xs
xsm
sm
md
lg

“สุทธิพล” ติง “ปู” ไม่มีสิทธิ์ยื้อทูลเกล้าฯ กสทช.เข้าข่ายก้าวล่วงพระราชอำนาจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุทธิพล ทวีชัยการ
เลขาธิการ กกต.ในฐานะว่าที่ กสทช.ยื่นหนังสือลาออกจากเลขาฯแล้วมีผล 18 ก.ย.ปัดมีใบสั่งให้ไปสมัคร กสทช.ย้ำ กฎหมายเขียนชัด “ยิ่งลักษณ์” ไม่มีสิทธิ์ยื้อทูลเกล้าฯรายชื่อ 11 ว่าที่ กสทช.ระบุ หากชะลอเป็นการก้าวล่วงพระราชอำนาจและละเว้นปฏิบัติหน้าที่

วันนี้ (8 ก.ย.) นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ กกต.ในฐานะว่าที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า วันเดียวกันนี้ ตนได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นเลขาธิการ กกต.ต่อ นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต.แล้ว โดยให้มีผลในวันที่ 18 ก.ย.นี้ ทั้งนี้ ยืนยันว่า หลังจากที่ที่ประชุมวุฒิสภามีมติคัดเลือกให้ตนได้ดำรงตำแหน่ง กสทช.เมื่อวันที่ 5 ก.ย.แล้ว ตนเองยังปฏิบัติงานในหน้าที่เลขาธิการ กกต.โดยมาประชุมกับสำนักงาน กกต.ในเรื่องการพิจารณาขั้นเงินเดือนให้กับพนักงาน กกต.และเดินทางไปร่วมเปิดโครงการลูกเสืออาสา ที่ จ.เชียงใหม่ เพียงแต่ไม่ได้เข้าร่วมประชุม กกต.ไม่ได้หนีงาน หรือเกี่ยงงานอย่างที่เป็นข่าว

“ผมรู้สึกไม่สบายใจ เพราะมีการเสนอข่าวในทำนองว่าผมไม่ได้ทำงาน ทำให้ถูกมองว่าไม่ปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งมีข่าวว่าเป็นเลขาธิการ กกต.อยู่ดีๆ แล้ว ทำไมยังกระเสือกกระสนไปเป็นกสทช.จริงๆ ถ้าใครทราบข้อมูลก็จะรู้ว่า ผมจะครบวาระการเป็นเลขาธิการ กกต.ในเดือน พ.ย.นี้ และไม่สนใจที่จะทำงานในหน้าที่นี้ในวาระที่ 2 เพราะต้องการเปิดโอกาสให้คนอื่น จึงจำเป็นที่จะต้องหาอาชีพรองรับ เมื่อ กสทช.มีการเปิดรับสมัครจึงได้ไปสมัคร ไม่ได้เป็นการกระเสือกกระสน หรือมีใบสั่งให้ไปสมัคร แต่ไปสมัครเอง”

นายสุทธิพล ยังกล่าวถึงกรณีที่ถูกระบุว่า ตอนที่เข้ารับการคัดเลือกเป็นเลขาธิการ กกต.นั้น กกต.มีการลดสเปกคุณสมบัติของผู้ที่จะลงสมัครจากเดิมที่ต้องเคยเป็นอธิบดี หรือเทียบเท่าระดับ 10 เหลือแค่เคยมีประสบการณ์ทางด้านงานบริหารเพื่อที่จะตนจะได้รับคัดเลือกเป็นเลขาธิการ กกต.ว่า กรณีถือว่าทำให้ตนเสียหายมาก ทำให้ถูกมองว่าเหมือนเป็นคนไม่มีคุณค่า ทั้งที่ถ้าย้อนไปดูข้อเท็จจริงในขณะนั้น จะพบว่าก่อนที่ตนจะมาเป็นเลขาธิการ กกต.นั้นเลขาธิการ กกต.2 คนแรกที่เข้ามา ประธาน กกต.ในขณะนั้นอาศัยอำนาจของประธาน กกต.ในการเสนอบุคคลเข้ามารับตำแหน่ง แต่มาถึง กกต.ชุดปัจจุบันก็อยากให้มีการคัดเลือกอย่างโปร่งใส จึงมีการกำหนดเงื่อนไขคุณสมบัติ และประสบการณ์ในการทำงาน และที่ว่ามีการลดเงื่อนไขของคุณสมบัติจากที่ต้องเคยดำรงตำแหน่งไม่น้อยกว่าระดับ 10 ลง เหลือเพียงประสบการด้านการบริหารเพื่อล็อคสเป็คให้กับตนเองเพื่อให้ได้รับการคัดเลือกนั้น หากดูประวัติของตนเคยเป็นที่ปรึกษาของศาลมา 12 ปี ตำแหน่งนี้เทียบเท่ากับอธิบดี อีกทั้งเคยทำงานด้านการต่างประเทศ ผ่านระบบงานบริหาร จึงถือว่าตนมีคุณสมบัติเหนือกว่าสเปกที่ กกต.กำหนดเสียอีก และถ้าจะว่าไปแล้วตนต้องฝ่าด่านเข้ามามากกว่าอดีตเลขาธิการ กกต.2 คนแรก

