xs
xsm
sm
md
lg

“รวงข้าว” คาดใช้จ่ายใน ปท.ดัน ศก.ครึ่งหลัง เร่งตัว เตือนส่งออกข้าวเจอคู่แข่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์วิจัยกสิกรฯ มองทิศทาง ศก.ไทย ครึ่งปีหลัง “จีดีพี” เติบโตได้ 4.0-5.6% แนวโน้มเร่งตั้วขึ้น จากการใช้จ่ายในประเทศ พร้อมเตือนส่งออกข้าวไทย ครึ่งปีหลัง อาจปรับตัวลดลง เพราะอินเดียเตรียมกลับเข้ามาชิงส่วนแบ่งตลาด

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังปี 2554 โดยมองว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (จีดีพี) จะขยายตัวอยู่ที่ประมาณ 4.0-5.6% ถือเป็นระดับที่สูงกว่ากรอบการขยายตัว 3.2-3.5% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2554 โดยจะทำให้ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในปี 2554 ขยายตัวอยู่ในกรอบ 3.5-4.5%

ทั้งนี้ หากแรงเสียดทานทางการเมืองลดระดับลง หลังจากที่รัฐบาลชุดใหม่เข้าบริหารประเทศและสามารถผลักดันบางมาตรการ เช่น นโยบายการปรับเพิ่มรายได้ผ่านการปรับฐานเงินเดือนข้าราชการระดับปริญญาตรี และโครงการจำนำข้าว (ตลอดจนมาตรการตรึงราคาพลังงาน ทั้งน้ำมันดีเซล และก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ NGV ที่ใกล้ครบกำหนดสิ้นสุดระยะของมาตรการ) ได้ทันภายในไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 ก็อาจช่วยบรรเทาแรงกดดันที่มีต่อภาระค่าครองชีพของประชาชน และช่วยกระตุ้นให้การบริโภคของภาคเอกชนสามารถขยายตัวในกรอบที่สูงขึ้นกว่า 4% ในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 ซึ่งเป็นภาพด้านบวกที่ดีกว่าในช่วงครึ่งแรกของปีที่การบริโภคอาจขยายตัวได้ราว 3%

นอกจากนี้ การเร่งฟื้นกำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมของไทยจากภาวะที่หยุดชะงักไปในช่วงไตรมาส 2/2554 อาจจะช่วยหักล้างผลกระทบจากแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีต่อภาคการส่งออกของไทยไปได้บ้างบางส่วน ซึ่งภาพด้านบวกทั้งหมด เมื่อรวมกับปัจจัยฐานการคำนวณเปรียบเทียบที่มีระดับต่ำในช่วงครึ่งหลังของปี 53 ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะอยู่ที่ประมาณ 4.0-5.6% ในช่วงครึ่งหลังของปี 2554

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ปัจจัยสำคัญที่ผู้ประกอบการภาคเอกชนควรติดตามในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 ได้แก่ สถานการณ์การชะลอตัวของเศรษฐกิจในหลายภูมิภาคของโลก (ทั้งสหรัฐฯ และยุโรป ที่กำลังเผชิญกับวิกฤตด้านการคลัง และภูมิภาคเอเชียที่ต้องคงขั้วนโยบายการเงินเป็นเชิงคุมเข้มเพื่อสกัดความเสี่ยงจากเงินเฟ้อต่อเนื่องจากช่วงครึ่งปีแรก) ตลอดจนรายละเอียดที่ชัดเจนของมาตรการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ เพื่อที่จะให้ผู้ประกอบการสามารถวางกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจให้สอดรับกับสภาพแวดล้อมที่อาจเปลี่ยนแปลงไปภายใต้นโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ในระยะข้างหน้า

อย่างไรก็ดี สำหรับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 2/2554 นี้ คาดว่า จะขยายตัวประมาณ 3.5-3.9% ซึ่งแม้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยในหลายภาคส่วนจะเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่กดดันมากขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 ทั้งจากการพุ่งสูงขึ้นของแรงกดดันเงินเฟ้อและต้นทุนการผลิต ตลอดจนปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนในอุตสาหกรรมยานยนต์ แต่การฟื้นกำลังการผลิตจากฝั่งญี่ปุ่นในระดับที่เร็วกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้และเม็ดเงินสะพัดในช่วงก่อนการเลือกตั้ง น่าจะช่วยทำให้ระดับการชะลอตัวที่เกิดขึ้นในไตรมาสที่ 2/2554 ของไทยอยู่ในขอบเขตที่ค่อนข้างจำกัด

