เชียงราย - พาณิชย์ 17 จังหวัดจับมือเปิดเวทีดันข้าวชุมชนภาคเหนือเข้าตลาดยั่งยืน ทั้งใน-ต่างประเทศ หนุนตลาดข้าวล่วงหน้า-เพิ่มความถี่ประมูลข้าวที่ “ท่าข้าวกำนันทรง” นักวิชาการ ชี้ ภาคเหนือมีกลุ่มผลิตข้าวคุณภาพมากกว่า 10 กลุ่ม ลุ้นจีนตอนใต้นำเข้าผ่าน R3A
วันนี้ (12 ก.ย.) ที่ห้องดอยตุง โรงแรมดุสิตไอส์แลนด์รีสอร์ท จ.เชียงราย นายสุทธิศักดิ์ เลาห์ชีวิน ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ ได้เป็นประธานเปิดการสัมมนาเรื่องโครงการพัฒนาห่วงโซ่มูลค่าข้าว จากระดับชุมชนสู่ตลาดอย่างยั่งยืน ที่สำนักงานพาณิชย์ 17 จังหวัดภาคเหนือ จัดขึ้น
ทั้งนี้ มีพาณิชย์ จ.เพชรบูรณ์ เป็นเจ้าภาพดำเนินการ และพาณิชย์ จ.เชียงราย เป็นเจ้าภาพด้านการจัดเตรียมสถานที่ เพื่อพัฒนากระบวนการผลิต ผลิตภัณฑ์ข้าว และส่งเสริมการตลาดให้กับข้าวไทยในภาคเหนือ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นภาคเอกชน วิสาหกิจชุมชน ฯลฯ จากจังหวัดต่างๆ ในภาคเหนือเข้าร่วมประมาณ 120 คน โดยมีวิทยากรมาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏในภาคเหนือ ตัวแทนจากเครือเซ็นทรัล ฯลฯ
นายสุทธิศักดิ์ กล่าวว่า ข้าวถือเป็นเส้นเลือดสำคัญของประเทศไทย ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์จึงมีนโยบายส่งเสริมการขายข้าวล่วงหน้า เข้าสู่ตลาดหุ้น เปิดตลาดประมูลข้าว ฯลฯ ให้เกิดการซื้อขายเหมือนยางพารา เพื่อเป็นอีกช่องทางในการขยายตลาด โดยเฉพาะการเปิดประมูลข้าวจากเดิมที่ทำที่ท่าข้าวกำนันทรง จ.นครสวรรค์ เดือนละ 1 ครั้ง ก็จะมีความถี่มากขึ้นเรื่อยๆ
นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้มีการจำหน่ายข้าวเป็นกิโลกรัมหรือถุงเล็กมากขึ้น แทนอัตราการชั่งเป็นตันหรือลำเรือเพื่อเพิ่มมูลค่ากรณีส่งออกไปต่างประเทศ รวมทั้งรักษาอัตลักษณ์ของข้าวไทย ซึ่งมีหลากหลายสายพันธุ์ในหลายท้องถิ่น
การส่งออกยังคงระบุแหล่งผลิตส่วนการจำหน่ายภายในประเทศก็มีการบรรจุหีบห่อที่ชัดเจน ซึ่งโครงการนี้ใช้งบประมาณ 7 ล้านกว่าบาท เพื่อส่งเสริมกิจกรรมดังกล่าว ไม่รวมงบประมาณของแต่ละจังหวัด ที่ดำเนินการตามนโยบายอยู่แล้ว
นายชัยยันต์ ยอดคำ พาณิชย์ จ.เพชรบูรณ์ กล่าวว่า ปัจจุบันได้รวบรวมเครือข่ายชุมชนที่ผลิตข้าวคุณภาพได้ประมาณ 100 กว่ากลุ่ม แต่ที่มีศักยภาพจริงๆ ประมาณ 15 กลุ่ม ซึ่งเบื้องต้นได้มีการประสานกับเครือเซ็นทรัลในการนำสินค้าไปจัดจำหน่าย และร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏภาคเหนือ 8 แห่ง ในการวิจัยกลุ่มและข้าวจากแหล่งต่างๆ ดังกล่าว
อ.จินตนา สนามไชยสกุล นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ กล่าวว่า จากการศึกษาพบภาคเหนือมีศักยภาพในการปลูกข้าว มีข้าวคุณภาพดีมากมาย และผลจากราคาข้าว-ตลาดที่เป็นปัญหาในอดีต ก็ได้ทำให้ชาวนากลุ่มต่างๆ มีการรวมกลุ่มกันเป็นเครือข่ายเดิมอยู่แล้ว ดังนั้น โครงการจึงเข้าไปส่งเสริมด้านการบรรจุหีบห่อ ตลาด ดูแลคุณภาพ กระบวนการผลิตอินทรีย์ ฯลฯ ในจำนวน 10 กว่ากลุ่มที่มีศักยภาพ รวมทั้งกำลังจัดทำเป็นเว็บไซด์ และแนะนำเรื่องยี่ห้อ หรือแบรนด์เฉพาะให้แต่ละกลุ่มต่อไป
