xs
xsm
sm
md
lg

สภาผ่านกฎหมายลูก3ฉบับ เลือกตั้งล่วงหน้าเหลือ1วัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อวานนี้ (7 เม.ย.) มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม มีวาระสำคัญ คือ การแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ในวาระที่ 2 - 3

**เลือกตั้งล่วงหน้าเหลือวันเดียว

ทั้งนี้ ในการพิจารณา สมาชิกได้มีการอภิปรายกันมากใน มาตรา 6 / 1 เพิ่มเติมมาตรา 9 / 1 ที่กรรมาธิการวิสามัญได้พิจารณาแก้ไข กำหนดให้มีการจัดการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า จากสองวันเหลือหนึ่งวัน และจะต้องลงทะเบียนล่วงหน้า แต่ยังมี ส.ส.บางส่วนได้สงวนคำแปรญัตติ ไม่เห็นด้วย โดยควรให้ยกเลิกการเลือกตั้งล่วงหน้า เพราะเกรงว่าจะไม่เป็นธรรม และขัดรัฐธรรมนูญ
อาทิ นายประเกียรติ นาสิมมา ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า นอกเหนือจากประเด็นปัญหา เรื่องการเปิดให้มีการทุจริตมากขึ้น ในช่วงการเลือกตั้งล่วงหน้าแล้ว รัฐธรรมนูญยังกำหนดให้มีการจัดการเลือกตั้งเพียงวันเดียวทั่วประเทศ ดังนั้นหากมีการจัดการเลือกตั้งล่วงหน้า แม้จะเป็นเพียง วันเดียว ก็อาจขัดรัฐธรรมนูญได้ ตนจึงได้เสนอคำแปรญัตติ ไม่ให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้า
ด้านนายพีระพันธุ์ พาลุสุข กรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ฯ กล่าวว่า กรรมาธิการพิจารณาแล้วเห็นว่า ยังมีความจำเป็นต้องจัดการเลือกตั้งล่วงหน้า เนื่องจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 72 ระบุให้ต้องอำนวยความสะดวกในการเลือกตั้งให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ และที่ผ่านมาทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ได้กำหนดเหตุจำเป็นของผู้ที่ไม่สามารถใช้สิทธิได้ และเปิดให้มีการลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังอภิปรายกันอย่างกว้างขวางใน มาตรา 6 / 2 ซึ่งระบุให้เปิดให้พรรคการเมืองเข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาเกี่ยวกับการแบ่งเขตการเลือกตั้ง เพราะเห็นว่า มีส่วนสำคัญที่จะส่งผลต่อผลการเลือกตั้ง
ขณะที่นายบุณยเกียรติ รักชาติเจริญ รองเลขาธิการ กกต. ในฐานะกรรมาธิการฯ ชี้แจงว่า ในการแบ่งเขตเลือกตั้ง จังหวัดที่มี ส.ส.เพียงคนเดียว 7 จังหวัด ไม่ต้องแบ่งเขตใหม่ แต่ในส่วนจังหวัดอื่น ๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงเขตเลือกตั้ง โดยเฉพาะจังหวัดที่มีจำนวน ส.ส.ลดลง อาจจะเป็นที่สับสนได้ จึงมอบให้ทาง กกต.จังหวัดไปแบ่งเขตเลือกตั้ง และติดประกาศที่ตัวจังหวัด เพื่อเปิดโอกาสให้ได้ตรวจสอบจากสาธารณะ ซึ่งในช่วงวันที่ 18-19 เม.ย. จะสามารถดำนเนินการแบ่งเขตได้แล้วเสร็จ ส่วนการจะประกาศเขตเลือกตั้งได้ น่าจะเป็นช่วงหลังจากมีการประกาศยุบสภาแล้ว

** กม.ลูก 3 ฉบับผ่านฉลุย

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. ในวาระที่ 3 ด้วยมติเอกฉันท์คะแนน 354 เสียง งดออกเสียง 2 ไม่ลงคะแนน 4 เสียง
จากนั้นที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ฉบับที่) พ.ศ....ด้วยคะแนนเสียง 349 ต่อ 0 เสียง งดออกเสียง 7 ไม่ลงคะแนน 7 เสียง
ส่วน ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ ) พ.ศ... ที่ประชุมมีมติเห็นชอบด้วยคะแนนเสียง 355 ต่อ 0 งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนน 6 เสียง
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการใน ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว. โดยกมธ.ได้ตั้งข้อสังเกตว่า กกต.ต้องทำการตรวจสอบหลักฐานเอกสารการลงทะเบียนของผู้มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งที่มาใช้สิทธิก่อนวันเลือกตั้งอย่างเคร่งครัด และพิจารณาถึงเหตุผลความจำเป็นอย่างแท้จริง ว่าสมควรอนุญาตหรือไม่ ถ้าไม่สมควรอนุญาต ต้องแจ้งให้ใช้สิทธิล่วงหน้าทราบโดยเร็ว การจัดเก็บหีบบัตรเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้งให้จัดไว้ในสถานที่ที่มีความปลอดภัย สามารถมองเห็นได้ตลอดเวลา และจัดให้มีอุปกรณ์ทางอิเลกทรอนิกส์ หรือมาตรการอื่นร่วมในสถานที่จัดเก็บด้วย รวมทั้งประชาชนสามารถตรวจสอบได้ง่าย
ส่วนการเคลื่อนย้ายหีบบัตรเลือกตั้ง ควรกำหนดให้มีตัวแทนพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งเข้าร่วมการสังเกตการณ์ด้วย โดยกำหนดมาตรการการมีส่วนร่วมในการป้องกัน และรักษาความปลอดภัยของหีบบัตรให้กับพรรคการเมืองทุกพรรค และกำหนดระยะเวลาการลงคะแนนเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้ง ควรกำหนดระยะเวลาเช่นเดียวกับวันเลือกตั้ง เพื่อมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเกิดความสับสนในการลงคะแนน และหากมีการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งในครั้งต่อไป ควรที่จะมีการพิจารณาแก้ไขระยะเวลาการลงคะแนนเลือกตั้ง เป็น 08.00 -16.00 น. เพื่อเป็นการเปิดโอกาสในการขยายการใช้สิทธิให้แก่ประชาชน

