“ยุทธศักดิ์” แทงใจดำแก๊งแดง ยันไม่โยกย้าย ผบ.เหล่าทัพแน่นอน พร้อมเตรียมเข้ากราบ “ป๋าเปรม” ในฐานะผู้ใหญ่ที่เคารพ เผยหลังประชุมสภากลาโหมจะหารือ “ประยุทธ์” เตรียมลงพื้นที่ภาคใต้ ก่อนไปเขมรเคลียร์ปัญหาชายแดน ด้าน “อนุดิษฐ์” ไม่หนักใจได้คุมไอซีที แต่ขอเริ่มศึกษาข้อมูลและโครงสร้างกระทรวงก่อน ปฏิเสธเพื่อไทยขัดแย้งกันในเรื่องเก้าอี้รัฐมนตรี
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา ให้สัมภาษณ์
วันที่ 10 ส.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ทางสำนักปลัดกระทรวงกลาโหม บอกว่า จะให้ตนเข้าไปในกระทรวงกลาโหมวันที่ 16 ส.ค.นี้ และจะนัดผบ.เหล่าทัพมารับที่กระทรวงกลาโหมด้วย โดยในช่วงเช้าจะกราบไว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ศาลหลักเมือง ซึ่งตนจะเข้าประชุมคณะรัฐมนตรีก่อนกลับเข้ามาที่กระทรวงกลาโหม เพื่อชี้แจงสรุปสั้นๆ และจะพูดคุยกับผบ.เหล่าทัพ เพื่อให้ผบ.เหล่าทัพมั่นใจในการทำงาน และร่วมกันทำงานตามภารกิจของกระทรวงกลาโหมในการดูแลสถาบันพระมหากษัตริย์ ดูแลด้านความมั่นคง และการพัฒนาหน่วย หากรัฐบาลแถลงนโยบายเสร็จตนจะเริ่มทำงาน ก่อนจะมีการประชุมสภากลาโหม
“ผมจะขอความกรุณาจากผบ.ทบ.ว่า สัปดาห์หน้าจะลงไปเยี่ยมในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้เป็นการส่วนตัวก่อน จากนั้นจะไปที่กองทัพภาคที่ 2 ในพื้นที่จ.ศรีสะเกษ เพื่อดูสถานการณ์ และนำข้อมูลมาคุยกับ ผบ.เหล่าทัพ หลังที่มีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเพราะความเร่งด่วนลำดับแรก คือ การแก้ไขปัญหาชายแดน หากมีเวลาจะไปเยี่ยมกองทัพภาคที่ 3 เพื่อตรวจเยี่ยมอุทกภัยน้ำท่วม ส่วนนโยบายที่จะให้ในที่ประชุมสภากลาโหม คือ นโยบายเดียวกับทั้งพรรคและรัฐบาลที่จะนำไปแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 9 ส.ค.ที่ผ่านมาได้พูดคุยกับนายกรัฐมนตรีถึงการทำงานและสายการบังคับบัญชา ซึ่งท่านบอกว่า กระทรวงอื่นมีรองนายกรัฐมนตรีรับผิดชอบอยู่ สำหรับกระทรวงกลาโหม นายกรัฐมนตรีจะเป็นคนคุมเอง โดยผมจะขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี”พล.อ.ยุทธศักดิ์ กล่าว
พล.อ.ยุทธศักดิ์ กล่าวว่า ในส่วนของสำนักงานรมว.กลาโหม ทางพรรคเพื่อไทยจะมีส่วนในการเสนอบุคคลเข้ามาเป็นเลขานุการ ที่ปรึกษา และ ผู้ช่วยรมว.กลาโหม ซึ่งขณะนี้ตนยังไม่เลือกบุคคลใดมาเป็น ซึ่งตนอยากได้เลขานุการรมว.กลาโหมที่มีลักษณะอย่าง น.อ.อนุดิษฐ์ นาค รทรรพ และน.ต.ศิธา ธิวารี เพราะเขาสามารถติดต่อกับส.ส.ในพรรคได้ แต่คิดว่า เลขาฯไม่จำเป็นต้องเป็นทหาร แต่สามารถพูดคุยกับผบ.เหล่าทัพได้ และเป็นคนที่กว้างขวางพอที่กองทัพจะยอมรับ คือ เลขาฯต้องรับผิดชอบทั้งทางทหาร และสภา ถ้าใครเหมาะสมพร้อมสมัครมา ตนก็พร้อมจะเรียนนายกฯ ส่วนพล.อ.อ.สุเมธ โพธิ์มณี สมาชิก พรรคเพื่อไทยนั้นก็สามารถเป็นได้ เพราะท่านรู้จักส.ส.มาก แต่ท่านอาจจะไม่เป็นเลขาฯตน เพราะจากขีดความสามารถท่านต้องเป็นสูงกว่านั้น แต่หากพร้อมมาเป็นก็ไม่มีปัญหา เชื่อว่า อีก 2-3 วันคงจะหาตัวเลขาฯได้