“วันนี้ได้เซ็นหนังสือลาออก และยื่นต่อประธาน กกต.แล้ว ตามที่ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่บัญญัติ ว่า หากได้รับเลือกจากวุฒิสภาแล้ว ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกตั้งต้องลาออกจากตำแหน่งราชการต่างๆ ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับเลือก ซึ่งระยะ 15 วัน จะครบในวันที่ 19 ก.ย.แต่เพื่อไม่ให้มีปัญหาจึงทำหนังสือต่อประธาน กกต.เพื่อให้การลาออกมีผลในวันที่ 18 ก.ย.โดยผมไม่ได้วิตกกังวลกับกระแสข่าวอะไรจนทำให้ต้องมาชะลอการลาออก เพราะจะหมดวาระการดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กกต.ในเดือน พ.ย.อยู่แล้ว”

เมื่อถามว่า ยังห่วงอะไรในสำนักงานกกต.อยู่หรือไม่ นายสุทธิพล กล่าวว่า ตนเป็นห่วง 2 เรื่อง คือ 1.เรื่องการสรรหา กกต.จังหวัดจำนวน 63 จังหวัด ที่ขณะนี้ขั้นตอนการสรรหาได้พ้นในส่วนความรับผิดชอบของตนแล้ว โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาของ กกต.และ 2.เรื่องของเงินเดือนพนักงานกกต.ที่ต้องขอความเห็นชอบจากกกต.เพื่อให้มีการปรับเป็นเปอร์เซนต์

ส่วนเลขาธิการ กกต.คนใหม่ ควรเป็นคนในหรือคนนอก นายสุทธิพล กล่าวว่า ทุกอย่างมีจุดอ่อนและจุดแข็ง ซึ่งต้องเข้าใจว่า องค์กร กกต.พนักงานมีที่มาที่แตกต่างกัน เมื่อเข้ามาแล้วส่วนใหญ่ก็จะทำงานในด้านกิจการนั้นๆโดยที่ไม่มีการย้ายไปในด้านกิจการอื่นๆ จึงทำให้พนักงานไม่รู้สึกว่าตนเองเป็นเจ้าขององค์กร แต่รู้สึกว่าตนเองเป็นเจ้าของแค่ด้านกิจการเท่านั้น มี 5 ด้านกิจการก็เหมือนมี 5 ประเทศ ซึ่งเมื่อตนเข้ามาทำหน้าที่ ถือว่ามากจากคนนอกมองเข้ามาในกกต.ด้วยสายตาที่ไม่มีส่วนได้เสีย ไม่ได้รู้จักใคร ทำให้พนักงานแต่ละด้านไม่รู้สึกระแวงว่าตนเป็นคนของด้านกิจการใด แต่ก็มีข้อเสียว่าไม่คุ้นกับระบบ แต่เมื่อมาเรียนรู้ก็สามารถที่จะบริหารงานได้ ขณะเดียวกัน ในช่วงขณะนั้นภาพลักษณ์ของ กกต.มีปัญหาเรื่องความศรัทธา กกต.ก็เข้ามาใหม่ การจะไว้ใจคนในให้ทำหน้าที่เลขาธิการ กกต.ก็เป็นเรื่องที่ลำบาก สถานการณ์ในขณะนั้นคนนอกเข้ามาจึงถือว่าเหมาะสม และตนก็ได้พิสูจน์ตนเองด้วยการทำงานหนัก และจัดระเบียบการบริหารภายในจน กกต.สามารถเดินหน้าต่อไปได้

“แต่ในขณะนี้เลขา กกต.คนใหม่ ใครที่จะมาเป็นก็ต้องคิดว่า สถานการณ์ปัจจุบันกกต.เหลือวาระเพียงแค่ปีกว่า ขณะที่เลขาฯใหม่จะมีวาระ 5 ปี เชื่อว่าคนที่มาเป็นก็ต้องมองในเรื่องของความก้าวหน้าในชีวิตการงาน คงจะไม่อยู่เป็นเลขาฯครบ 5 ปี เมื่อตำแหน่งกกต.ว่าง เขาก็คิดว่าเขามีสิทธิที่จะไปสมัคร ดังนั้นเขาก็ต้องทำงานในหน้าที่เลขาฯให้เป็นผลงาน เพื่อที่จะได้สมัครเป็นกกต.ได้ จึงคิดว่าคนที่จะมาเป็นเลขาฯกกต.นอกจากจะต้องมีความเป็นกลาง ซื่อสัตย์สจริตแล้ว ต้องเป็นตัวอย่างให้กับบุคลากร และที่สำคัญต้องสามารถบริการจัดการความขัดแย้งได้ดี” เลขาธิการ กกต.กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดทั้งวันพนักงาน กกต.ได้ทยอยเข้าอำลานายสุทธิพล ที่ห้องทำงาน บริเวณชั้น 7 ของสำนักงาน กกต.เนื่องจากสัปดาห์หน้าหลังร่วมกระชุมกับว่าที่ กสทช.ทั้ง 11 คน นายสุทธิพล ก็จะเดินทางไปประเทศจีนตามโครงการเข้ารับการอบรมผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง รุ่นที่ 15 ของกระทรวงยุติธรรม และทางสำนักงาน กกต.ยังไม่ได้มีแผนงานในการจัดงานอำลาให้กับนายสุทธิพล

