ผ่าประเด็นร้อน
นาทีนี้สำหรับพรรคประชาธิปัตย์คงจะต้องทำใจให้ได้ และสลัดความรู้สึกเก่าๆ ทิ้งไป แล้วเชิดหน้าก้าวเดินไปข้างหน้า ไม่เว้นแม้แต่ผู้สนับสนุนที่เลือกเข้ามาทั้งในระบบบัญชีรายชื่อเกือบ 10 ล้านเสียง และระบบเขตอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วมันก็ถือว่าไม่ใช่น้อย คนเหล่านี้ก็ต้องเลิกจมปลักอยู่กับสถานการณ์เก่าๆ
สิ่งที่ต้องพิจารณากันมากเป็นพิเศษก็คือ คณะกรรมการบริหารชุดใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่จะมาแทนชุดเก่าที่ได้แสดงความรับผิดชอบลาออกไปหลังจากพ่ายแพ้การเลือกตั้งให้กับพรรคเพื่อไทยอย่างหมดรูป แต่ถึงอย่างไรมีการคาดหมายกันอยู่แล้วว่า อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ น่าจะได้รับความไว้วางใจให้กลับมาเป็นหัวหน้าพรรคอีกครั้ง เพราะเมื่อฟังดูสัญญาณรอบข้างล้วนออกมาเสียงเดียวกันว่า หัวหน้าพรรคคนต่อไปยังคงชื่อ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
หากมองอีกมุมหนึ่งการลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคเมื่อสองสามวันก่อน หลังทราบผลการเลือกตั้ง น่าจะเป็นโอกาสอันดีสำหรับการเริ่มต้นใหม่ของพรรคการเมืองเก่าแก่พรรคนี้ อย่างน้อยก็เป็นการโละคณะกรรมการบริหารชุดเก่าออกไปพร้อมกันด้วย จากนั้นค่อยมาคัดเลือกทีมงานผู้บริหารพรรคชุดใหม่สำหรับการก้าวสู่การแข่งขันยุคใหม่
ที่ผ่านมาก็ต้องยอมรับว่า การบริหารพรรคประชาธิปัตย์ในยุคสอง “คู่หู” ในยุคที่มี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหัวหน้าพรรค และ สุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นหัวหน้าพรรค ได้สร้างความ “ล้มเหลว” และสร้างความผิดหวังกับฝ่ายที่ให้การสนับสนุนมากพอสมควร โดยเฉพาะเมื่อเป็นแกนนำรัฐบาลนานกว่า 2 ปี 6 เดือน แทนที่จะสามารถสร้างนิติรัฐ บังคับใช้กฎหมายกับคนทำผิดกฎหมาย กับคนที่มีพฤติกรรม “ผู้ก่อการร้าย” เป็นหัวโจกกระทำการเผาบ้านเผาเมือง หยุดยั้งขบวนการล้มเจ้า แต่กลายเป็นว่าเขากลับไม่ได้ทำอะไรเลย ทั้งที่ควบคุมดูแลหน่วยงานความมั่นคง แต่ทุกอย่างออกมาเป็นตรงกันข้าม
แม้กระทั่งปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่คนไทยส่วนใหญ่ตั้งความหวังเอาไว้ว่าปัญหาน่าจะคลี่คลาย เพราะเมื่อครั้งเป็นฝ่ายค้านมีการอภิปราย เหมือนกับมีความรอบรู้อย่างละเอียด ขณะเดียวกันความที่เปรียบเสมือนเป็น “พรรคคนใต้” แต่ผลออกมาก็ไม่มีอะไรดีขึ้น ตรงกันข้ามกลับเลวร้ายลง ความรุนแรงมีเพิ่มมากขึ้น ลุกลามขยายเข้ามาในเมืองย่านธุรกิจ แม้ว่าที่ผ่านมามีการปรับปรุงการบริหารในท้องถิ่นเสียใหม่ ล่าสุดมีการบังคับใช้กฎหมายศูนย์การบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) แต่สถานการณ์ก็ยังไม่กระเตื้อง