ด้าน นายเฉลิมพล พงศ์ฉบับนภา พาณิชย์ จ.เชียงราย กล่าวว่า ภาคเหนือเป็นแหล่งผลิตข้าวที่สำคัญของประเทศ โดยในปีการผลิต 2554 มีปริมาณการผลิตสัดส่วนร้อยละ 27.80 ของผลผลิตทั้งประเทศหรือประมาณ 10 ล้านตัน และ จ.เชียงราย ก็มีผลผลิตข้าวเปลือกปีละประมาณ 1 ล้านตัน หรือประมาณ 10% ของปริมาณทั้งหมดของภาคเหนือ รวมทั้งยังเป็นแหล่งข้าวหลากหลายพันธุ์ซึ่งมีชื่อเสียง เช่น ข้าวหอมเขี้ยวงู ข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมสายพันธุ์ต่างๆ มากมาย ฯลฯ
นอกจากนี้ ในปี 2558 ประเทศไทยก็จะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC รวมทั้งในปี 2556 สะพานข้ามแม่น้ำโขงไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 4 ที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย เชื่อมกับถนน R3A ไทย-สปป.ลาว-จีน ประมาณ 250 กิโลเมตร ก็จะแล้วเสร็จ ดังนั้น การพัฒนาเรื่องกระบวนการผลิต คุณภาพ การบรรจุหีบห่อ ตลาด ฯลฯ จึงเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ เนื่องจากในอดีตข้าวเชียงราย ถือว่ามีชื่อเสียงและเป็นแหล่งส่งข้าวที่สำคัญของไทย แต่ปัจจุบันประสบปัญหาเรื่องเส้นทางคมนาคมที่ห่างไกลจากแหล่งส่งออก ดังนั้น เพื่อเพิ่มมูลค่า ส่งเสริมให้มีศักยภาพด้านจุดส่งออกใหม่ไปยังประเทศจีนจึงสำคัญมาก ซึ่งทราบว่าประเทศจีนก็มีความต้องการข้าวไทยเช่นกัน
ล่าสุด วันที่ 8-11 ก.ย.ที่ผ่านมา นายสมชัย หทยะตันติ ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย และตน ได้นำคณะภาครัฐและเอกชน เดินทางผ่านถนน R3A ไปยังเมืองคุนหมิง มณฑลหยุนหนัน มณฑลใต้สุดของจีนก็ทราบว่า จีนมีความต้องการข้าวไทย
ในระหว่างการหารือกับกรมพาณิชย์ มณฑลหยุนหนัน ทราบว่า ทางจีนมีการจัดทำระบบสินค้าผ่านระบบอินเทอร์เน็ตหรือ E-Commerce โดยมีสินค้าของ 4 จังหวัดภาคเหนือ คือ เชียงราย พะเยา แพร่และน่าน อยู่ในระบบ และเป็นที่ต้องการของตลาดจีนเอาไว้จำนวน 300 รายการ หนึ่งในนั้น คือ ข้าว ด้วย แต่การส่งออกข้าวผ่านถนน R3A ไปยังจีนให้ได้ผลก็ต้องประสานกับหน่วยงานเสบียงคลังแต่ละมณฑลของจีน เพื่อเป็นคู่ธุรกิจ หรือพาร์ทเนอร์เพื่อการส่งออกด้วย
ขณะที่ นายสุเกียรติ กิตติธรรมโชติ ตัวแทนจากท็อปซูเปอร์มาเก็ตในเครือเซ็นทรัล กล่าวว่า ปัจจุบันตลาดผู้บริโภคสนใจซื้อข้าวรูปแบบถุงเล็กลงมากขึ้นจากเดิมจำหน่ายกัน 25-30 กิโลกรัม ซึ่งก็ตรงกับนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งท็อปฯ ยินดีให้การสนับสนุนตลาดข้าวไทยอย่างเต็มที่ และถือว่าตลาดข้าวไทยขยายตัวขึ้นโดยข้าวอินทรีย์โตขึ้นกว่า 10% และตลาดข้าวท้องถิ่นที่มีคุณภาพก็โตขึ้นอย่างมากบางแห่งโตกว่า 15% รวมทั้งกรณีการผสมสายพันธุ์ต่างๆ เช่น ข้าวมันปู หอมมะลิ ข้าวสังห์หยด ฯลฯ
“ตอนนี้ตลาดข้าวถุงโดยรวมขยายตัวมากกว่า 40% แล้ว”