**เตือนส่งออกข้าวรับมือ “อินเดีย” ชิงตลาด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังประเมินทิศทางตลาดส่งออกข้างของไทยครึ่งหลังปี 2554 โดยมองว่า การที่อินเดียอนุมัติส่งออกข้าวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติ (Non Basmati Rice) ปริมาณ 1.8 ล้านตัน หลังจากหยุดมาตั้งแต่ปี 2552 โดยส่งออก 3 ช่องทาง คือ เอกชนเป็นผู้ส่งออก 1 ล้านตัน รัฐบาลจำหน่ายให้บังกลาเทศ 3 แสนตัน และจำหน่ายผ่านระบบรัฐบาลต่อรัฐบาลอีก 5 แสนตัน โดยกำหนดราคาส่งออกขั้นต่ำของข้าวขาวตันละ 400 ดอลลาร์สหรัฐฯ และราคาข้าวนึ่ง 450 ดอลลาร์ต่อตันนั้น เป็นการเพิ่มปัจจัยท้าทายการส่งออกข้าวของไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2554

เนื่องจากราคาส่งออกต่ำกว่าไทยค่อนข้างมาก กล่าวคือ เมื่อเทียบกับราคาส่งออกข้าวขาว 100 ชั้น 2 ของไทย (ราคา ณ วันที่ 22 กรกฎาคม 2554) ที่อยู่ในระดับ 563 ดอลลาร์ต่อตันแล้ว ราคาต่ำกว่าถึง 163 ดอลลาร์ต่อตัน ส่วนราคาต่ำกว่าข้าวนึ่งของไทยถึง 100 ดอลลาร์ต่อตัน ส่งผลให้ประเทศผู้นำเข้าข้าวมีแนวโน้มหันไปซื้อข้าวจากอินเดีย ทั้งข้าวขาว และข้าวนึ่ง

โดยในส่วนของข้าวขาว เดิมผู้ส่งออกข้าวของไทยต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงจากเวียดนามในการส่งออกข้าวขาว รวมทั้งการเปลี่ยนนโยบายแทรกแซงตลาดข้าวเป็นมาตรการรับจำนำข้าวที่คาดหมายว่าจะประกาศในเดือนพฤศจิกายน 2554 โดยคาดกันว่า จะตั้งราคารับจำนำข้าวเปลือกเจ้าไว้ที่ระดับ 15,000 บาทต่อตัน และข้าวเปลือกหอมมะลิไว้ที่ระดับ 20,000 บาทต่อตัน ส่งผลให้ราคาข้าวไทยปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2554 ผลที่ตามมา คือ ผู้ส่งออกข้าวของไทยไม่กล้ารับคำสั่งซื้อข้าว เนื่องจากเกรงว่าจะหาซื้อข้าวไม่ได้และเกรงว่าจะประสบปัญหาขาดทุน ส่วนประเทศผู้นำเข้าหันไปสั่งซื้อข้าวจากเวียดนาม ทำให้การส่งออกข้าวในช่วงครึ่งหลังปี 2554 มีแนวโน้มชะลอตัว กล่าวคือ ในช่วงครึ่งแรกปี 2554 ไทยส่งออกข้าวเฉลี่ยประมาณ 1 ล้านตันต่อเดือน แต่คาดว่า ในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มว่าการส่งออกข้าวจะลดลงเหลือเพียง 5-6 แสนตันต่อเดือนเท่านั้น สำหรับในส่วนของตลาดข้าวนึ่งน่าจะได้รับผลกระทบมากกว่า เนื่องจากการส่งออกของอินเดียจะเป็นการเข้ามาชิงส่วนแบ่งตลาดกับไทยโดยตรง

เดิมนั้นวงการค้าข้าวคาดหมายไว้ตั้งแต่ต้นปี 2554 ว่า ในปี 2554 ไทยจะสามารถส่งออกข้าวนึ่งได้ถึง 4 ล้านตัน มูลค่า 62,000 ล้านบาท ทั้งปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นจากปี 2553 ร้อยละ 33.3 และร้อยละ 37.7 ซึ่งจะเป็นการส่งออกที่มากเป็นประวัติการณ์ และเป็นปัจจัยสำคัญของการผลักดันการส่งออกข้าวในปี 2554 รวมทั้งการส่งออกข้าวนึ่งเพิ่งจะฟื้นตัวจากการที่มูลค่าส่งออกหดตัวต่อเนื่องในปี 2552-2553 ดังนั้น การที่อินเดียกลับมาส่งออกข้าวนึ่งอาจจะส่งผลให้การส่งออกข้าวนึ่งในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 ของไทยชะลอลง

