คงต้องจับตาดูการประชุมใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์ที่จะมีขึิ้นในวันเสาร์ที่ 6 สิงหาคมนี้ เพื่อปรับเปลี่ยนองคาพยพกันแบบยกเครื่องใหม่ หวังจะทำให้โฉมใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์ไฉไลพอที่จะแข่งรัศมีพรรคเพื่อไทย ที่ขับเคลื่อนรวดเร็วและรุนแรง ทั้งยังเพียบพร้อมไปด้วยเล่ห์เพทุบายอย่างหาตัวจับได้ยาก
ความเปลี่ยนแปลงคณะผู้บริหารพรรคประชาธิปัตย์ในคราวนี้ เป็นผลจากที่พรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้ยับเยินในการเลือกตั้งให้กับพรรคเพื่อไทย พรรคการเมืองที่มีอายุยาวนานมากว่า 60 ปี จะมีอนาคตยืนยาวและรุ่งโรจน์ต่อไปได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงที่ต้องเกิดจากการเก็บเกี่ยวใช้บทเรียนความพ่ายแพ้มาปรับปรุงการทำงาน ให้มีความเข้มแข็งก้าวข้ามจุดอ่อนเดินหน้าสร้างจุดแข็งได้สัมฤทธิ์ผลเพียงใด
คนที่จะทำหน้าที่ชูธงฟ้าสู้ธงแดงชัดเจนโดยไม่ต้องลุ้นว่า อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคหลังพ่ายศึกเลือกตั้งจะได้รับเลือกให้กับมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอีกครั้งหนึ่ง และคนที่จะเป็นเลขาธิการพรรคซึ่งอภิสิทธิ์จะต้องเสนอ 2 รายชื่อให้ที่ประชุมลงมติ
ไม่น่าจะพลิกโผไปจาก จุติ ไกรฤกษ์ และ เฉลิมชัย ศรีอ่อน
ซึ่งมีการตกลงเป็นการภายในแล้วว่า “จุติ”น่าจะถอนตัว เพื่อให้ “เฉลิมชัย” ลอยลำเข้าวินในตำแหน่งเลขาธิการพรรคตามแรงหนุนของ “อภิสิทธิ์” ที่มีการทำความเข้าใจกับผู้ใหญ่ในพรรคแล้วไม่ว่าจะเป็น ชวน หลีกภัย บัญญัติ บรรทัดฐาน หรือ ไตรรงค์ สุวรรณคีรี ก็ไม่มีใครส่ายหัวปฏิเสธ
เว้นแต่ สุเทพ เทือกสุบรรณที่ยังตะขืดตะขวงใจใส่เกียร์เดินหน้าอยากให้มีการแข่งขันจริงจังโดยส่ง “จุติ”เป็นคู่ชิง หวังคุมอำนาจผ่าน “จุติ” แต่ดูเหมือนว่าความพยายามดังกล่าวจะไม่เป็นผล โดย “จุติ”น่าจะได้รับการเสนอชื่อให้เป็นรองหัวหน้าพรรคในโควต้ากลางของอภสิทธิ์
เช่นเดียวกับ ชำนิ ศักดิเศรษฐ์ และ กรณ์ จาติกวณิช ส่วนจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ ขวัญใจนายหัวชวนต้องแข่งขันชิงคะแนนเสียงกับ ถาวร เสนเนียม ที่เอาจริงเอาจังกับการสู้ศึกนี้ ว่ากันว่า จะเป็นศึกที่สูสีและขับเคี่ยวกันมากที่สุดในการเลือกตั้งภายในของพรรคคราวนี้
สำหรับรองหัวหน้าพรรคภาคกลางชิงชัยกันระหว่าง สาธิต ปิตุเตชะ และ อลงกรณ์ พลบุตร ว่ากันว่าสง่าราศีของสาธิตดูจะมาแรงเพราะเดินไปไหนตอนนี้ใคร ๆ ก็เรียกล่วงหน้าว่า “ท่านรอง” ส่วนจะได้เป็นรองหัวหน้าพรรคหรือเป็นได้แค่ไก่รองบ่อนก็ต้องวัดกันในวันที่ 6 สิงหาคมอีกที