เมื่อถามถึงความระแวงว่า อาจมีการปรับเปลี่ยนโยกย้ายผบ.เหล่าทัพ พล.อ.ยุทธศักดิ์ กล่าวว่า คงไม่มีการโยกย้ายผบ.เหล่าทัพที่เป็นอยู่ การปรับย้ายคราวนี้ต้องเปลี่ยน 3 ผู้นำหลักทั้งปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้ บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการทหารเรือ การที่ใครจะขึ้นมาเป็นผู้นำได้ต้องคุยกันทุกคน และมีความเห็นชอบ รวมถึงคนที่ขึ้นมาต้องทำงานร่วมกันได้ คิดว่า ตนไม่มีความรู้สึกกินแหนงแคลงใจกับน้องๆเลยสักคน น้องที่เข้ามาอยู่ในกองทัพอย่าง ผบ.สส.สมัยที่เป็นแม่ทัพภาคที่ 4 ตนก็เคยไปรับทราบสถานการณ์จากท่านตลอด ถือว่า ใกล้ชิดกันมาก ส่วนผบ.ทบ.ก็เริ่มรู้จัก และใกล้ชิดกับท่านตั้งแต่ท่านเป็นผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ผบ.ร.21 รอ.) ซึ่งเรารู้จักกันดี ไม่มีปัญหาอะไร
“การปรับย้ายนายทหารขอให้สบายใจได้ ผมจะคุยกับผบ.เหล่าทัพทุกเหล่าทัพว่า เขาคิดอย่างไร ปรับอย่างไร และเมื่อปรับแล้วผลประโยชน์จะเกิดขึ้นกับกองทัพอย่างไร เมื่อทุกอย่างลงตัว และทุกอย่างเกิดผลประโยชน์ต่อส่วนร่วมก็โอเค จึงจะร่วมประชุมและเสนอขึ้นมา ซึ่งง่ายกว่าที่จะมานั่งโหวตกัน ทั้งนี้อย่าไประแวงตามข่าวลือ ข่าวปล่อยเกี่ยวกับการโยกย้าย ตอนนี้ยังไม่มี การพิจารณา ซึ่งเรื่องนี้ต้องโปร่งใสเป็นธรรม และด้วยความเห็นชอบของทุกฝ่าย ซึ่งทุกคนรู้ว่า ตนเป็นตรงไปตรงมา พูดอะไรง่ายๆ หลังจากคุยกันเสร็จทุกคนคงสบายใจ ทั้งนี้ ผมจะไม่เข้าไปเลือกคนที่จะเป็นผบ.เหล่าทัพ แน่นอน แต่จะเป็นลักษณะคุยกับ ผบ.เหล่าทัพว่าที่เสนอคนนี้เพราะอะไร เลือกคนนี้เพราะอะไร แล้วทำไมไม่เลือกคนนี้ทั้งที่อาวุโสสูงกว่า เขาก็ต้องมีเหตุผลให้เราฟัง คิดว่าไม่มีปัญหาวุ่นวาย เพราะเคยเป็นปลัดกลาโหมมาแล้วรู้ปัญหาพวกนี้ดี ทั้งนี้ในวันที่ 10 ส.ค. ระหว่างเข้าเฝ้าฯ เพื่อถวายสัตย์ ฯ คงได้พบกับ ผบ.เหล่าทัพ จากนั้นก็จะนัดคุยกัน นัดกินข้าวแบบเป็นกันเอง ถ้าน้องๆ ไม่มากินกับผม ผมก็ไปขอก๋วยเตี๋ยวกินที่ บก.ทบ.สักชามก็ได้ ไม่ยากหรอกครับ” พล.อ.ยุทธศักดิ์ กล่าว
เมื่อถามว่า จะให้ความเป็นธรรมอย่างไรเพราะที่ผ่านมามีการแบ่งขั้ว บูรพาพยัคฆ์ และ วงศ์เทวัญ พล.อ.ยุทธศักดิ์ กล่าวว่า ก็ต้องบอกเขาว่าตอนนี้ไม่ได้ เมื่อเป็นผู้ใหญ่กันแล้ว ต้องเห็นทุกคนเป็นลูกน้อง ผบ.เหล่าทัพหมด ไม่อย่างนั้นจะเกิดทหารแตงโมเพิ่มขึ้นอีก เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ เพราะตนยึดหลักว่าเข้ามาทำงานใหม่ ต้องมีเพื่อน และ พวกก่อน มาแล้วสร้างศัตรูไม่ใช่นักบริหาร ส่วนกรณีที่พล.อ.อำนวย ถิระชุณหะ ตท.10 ในพรรคเพื่อไทยออกมาต่อต้านท่านที่ได้รับการเลือกให้เป็นรมว.กลาโหม พล.อ.ยุทธศักดิ์ กล่าวว่า ต้องรู้ประวัติคนที่ด่าตนว่า เป็นอย่างไร ตท.10 หลายคนก็โทรศัพท์มาหา บอกว่า เขาไม่ได้ยุ่งด้วย บอกว่าเพื่อนคนนี้ไม่ค่อยได้เรื่อง พล.อ.พิรุณ แผ้วพลสง รองผบ.สส. ก็โทรศัพท์มาถาม ตนไม่รู้ว่า คนพูดเป็นอะไร ไปด่าท่านประธานองคมนตรีทำไม มาหาว่า ตนเป็น รมว.กลาโหมแล้วอำมาตย์จะมีพลังมากยิ่งขึ้น มาพูดอย่างนี้ได้อย่างไร และ คงต้องไปพบพล.อ.เปรม เป็นคนแรก อยู่แล้วในวันที่ 11หรือ 12 สค.นี้เพราะท่านเป็นนายตน และ เป็นผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ จะไม่พบได้อย่างไร