ซึ่งการชะลอลงของการส่งออกข้าวนึ่งส่งผลกระทบต่อตลาดข้าวค่อนข้างมาก เนื่องจากข้าวนึ่งพึ่งพาตลาดส่งออกทั้งหมด และมีความสัมพันธ์โดยตรงกับความผันผวนของราคาข้าวเปลือกเจ้าในประเทศ เนื่องจากโรงสีที่ผลิตข้าวนึ่งมีแนวโน้มชะลอการรับซื้อข้าวเปลือกเจ้าเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตข้าวนึ่ง รวมทั้งยังอาจจะส่งผลให้ราคาข้าวนึ่งหน้าโรงสี และราคาส่งออกข้าวนึ่งในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 มีความผันผวนมากขึ้น หลังจากที่ผู้ประกอบธุรกิจข้าวนึ่งต้องเผชิญกับความผันผวนของราคาข้าวนึ่งมากขึ้นตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา

เนื่องจากในปัจจุบันข้าวนึ่งมีสัดส่วนสำคัญในการส่งออกข้าวทั้งหมดของไทยโดยมีสัดส่วนร้อยละ 29.0 ของมูลค่าการส่งออกข้าวของไทย และข้าวนึ่งทั้งหมดที่ผลิตเพื่อการส่งออกเท่านั้น เนื่องจากคนไทยไม่รับประทานข้าวนึ่ง อันเป็นผลจากความไม่คุ้นเคยกับกลิ่นของข้าว รวมทั้งไทยเป็นประเทศที่ผลิตข้าวนึ่งมากที่สุดในโลก ในขณะที่อินเดียซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญในตลาดข้าวนึ่งไม่ได้ส่งออกข้าวนึ่งในช่วงปี 2552-2553 ทำให้ไทยครอบครองตลาดข้าวนึ่งเพียงประเทศเดียว

อย่างไรก็ตาม ความเป็นเจ้าตลาดข้าวนึ่งของไทยเริ่มถูกท้าทายตั้งแต่ช่วงต้นปี 2554 ที่อุรุกวัยและบราซิล สามารถผลิตข้าวได้มากเป็นประวัติการณ์ และหันมาส่งออกข้าวนึ่งประมาณ 1 ล้านตัน ส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวนึ่งของไทยชะลอลงบ้าง แต่ไม่มากนัก เนื่องจากปริมาณการส่งออกไม่มากนัก แต่การส่งออกข้าวนึ่งของอินเดีย จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวนึ่งของไทย เนื่องจากราคาอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าไทยค่อนข้างมาก

สำหรับตลาดข้าวนึ่งที่สำคัญ คือ ประเทศในแอฟริกา ตะวันออกกลาง และ บังกลาเทศ ซึ่งการกลับเข้ามาส่งออกข้าวนึ่งของอินเดียในครั้งนี้ ตลาดส่งออกข้าวนึ่งของไทยที่จะได้รับผลกระทบอย่างมาก คือ ตลาดบังกลาเทศ ซึ่งอินเดียมีความได้เปรียบทั้งในเรื่องของราคา และระยะทางการขนส่ง ส่วนตลาดในแอฟริกา และตะวันออกกลาง ผู้ส่งออกข้าวนึ่งของไทยอาจจะถูกแย่งตลาดไปเพียงบางส่วนเท่านั้น

ประเด็นที่จะต้องติดตาม คือ ในปี 2554/2555 ถ้าสภาพอากาศปกติ อินเดียไม่ประสบกับสภาพลมมรสุมที่รุนแรง และสร้างความเสียหายให้กับผลผลิตข้าว คาดการณ์ว่า อินเดียอาจจะกลับมาส่งออกข้าวขาวได้เพิ่มขึ้น นอกจากอินเดียแล้ว ประเทศที่ต้องจับตามองด้วยคือ เวียดนาม ที่มีแนวโน้มจะเพิ่มปริมาณการส่งออกข้าวนึ่งจากปัจจุบันอยู่ในระดับ 1.0 แสนตัน คาดการณ์ว่า ในปี 2555 เวียดนามสามารถจะส่งออกข้าวนึ่งได้มากถึง 2.0-2.5 แสนตัน
กำลังโหลดความคิดเห็น