ส่วนรองหัวหน้าพรรคภาคเหนือ ชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ ยังมีความสนใจและมีคู่ท้าชิงรายใหม่ศัตรูถาวรของ จุติ ไกรฤกษ์ อย่าง นคร มาฉิม อาสาตัวเข้าชิง แต่ดูท่าว่าน่าจะอับแสงเพราะการเคลื่อนไหวกดดันข่มขู่พรรคว่าจะมี 20 ส.ส.ย้ายสังกัดแถมผิดคิวเสนอชื่อแสลงใจผู้เฒ่าในพรรคประชาธิปัตย์ให้เป็นเลขาธิการพรรคก็ทำให้เกิดอาการไม่ปลื้มอนาคตที่จะเป็นผู้บริหารพรรคของ “นคร” จึงดูมืดมนมากกว่าจะกระจ่างใส
สำหรับรองหัวหน้าภาคอีสานชิงดำกันระหว่าง คุณหญิงกัลยา โภณพานิช กับ อิสระ สมชัย
ขณะที่ กทม.น่าจะเป็นการแข่งขันกันระหว่าง อภิรักษ์ โกษะโยธิน และ องอาจ คล้ามไพบูลย์ โดย “อภิรักษ์”ดูจะมีโอกาสมากกว่า เพราะได้คะแนนสงสารที่ต้องพลาดจากตำแหน่งเลขาฯและยังได้แรงหนุนเต็มเหนี่ยวจากสุเทพ เทือกสุบรรณด้วย
ความเปลี่ยนแปลงที่คนจับตามากที่สุดคงหนีไม่พ้นชื่อของ เฉลิมชัย ศรีอ่อน ที่กำลังได้รับโอกาสจาก อภิสิทธิ์ให้เป็นแม่บ้านพรรคประชาธิปัตย์
โดยหวังว่าจะช่วยทำให้ยุทธศาสตร์การขยายฐานเสียงในพื้นที่ภาคกลาง เหนือตอนล่าง และอีสานใต้ เพื่อช่วงชิงคะแนนเสียงพลิกสถานการณ์ให้พรรคมีโอกาสชนะพรรคเพื่อไทยซึ่งกุมเสียงเกือบจะเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในอีสาน แม้จะไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ก็ต้องถือว่ามีลุ้เน และเป็นความพยายามที่จะหายใจด้วยตัวเองแทนการยืมลมหายใจของเนวิน ชิดชอบ มาต่ออำนาจทางการเมืองให้จนพ่ายแพ้ไม่เป็นกระบวนท่าจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา
แน่นอนว่า ชื่อชั้นของ “เฉลิมชัย” ยังเปรียบเหมือนกระดูกอ่อนสำหรับสาธารณชนแต่ในแวดวงคนการเมือง ส.ส.ทั้งประชาธิปัตย์และต่างพรรครู้ดีว่า เป็นนักเลงพูดจริงทำจริง ใจถึงพึ่งได้ พร้อมช่วยเหลือหากทำได้หวังสร้างบารมีมากกว่าการเรียกรับประโยชน์ตอบแทน ซึ่งถือว่าซื้อน้ำใจคนการเมืองได้พอสมควร
การเลือก “เฉลิมชัย”เป็นเลขาฯ คิดกันว่าจะช่วยสร้างจุดแข็งเติมเต็มให้อภิสิทธิ์มีความครบเครื่องมากขึ้น เพราะจะได้ภาพการเข้าถึงรากหญ้าผ่านนักเลงลูกทุ่งอย่างเฉลิมชัยด้วย แตกต่างจากการได้ “กรณ์” หรือ “อภิรักษ์” เป็นเลขาพรรค เพราะภาพและกลุ่มเป้าหมายของคนทั้งคู่คือกลุ่มเดียวกับของอภิสิทธิ์
ดังนั้น การได้ใครคนใดคนหนึ่งในสองคนนี้มาเป็นเลขาฯพรรคจึงไม่ก่อให้เกิดแรงหนุนนสร้างความเข้งแข็งเพิ่มให้อภิสิทธิ์แต่อย่างใด เนื่องจากจุดแข็งเหมือนกันแถมอภิสิทธิ์มีเหนือกว่าหลายขุม จึงไม่จำเป็นต้องเดินหมากซ้อนในทางการเมือง แต่ควรเก็บแต้มไปเล่นในตำแหน่งอื่นน่าจะมีประโยชน์มากกว่า
สำหรับคนที่จะเป็นรองเลขาธิการพรรคน่าจะเป็น นราพัฒน์ แก้วทอง นิพนธ์ บุญญามณี และ ศุภชัย ศรีหล้า
เปลี่ยนตัวผู้บริหารแล้วใช่ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะก้าวกระโดดเป็นพรรคอันดับหนึ่งได้ในข้ามคืน แต่ยังต้องทำงานหนักในการกำหนดยุทธศาสตร์ให้เข้าถึงประชาชนขยายฐานเสียงให้ได้มากที่สุด เป็นโจทย์ใหญ่ที่ อภิสิทธิ์และผู้บริหารพรรคชุดใหม่ โดยเฉพาะ เฉลิมชัย ต้องพิสูจน์ตัวเอง