เมื่อ ถามถึงแนวทางการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพ พล.อ.ยุทธศักดิ์ กล่าวว่า กองทัพมีแผนทั้งระยะยาวและระยะสั้นอยู่ ตนคงไม่ไปตัดงบประมาณหรือปรับแผนของเขาโดยเด็ดขาด จะให้เป็นไปตามที่เขาเสนอไว้แล้ว ส่วนที่จะขอใหม่เพิ่มเติมเราต้องดูแผนยุทธการของเขาว่าเหมาะสมหรือไม่ งบประมาณมีหรือไม่ เราคุยกันได้ไม่มีปัญหา ตนเห็นด้วยว่ากองทัพควรมียุทโธปกรณ์ให้ทันสมัยและครบจำนวนกับความต้องการของ กองทัพ ส่วนการจัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือนั้น เราต้องนำมาดูก่อน ทั้งนี้มีผู้ใหญ่กองทัพเรือมาคุยเกี่ยวกับแนวความคิดเรื่องนี้ ซึ่งตนต้องดูว่า การจัดหาเป็นอย่างไร จัดหาอาวุธจากประเทศไหน เหมาะสมกับประเทศไทยหรือไม่ และมีแผนการจัดอย่างไร
เมื่อ ถามว่า จะเป็นกาวใจผสานรอยร้าวระหว่างกองทัพกับพรรคเพื่อไทยหรือไม่ พล.อ.ยุทธศักดิ์ กล่าวว่า ต่อไปถ้ามีอะไร เราต้องคุยกัน ตนจะเป็นตัวแทนกองทัพว่า กองทัพหรือพรรคเพื่อไทยทำอะไรที่กระทบกระเทือนต่อกันหรือไม่ การพูดกันไปมา ต่อไปจะไม่มีการพูดกันให้แคลงใจกันอีก ระหว่างที่หาเสียงบางคนที่พูดกระทบกระเทียบกองทัพ ตนก็ขอร้องว่า อย่าพูดเลย เพราะกระทบกระเทือนใจ และไม่ส่งผลประโยชน์อะไร ซึ่งเขาก็เข้าใจ เชื่อว่า ต่อไปความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับพรรคเพื่อไทยคงดีขึ้น ซึ่งตนไม่หนักใจกับเรื่องนี้ เพราะตนรู้จักกับส.ส.ทุกคนทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล กลุ่มคนต่างๆตนก็รู้จัก ตอนนี้ยังไม่รู้สึกว่า ใครเป็นฝ่ายตรงข้าม ทุกคนเป็นเพื่อนที่ดีหมด อยู่ที่ว่า จะทำอย่างไรให้เกิดความรักความสามัคคี ความปรองดอง ถือเป็นภารกิจที่ท้าทาย และเป็นงานสำคัญของประเทศ
“หากทำได้ประเทศก็จะเกิดความสุข ต่อไปกองทัพต้องเป็นกองทัพของประชาชน จะไม่ให้ออกมาเกิดภาพว่า เป็นกองทัพของพรรคใดพรรคหนึ่งแล้วถ้าพรรคเพื่อไทยเข้ามาอีก ไม่อยากให้กองทัพมาทำอะไร แต่จะต้องทำให้กองทัพและพรรคการเมืองแข็งแรง เพื่อให้แข็งแรงทั้งคู่จึงจะอยู่ด้วยกันได้ ถ้าพรรคอ่อนแอเมื่อไหร่ก็จะอาศัยกองทัพ ต้องไม่เอากองทัพไปเป็นที่พักอาศัยของพรรคการเมือง ในสมัยที่ผ่านช่วงรัฐบาลประชาธิปัตย์ เกิดจากการเมืองอ่อนแอเลยต้องมาอิงกองทัพ ถ้าการเมืองและกองทัพแข็งแรงก็ไปด้วยกัน”
