xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” ปรับยุทธศาสตร์พรรค ดึง “คนนอก-คนใน” ร่วมทำงาน ยันตั้ง ครม.เงาแน่

เผยแพร่:

“มาร์ค” ประกาศปรับยุทธศาสตร์พรรคใหม่ ดึงคนในและคนนอกมีส่วนร่วมการทำงานในพรรคมากขึ้น พร้อมเตรียมตั้ง ครม.เงา ยันเน้นตรวจสอบมากกว่าตอบโต้ทางการเมือง แนะ “เฉลิมชัย” พิสูจน์ตัวเองหลังลูกพรรคอีก 30% ยังไม่เชื่อมั่นในฝีมือ ด้านเลขาธิการพรรคคนใหม่ ขอขับเคลื่อนพรรคให้สมกับที่ประชาชนฝากความหวังไว้ เผย ปชป.ได้ “ชวนนท์” เป็นโฆษกพรรคคนใหม่ เพื่อไทยยินดี “อภิสิทธิ์” รีเทิร์นหัวหน้าพรรค หวังทำงานสร้างสรรค์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ประชุมพรรคเลือกนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์อีกสมัยแล้ว นายอภิสิทธิ์ได้เสนอชื่อรองหัวหน้าพรรค 6 คน ประกอบด้วย นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน นายกรณ์ จาติกวณิช นายจุติ ไกรฤกษ์ นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ นายวิฑูรย์ นามบุตร และนายธีระ สลักเพชร อย่างไรก็ตาม นายวิฑูรย์ นายกรณ์ และนายธีระ ได้ถอนตัว ดังนั้นจึงมีการลงมติเลือกรองหัวหน้าพรรคเพียง 3 คน โดยต้องใช้เสียงของสมาชิกในที่ประชุมรับรองเกินกึ่งหนึ่งตามข้อบังคับ ซึ่งปรากฏว่านายอภิรักษ์ ได้ 95.06% นายจุติได้ 92.51% และนายชำนิได้ 91.49%

จากนั้น นายอภิสิทธิ์ได้เสนอชื่อนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน และนายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ เป็นเลขาธิการพรรค แต่นายชัยวุฒิถอนตัว ที่ประชุมจึงลงคะแนนรับรองนายเฉลิมชัยเพียงคนเดียว โดยได้คะแนนสนับสนุน 72% ส่วนรองเลขาธิการพรรคไม่พลิกโผ ได้แก่ นายนิพนธ์ บุญญามณี, นายนราพัฒน์ แก้วทอง และนายศุภชัย ศรีหล้า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในส่วนของตำแหน่งเหรัญญิก นายอภิสิทธิ์ได้เสนอชื่อนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ และดร.ผุสดี ตามไท แต่ ดร.ผุสดี ตามไทได้ขอถอนตัว ตำแหน่งนี้จึงตกเป็นของนายชินวรณ์

ส่วนตำแหน่งนายทะเบียน นายอภิสิทธิ์ได้เสนอชื่อนางอัญชลี วานิช เทพบุตร และนายนคร มาฉิม แต่นายนครได้ขอถอนตัว ตำแหน่งนี้จึงเป็นของนางอัญชลี

สำหรับตำแหน่งโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ได้เสนอนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี และนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต ซึ่งนายอรรถวิชช์ได้ขอถอนตัวจาการเสนอชื่อ อย่างไรก็ตาม นายชวนนท์มีคุณสมบัติไม่ครบ 1 ใน 5 ตามข้อบังคับข้อ 21 หากจะเป็นกรรมการบริหารพรรคต้องขอเสียง 3 ใน 4 ของที่ประชุมให้รับรอง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ จึงได้ขอมติที่ประชุมให้ยกเว้นและขอเสียงรับรอง ซึ่งต้องเกิน 296 โดยที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบ 321 คนจาก 331 คน นายชวนนท์จึงได้เป็นโฆษกพรรคประชาธิปัตย์

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้สัมภาษณ์ภายหลังได้รับเลือกให้กลับมาเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์อีกครั้งว่า หลังจากนี้จะเรียกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่มาพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการ เนื่องจากต้องรอคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับรองผลการประชุมครั้งนี้อย่างเป็นทางการ ถึงจะเรียกประชุมอย่างเป็นทางการได้ โดยเนื้อหาการพูดคุยจะพูดถึงการปรับยุทธศาสตร์ของพรรค โดยจะเปิดโอกาสให้คนทั้งในและนอกพรรคเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น

สำหรับการตั้ง ครม.เงานั้น ยืนยันว่าจะตั้งแน่นอน เพราะอยากให้เห็นว่าพรรคเป็นฝ่ายค้านที่ใส่ใจปัญหาของประชาชน โดยจะตรวจสอบด้วยข้อมูลมากกว่าการตอบโต้ทางการเมือง

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า สำหรับนายเฉลิมชัยที่เป็นเลขาธิการพรรคคนใหม่นั้น เป็น ส.ส.ที่ทำงานหนักให้กับพรรค โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลางที่ทำให้พรรคสามารถช่วงชิงส.ส.ได้ ยืนยันว่า ภายในพรรคไม่มีกลุ่มที่ต่อต้านนายเฉลิมชัย ส่วนคะแนน 30% ที่ไม่ได้โหวตให้นายเฉลิมชัยนั้น เป็นเพราะสมาชิกยังไม่มีความมั่นใจ ซึ่งก็เป็นการบ้านของนายเฉลิมชัยที่จะต้องทำให้คนเหล่านั้นเชื่อมั่น

ส่วนกรรมการบริหารพรคคชุดเก่าที่หมดสภาพไปนั้นก็ยังเป็นกำลังสำคัญที่ทำงานให้พรรคอยู่ เพียงแต่ปรับบทบาทหน้าที่ไปตามสถานการณ์ที่เหมาะสม

ด้าน นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน กล่าวว่า พรรคยังเป็นความหวังของประชาชนอยู่ จึงต้องขับเคลื่อนพรรคให้เดินไปข้างหน้า คงต้องมีการพูดคุยกันในคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ว่า เมื่อเป็นฝ่ายค้านเราจะเดินหน้าอย่างไร ตนมั่นใจว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลงในแง่การพัฒนาหรือด้านยุทธศาสตร์ใน 2-3 เดือน

“พรรคต้องปฏิรูปเพื่อให้ดีขึ้นสมกับที่ประชาชนได้ตั้งเป็นความหวัง ส่วนจะปรับปรุงอย่างไรนั้นต้องรอประชุมกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ก่อน สำหรับคะแนนส่วนต่างอีก 30% ที่ไม่ได้โหวตให้ผมนั้น มองว่าเป็นกระบวนการตามประชาธิปไตย ซึ่งผมก็ยินดีพิสูจน์ตนเองผ่านการทำงาน”

นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงว่า จากกรณีที่ประชุมใหญ่วิสามัญพรรคประชาธิปัตย์ เลือกนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นสมัยที่ 2 ในนามพรรคเพื่อไทยขอแสดงความยินดี และการทำงานภายใต้โครงสร้างกรรมการบริหารชุดใหม่ หวังว่าจะเป็นการทำงานอย่างสร้างสรรค์ สิ่งใดที่เห็นว่าติดขัดรัฐบาลพรรคเพื่อไทยก็พร้อมรับการตรวจสอบและทำงานร่วมกัน สร้างนิมิตหมายที่ดีและสร้างความสบายใจให้กับประชาชนในฐานะผู้ใช้อำนาจผ่านการลงคะแนนเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย
กำลังโหลดความคิดเห็น