นายสุทธิพล กล่าวถึงกระแสข่าวที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีอาจจะชะลอการนำรายชื่อ 11 กสทช.ขึ้นทูลเกล้าฯ ว่า ตนเชื่อมั่นในกระบวนการสรรหาของคณะกรรมการสรรหา กสทช.ตลอดจนการสรรหาของที่ประชุมวุฒิสภาว่าเป็นไปตามกฎกติกา ซึ่งเมื่อที่ประชุมวุฒิสภามีมติแล้ว ตามมาตรา 17 ของ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ บัญญัติไว้ชัดเจนว่าให้นายกฯนำความขึ้นกราบบังคมทูลฯ กฎหมายไม่ได้ใช้คำว่าให้นายกฯพิจารณาหรือตั้งคณะกรรมการตรวจสอบก่อนแล้วนำความขึ้นกราบบังคมทูลฯ หากมีการดำเนินการเช่นนั้นก็จะถือเป็นการก้าวล่วงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เมื่อกราบบังคมทูลฯแล้วการจะโปรดเกล้าฯหรือไม่สามารถจะไปก้าวล่วงได้

“กฎหมายเขียนให้นายกฯทำ 2 อย่าง คือ 1.ให้ทราบเรื่องที่ กสทช.ทั้ง 11 คนเลือกใครเป็นประธาน กสทช.และ 2.ให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลฯ ซึ่งคำว่าทราบนั้นคือไม่ได้ให้พิจารณา แต่ทราบก็คือให้ทราบ โดยในเรื่องของการนำขึ้นกราบบังคมทูลฯกรณีต่างๆ เขียนไม่แตกต่างกัน อย่างเช่น เรื่องปัญหาคุณสมบัติของ ส.ส.มาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญ บัญญัติว่า ให้ประธานสภา ส่งเรื่องคำร้องที่ได้รับไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็คือ ประธานสภาไม่มีสิทธิที่จะใช้ดุลยพินิจว่าส.ส.ที่ถูกร้องนั้นมีคุณสมบัติครบถ้วนแล้วจะไม่ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ ดังนั้นเมื่อกฎหมายไม่เปิดให้นายกฯใช้ดุลยพินิจแล้วถ้าไปใช้ดุลพินิจก็เข้าข่ายก้าวล่วงพระราชอำนาจและเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่” นายสุทธิพล กล่าว

นายสุทธิพล ยังกล่าวถึงกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับคดีกระบวนการสรรหา กสทช.ไม่ชอบเป็นคดีพิเศษ ว่า การสอบสวนของดีเอสไปเป็นการสอบสวนทางคดีอาญาตามอำนาจที่มีครอบจักรวาลของดีเอสไอ แต่การที่ดีเอสไอบอกว่ากระบวนการสรรหาไม่ชอบ ต้องมีการสรรหาใหม่นั้น ตนเห็นว่าผู้ที่มีอำนาจจะยกเลิกกระบวนการสรรหาได้นั้นก็คือศาลปกครอง ซึ่งมาตรา 15 วรรคท้ายของ พ.ร.บ.องค์จัดสรรคลื่นความถี่ ได้ให้อำนาจกับผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการสรรหาไปฟ้องร้องต่อศาลได้

“อยากเรียกร้องไปยังผู้ที่เกี่ยวข้อง ขอให้การแต่งตั้ง กสทช.เดินหน้าต่อไปได้ อย่าให้กระบวนการทางการเมืองเข้ามาแทรกแซง เพราะหลังจากที่ประชุมวุฒิสภามีมติ ผมก็ได้พูดคุยกับว่าที่กสทช.เกือบทุกคนมีความตั้งใจที่จะเข้ามาทำหน้าที่นี้ และทุกคนก็คิดว่าไม่ว่าจะมีปัญหาอะไรในขณะนี้ก็จะไปลาออกจากหน้าที่การงานเดิมที่กฎหมายกำหนดเพื่อรอที่จะเข้ามาปฏิบัติหน้าที่เป็น กสทช. ซึ่งไม่ว่าช่วงเวลาจะอีกนานเท่าไหร่ กว่าจะได้เข้าทำหน้าที่ หรือทั้ง 11 คนอาจจะต้องตกงานสักระยะหนึ่งก็ไม่เป็นไร แต่คิดว่านายกฯน่าจะมีทีมกฎหมายที่ดูแลและทำความเข้าใจในเรื่องของการทูลเกล้าฯให้ถูกต้องและดำเนินการนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯโดยเร็ว” ว่าที่กสทช.กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น