เมื่อถามว่า จะทำอย่างไรจึงจะแก้ข้อกล่าวหาว่า พรรคเพื่อไทยไม่จงรักภักดีได้ พล.อ.ยุทธศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้เริ่มดีขึ้น และผู้ใหญ่ระดับสูงในพรรคเริ่มมีความคิดที่จะทำทุกอย่างเพื่อสนองพระเดชพระคุณ และเทิดทูนสถาบัน เพราะสถาบันเป็นศูนย์รวมใจของคนไทย เมื่อถามว่า มั่นใจหรือไม่ว่า ทหารจะไม่ปฏิวัติ พล.อ.ยุทธศักดิ์ กล่าวว่า ไม่มี มั่นใจว่า ทหารยุคนี้ไม่ทำ และถ้าตนได้ข่าวว่า จะมีการปฏิวัติ ตนจะเดินไปไหว้ และถามว่า ไม่พอใจอะไรรัฐบาล สามารถคุยกันได้
พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิ ประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงนโยบายการแก้ไขปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชาว่า จากท่าทีของ สมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ที่ญาติดีกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทย ควรให้นายกฯ ของเรา คุยกับสมเด็จ ฮุนเซนก่อน เพื่อเปิดไฟเขียว ให้ พล.อ.เตีย บันห์ รมว.กลาโหมของกัมพูชา และให้มีการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป ไทย –กัมพูชา (จีบีซี) เกิดขึ้น แต่ถ้านโยบายเหมือนรัฐบาลเก่าก็จะประชุมลำบาก ถ้าเราไม่ประชุม จีบีซี ก็คงไม่ได้คุยกันเรื่องถอนทหาร ผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซียก็เข้ามาไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ต้องทำตามศาลโลกเขาบอกให้เราทำ แต่ทำอย่างไรไม่ให้เสียเปรียบ ต้อง วิน-วิน ด้วยกันทั้งคู่ คนเราจะพูดกัน วิน-วิน ได้ต้องเป็นเพื่อนกัน ตนตั้งใจว่า ถ้าฮุนเซน ไฟเขียว เตีย บันห์ ก็จะเรียก เตีย บันห์ มาก่อน มากินข้าวกันที่กรุงเทพฯ จากนั้น ตนจะเดินทางไปคุยกับเขา เราเป็นเพื่อนกันเก่ามาตั้งแต่ตนเป็นปลัดกระทรวงกลาโหม รมช.กลาโหม ประชุมด้วยกันบ่อยในต่างประเทศ เขาจะนั่งอยู่ข้างเราตลอด ก็จะคุยกันง่ายขึ้น
ด้าน น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) กล่าวว่า ตนพร้อมเดินหน้าและทำตามนโยบายของพรรคต่อทันทีหลังได้เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ซึ่งสิ่งที่ต้องเข้าไปดูแลเป็นอันดับแรกคือ ต้นทุน หรือ ทรัพยากรที่มีอยู่ ทั้งงบประมาณและบุคลากร รวมถึงศึกษาข้อมูลและโครงสร้างต่างๆ ของกระทรวง เพื่อให้มีความพร้อม หากจะดำเนินนโยบาย ตนไม่รู้สึกหนักใจ และพร้อมจะทำหน้าที่ ที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุด
ส่วนการวิพากษ์วิจารณ์ถึงบุคคลที่เข้ารับตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีบางตำแหน่งไม่เหมาะสมนั้น น.อ.อนุดิษฐ์อ้างว่า ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย แต่ละคนมีความรู้และมีความสามารถหลายคน จึงอยากให้ทุกคนได้มีโอกาสแสดงความสามารถ
ส่วนกระแสข่าว กรณีที่ ส.ส.ในพรรคเพื่อไทยมีความขัดแย้งและไม่พอใจตำแหน่งรัฐมนตรีนั้น น.อ.อนุดิษฐ์กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริงเพราะทุกคนต่างเคารพและมอบหมายให้ผู้บริหารของพรรคเป็นคนตัดสินใจ สำหรับตนก็ไม่ได้มีการพูดคุย หรือหารือกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับตำแหน่งรัฐมนตรีด้วย