** วุฒิฯเริ่มพิจารณา 11 เม.ย.
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการหารือร่วมกับประธานวุฒิสภา ถึงการบรรจุระเบียบวาระการพิจารณากม.ลูก 3 ฉบับ หลังจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ผ่านในวาระที่ 3 ว่า นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา แจ้วว่าจะบรรจุระเบียบวาระดังกล่าว ในวันจันทร์ที่ 11 เม.ย.นี้ คาดว่า การพิจารณาของวุฒิสภา จะเสร็จสิ้นภายในเดือนเม.ย.นี้ได้ จากนั้นจะส่งต่อไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ คิดว่าน่าจะเดินไปได้ตามตารางเวลา ดังนั้นการยุบสภาน่าจะยังเกิดได้ไม่เกินสัปดาห์แรกของเดือนพ.ค.
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาล่าช้า การยุบสภาจะล่าช้าออกไปหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ต้องขอดูข้อกฎหมายอีกที แต่คิดว่าจริงๆ แล้วกกต. น่าจะมีความมั่นใจมากขึ้นในการออกระเบียบ ถ้ามีความจำเป็น เพราะอย่างน้อยมีเนื้อหาสาระที่สามารถไปอยู่ในระเบียบ ซึ่งกกต.พูดได้เต็มปากเต็มคำว่า สภาผู้แทนราษฎร ก็เห็นชอบแล้ว
เมื่อถามว่า ทำไมต้องยึดติดกับสัปดาห์แรกของเดือนพ.ค. ในการยุบสภา นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่ เราได้พูดไปแล้ว เวลาเราทำอะไร ถ้าหากไปอ้างเรื่องนั้น เรื่องนี้ พวกคุณอาจจะเป็นคนแรกที่มาว่า ตนไม่รักษาคำพูด
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการแสดงความกังวลค่อยข้างมาก เกี่ยวกับการใช้อำนาจรัฐในการเลือกตั้ง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนรับรองได้ว่า เราต้องการให้การเลือกตั้งยุติธรรม และโปร่งใส คนที่กังวลมาก คือ คนที่เคยทำอะไรไว้เยอะ เมื่อถามว่าอาจถูกนำไปอ้างไม่ยอมรับการเลือกตั้ง นายกฯ กล่าวว่า กกต.สามารถที่จะเป็นหลักประกันได้ เพราะกกต. เป็นอิสระ

**ให้กกต.เจ้าภาพลงสัตยาบันฯ

เมื่อถามว่า ก่อนการเลือกตั้งพรรคการเมืองควรลงสัตยาบัน ยอมรับการเลือกตั้งหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คิดว่าทุกอย่างอยู่ที่การกระทำ และที่เคยเรียนไว้คือ อยากได้มีโอกาสพูดคุยกันระหว่างทุกพรรคการเมือง กับกกต. เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า เป็นการแข่งขันที่เป็นธรรม โดยกกต.ต้องเป็นเจ้าภาพหลัก ให้ทุกพรรคมาหารือร่วมกัน ขณะเดียวกันตนอาจจะหารือไม่เป็นทางการไปอีกที
สำหรับปัญหาการขัดขวางการลงพื้นที่หาเสียงนั้น ทุกพรรคมีหน้าที่ที่จะต้องทำให้พรรคการเมืองทุกพรรคลงพื้นที่ได้ ถ้ามีพรรคไหนขัดขวาง ก็ผิดกฎหมายเลือกตั้ง สำหรับตนยังไม่ได้วางแผนเรื่องลงพื้นที่ เพราะมีข้อจำกัด เนื่องจากการเป็นรัฐบาล
ผู้สื่อข่าวถามว่าจะประกาศตัวเป็นนายกฯ อีกหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คนที่จะอาสาตัวเข้ามา ก็ต้องมีการประกาศตัวชัดเจนทุกคนอยู่แล้ว ทุกพรรคต้องเสนอตัวว่าจะสนับสนุนใคร อย่างไร เมื่อถามว่าพรรคเพื่อไทย ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องหัวหน้าพรรค นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เขาบอกว่า ยุบสภาแล้วจะชัด ซึ่งเขาคงมีอยู่ในใจแล้ว แต่อ้างว่ากลัวช้ำ ไม่รู้ว่ามีอะไรต้องช้ำ
กำลังโหลดความคิดเห็น