย อาจจะขายได้บ้างในข้าวบางอย่าง แต่ส่วนแบ่งการตลาดของไทยจะหดลงไปมาก เพราะการซื้อขายข้าวในตลาดโลกราคา ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด

ขณะนี้ราคาข้าวเปลือกอยู่ที่ 11,000-12,000 บาท ถ้ารัฐบาลอยากจะยกราคาขึ้น ควรทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปจะดีที่สุด ไม่ควรประกาศล่วงหน้าให้เป็นเป้าหมาย ถ้าขยับขึ้นทีละน้อยก็ค่อยเป็นค่อยไป แต่การตั้งธงไว้ 15,000 บาท เป็นการกระชากแรงเกินไป ผู้ซื้อในต่างประเทศรับได้ยาก อยากให้รัฐบาลทำอะไรให้กระทบกับ กลไกตลาดน้อยที่สุด เพราะผู้เกี่ยวข้องมีมาก โดยเฉพาะผู้ส่งออกได้รับผลกระทบอย่างจังเป็นคนแรกๆ นอกจากนี้รัฐบาลยังมีธงที่กำหนดว่า จะระบายข้าวที่รับซื้อมา ในราคาต้นทุนบวกค่าใช้จ่าย จะเป็นการมัดมือเท้า ผู้ส่งออกให้กระดิกไม่ได้ ควรระบายข้าวให้สามารถเข้าถึงได้ เช่น เปิดประมูล หรือขายในตลาดล่วงหน้า ทำให้ โปร่งใส บ่งบอกราคาตลาดได้ จริงอยู่ราคาขายอาจจะขาดทุน แต่ถ้ารัฐคิดจะขายตันละ 800 ดอลลาร์สหรัฐฯ คงขายได้ลำบากมาก

ดร.อัมมารกล่าวว่า การที่รัฐบาลมีธง 2 ธง คือ ราคาต้อง 15,000 บาท และใช้วิธีการรับจำนำ จะทำทั้งสองอย่างไม่ได้ ต้องเลือกเอาอันใดอันหนึ่ง ถ้าจะรับจำนำกำหนด ราคาสัก 12,000 บาทก็ยังพอทำเนา ถ้าเอา 15,000 ก็ประกันราคา ผู้ส่งออกก็ไม่ได้รับผลกระทบ มีแต่รัฐบาลควักระเป๋าจ่ายให้ไปตามส่วนต่างราคาตลาด

ตนยังยืนยันคำพูด ดีแต่โม้ เพราะการตั้งราคาสูงๆ แล้วหวังจะขายได้ เป็นไปได้ยากมาก การทำอะไรต้องมีความเป็นไปได้ ถ้า 15,000 บาท รัฐบาลเอาเงินมาทุ่มซื้อ ได้ 23 ล้านตัน จ่ายเงินซื้อไปแล้ว ข้าวมากองอยู่ รัฐบาลจะระบายข้าวออก จะตั้งราคาขาย 800 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ถ้าขายตามราคานั้นได้ก็ถือเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ แต่ความเป็นจริงในตลาดโลกต้องเสรี ไม่มีใครมีอำนาจบังคับใครซื้อใครขายในราคาใด ต้องแข่งขันกัน

ดร.อัมมารตั้งข้อสังเกตว่า วิธีการขายข้าว หลังจากรับจำนำมีหลายวิธี ถ้าราคาขายในตลาดโลกต่ำกว่าราคาในประเทศมากๆ คือ ราคาส่งออกต่ำกว่าราคาในประเทศ ก็มีความกลัวว่าข้าวส่งออกจะไหลกลับมาขายในประเทศ กลัวว่ารัฐบาลอาจจะควบคุมโดยให้มีผู้ส่งออกเหลือรายเดียว เป็นการผูกขาด ซึ่งเคยทำมาแล้วในรัฐบาลยุค ก่อนนี้เคยให้ผู้ค้ารายเดียวมาแล้ว ซึ่งขุมของการคอร์รัปชันอยู่ที่ตลาดส่งออกข้าวในตอนนั้น และจากสุ้มเสียงของรัฐบาลชุดนี้ที่พยายามจะไม่ให้เกิดคอร์รัปชัน ถ้ามี การปล่อยให้ประมูลกันทั่วไป ถ้าคุมผู้ส่งออกไม่อยู่ ข้าวจะรั่วไหลกลับเข้ามาในประเทศ ประมูลซื้อได้ราคาต่ำๆ แต่รักษาราคาในประเทศให้สูงๆ รัฐบาลจะทำอย่าง ไรที่จะควบคุมสิ่งเหล่านี้ ต้องแสดงฝีมือ ต้องมีคุณธรรม ให้ทำทั้งหมดได้โดยไม่โกง ซึ่งทำได้ยาก
กำลังโหลดความคิดเห็น