โฆษก ปชป. ระบุร้อง กกต.สอบ "นช.แม้ว-สมาชิกบ้านเลขที่ 111" ช่วยเพื่อไทยหาเสียง เพื่อพิสูจน์ให้ความจริงปรากฎ ไม่หวังยุบพรรค พร้อมติง กกต.เอาผิด "เจ๊ปู" ผัดหมี่แจกชาวบ้านไม่เหมาะ เหตุเป็นแค่วิธีการในการหาเสียง ด้าน โฆษกเพื่อไทย โต้ ปชป.ร้องยุบ พท.ให้ย้อนดูสมัย "มาร์ค" จับมือ "เติ้ง-เนวิน-สุวัจน์" ตั้งรัฐบาล แนะควรไปแก้คดีแก๊งแดงร้อง กกต.ยุบ ปชป. กรณี "เทพเทือก" ใส่ร้ายจะดีกว่า
นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ รักษาการโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า พรรคขอยืนยันว่าจะให้ความสำคัญกับการดำเนินการอย่างสร้างสรรค์ หลังจากที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.และการสอบสวนเรื่องที่ได้รับการร้องเรียนในการคัดค้านการเลือกตั้งที่จะเสร็จสิ้นในสัปดาห์หน้า โดยในวันพุธที่ 13 ก.ค. พรรคได้นัดพบปะส.ส.ของพรรคเพื่อหารือในการเดินหน้าประเทศไทยและการทำงานของพรรคในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ โดยอยากเห็นทุกฝายร่วมกันผลักดันประชาธิปไตยในประเทศ ก้าวพ้นความขัดแย้ง นำสู่ความปรองดองอย่างแท้จริง
นพ.บุรณัชย์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาคณะทำงานฝ่ายกฎหมายของพรรคได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อกกต.ไปหลายเรื่องรวมถึงกรณีที่สมาชิกบ้านเลขที่ 111 เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งโดยอยากให้ กกต.สอบสวนให้ความจริงเป็นที่ปรากฏ ส่วนผลการสอบสวนจะนำสู่เรื่องใด จะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคหรือไม่นั้น ถือเป็นเรื่องของ กกต.ที่จะพิจาณาตามากระบวนการยุติธรรม ยืนยันว่า การที่พรรคยื่นเรื่องไม่ใช่ไม่พอใจผลการเลือกตั้งแล้วจะร้องยุบพรรคเพื่อไทย
ส่วนที่มีการร้องให้กกต.สอบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าที่นายกรัฐมนตรีกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งเพราะผัดหมี่และแจกชาวบ้านระหว่างการหาเสียงนั้นพรรคมองว่าเป็นแค่วิธีการหนึ่งในการหาเสียง พรรคไม่ได้ถือเป็นสาระที่จะร้องเอาผิดใคร ส่วนกรณีที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ยื่นให้กตต.สั่งให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะนั้น พรรคประชาธิปัตย์ไม่ทราบเรื่อง แต่คิดว่ามีหลายกลุ่มที่ยื่นเรื่องให้กับ กกต.ซึ่งเป็นกระบวนการข้อสงสัยและต้องการให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม ให้ทุกฝ่ายยอมรับได้
ด้าน นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรค แถลงถึงกรณีที่นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ ยื่นคำร้องต่อ กกต.ให้ยุบพรรคเพื่อไทย โดยกล่าวหาว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และสมาชิกบ้านเลขที่ 111 เข้าไปช่วยหาเสียง และก้าวก่าย สั่งการ ทำตัวเสมือนเป็นกรรมการบริหารพรรค ว่า เรื่องนี้ถือเป็นสิทธิของนายวิรัตน์ และสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ แต่พรรคเพื่อไทยเห็นว่าน่าจะเป็นเรื่องเก่าที่นำมาเล่าใหม่ และร้องเรียนใหม่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ผิดกฎหมาย และไม่มีเหตุที่จะยุบพรรคเพื่อไทยได้
เหตุผลเนื่องจาก 1.ในมาตรา 97 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งปี 2550 ห้ามกรรมการบริหารพรรคที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง เฉพาะการไปเป็นกรรมการบริหารพรรค การตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่เท่านั้น จะไปตีความจำกัดสิทธิถึงขนาดห้ามแสดงความคิดเห็นทางการเมืองเลยคงไม่ได้
2.เมื่อครั้งที่พรรคประชาธิปัตย์ โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล กับพรรคร่วมรัฐบาล ทั้งกลุ่มของนายเนวิน ชิดชอบ นายบรรหาร ศิลปอาชา และนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ซึ่งบุคคลเหล่านี้ก็ล้วนเป็นผู้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเช่นกัน แต่กลับมีอำนาจในการตัดสินใจแทนพรรคร่วมรัฐบาล และการแต่งตั้งคนเข้าไปเป็นรัฐมนตรี
นอกจากนี้นายอภิสิทธิ์ ยังได้เชิญคนเหล่านั้นไปร่วมประชุมด้วยหลายครั้ง ทั้งที่บ้านพิษณุโลก หรือแม้แต่ภายในทำเนียบรัฐบาล ซึ่งภาคประชาชนก็เคยร้องไปยัง กกต.ให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคร่วมรัฐบาลในขณะนั้น แต่ กกต.ได้ยกคำร้อง โดยเห็นว่าไม่มีกฎหมายห้ามไว้ จึงขอให้นายอภิสิทธิ์ได้ทบทวนบทบาท อย่างน้อยก็ช่วยสั่งสอนลูกพรรคว่าควรย้อนไปดูเรื่องเก่า ๆ ที่ตัวเองเคยทำไว้ด้วย”
3. บุคคลที่พรรคประชาธิปัตย์อ้างถึง เช่น พ.ต.ท.ทักษิณ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ และนายจาตุรนต์ ฉายแสงนั้น ไม่มีตำแหน่งในพรรคเพื่อไทย และไม่เคยมาสั่งการ ก้าวก่ายการบริหารใดๆ ของพรรค เพียงแต่มีการแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อ และผ่านการพูดคุยกันบ้างในฐานะคนไทยที่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา จึงขอให้นายอภิสิทธิ์ และพรรคประชาธิปัตย์ใจกว้าง อย่าเพียงหยิบยกมาเป็นกระแสเพื่อหวังเพียงชิงพื้นที่หน้าสื่อเท่านั้น ไม่เช่นนั้นประชาชนจะมองว่าขี้แพ้ชวนตี ไม่มีน้ำใจนักกีฬา เป็นพรรคฝ่ายค้านที่ทำหน้าที่ฝ่ายแค้น
4.กรณีที่มีการยื่นต่อ กกต.เพื่อให้ตีความคุณสมบัติแกนนำ นปช.ที่เป็นผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทยนั้น พรรคเพื่อไทยก็ขอเรียกร้องไปยังพรรคประชาธิปัตย์ว่าอย่ากดดัน กกต. เพราะผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่เป็นแกนนำ นปช.นั้น มีคุณสมบัติครบถ้วน ไม่มีข้อห้ามในรัฐธรรมนูญ และขณะนี้มันผ่านขั้นตอนการพิจารณาของ กกต.มาแล้ว ดังนั้นอย่าได้ทำให้สังคมเกิดความสับสน และขอให้บุคคลที่ยังมีอารมณ์ค้างทางการเมือง อย่างนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์คนอื่น ๆ อย่ากดดัน กกต. แต่ควรที่จะไปแก้คดีที่ทีมกฎหมายของพรรคเพื่อไทย และสมาชิก นปช.ไปร้องต่อ กกต.ให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ กรณีที่นายสุเทพใส่ร้ายระหว่างการหาเสียง