อีกทั้งยังมีการเล่นเกมการเมืองอยู่ตลอดเวลา มีความพยายามผลักมิตรเป็นศัตรู ไม่รักษามวลชนที่เคยสนับสนุน แต่กลับพยายามหาทางทำลายทุกวิถีทางไม่ว่าจะเป็นการ “เหมารวม” ว่าเหลืองกับแดงในทำนองว่าเลวพอกัน เพื่อให้ตัวเองดูดี อยู่เหนือความขัดแย้ง อะไรประมาณนั้น
ปัญหาในเรื่องทุจริตคอร์รัปชันที่ขยายวงลุกลามไม่น้อยกว่ายุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร มิหนำซ้ำยังมากกว่าด้วยซ้ำไป การทำลายระบบราชการด้วยการย้ายข้าราชการอย่างไม่เป็นธรรม มีการซื้อขายตำแหน่ง ย้ายข้ามหัวเพื่อสนองการเมืองกันอย่างมโหฬาร แต่ที่ผ่านมาอภิสิทธิ์ในฐานะนายกรัฐมนตรีกลับไม่ดำเนินการแก้ไขอย่างจริงจัง อย่างมากก็มีแค่ตั้งคณะกรรมการซื้อเวลา หรือทำท่าขัดขวาง แต่ในที่สุดก็ปล่อยไป เปิดทางให้พรรคร่วมรัฐบาล อย่างกลุ่ม เนวิน ชิดชอบ จากพรรคภูมิใจไทย “ขี่คอ” มาตลอด
โดยเฉพาะอย่างยิ่งความล้มเหลวในการแก้ปัญหาปากท้องของชาวบ้าน ซึ่งถือว่านี่คือประเด็นปัญหาที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ต้องประสบความพ่ายแพ้การเลือกตั้งอย่างหมดรูปก็มาจากเรื่องสาเหตุหลักดังกล่าว เนื่องจากชาวบ้านมีความรู้สึกว่าเป็นยุค “ข้าวยากหมากแพง” ที่สำคัญยังไม่เคยปรากฎมาก่อนว่าคนไทยต้องเข้าคิวยาวเหยียดเพื่อรอลุ้นซื้อน้ำมันปาล์มเพียงขวดเดียว ซึ่งก็เกิดขึ้นในรัฐบาลที่อภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรี และมีสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นรองนายกฯและเป็นประธานคณะกรรมการน้ำมันปาล์มแห่งชาติ ปัญหาการบริหารงานที่เชื่องช้า ไม่ทันการณ์ เช่นเรื่องการดูแลเยียวยาปัญหาอุทกภัย และภัยพิบัติที่เกิดขึ้นซ้ำซาก
ปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชาในกรณีปราสาทพระวิหาร ที่ทำให้ไทยต้องเสียศักดิ์ศรี เสียดินแดน สิ่งดังกล่าวล้วนเกิดขึ้นจริง ล้มเหลวจริงในยุครัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ จนสร้างความผิดหวังให้กับชาวบ้าน
แม้ว่าหากพูดไปแล้วเหมือนกับการ “ฟื้นฝอยหาตะเข็บ” แต่ก็จำเป็นต้องพูดและต้องย้ำกันอีกครั้งกันให้ละเอียด จะได้เข้าใจ และที่สำคัญหากพรรคประชาธิปัตย์จะกลับมาชนะใจคนไทยส่วนใหญ่ และอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะกลับมาเป็นหัวหน้าพรรค รวมไปถึงจะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ก็ต้องสรุปบทเรียนดังกล่าวอย่างทันท่วงที เพราะเชื่อว่าคนไทยยังให้โอกาสกับเขา ยังเชื่อว่าเขาเป็นคนรุ่นใหม่ มีคุณวุฒิที่เหมาะสม แต่ที่ผ่านมา “ไม่ได้เป็นตัวของตัวเอง” เหมือนอยู่ภายใต้การครอบงำของคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นสุเทพ หรือเนวิน เพื่อแลกกับการเป็นนายกรัฐมนตรีให้นานที่สุด โดยละเลยในเรื่องสำคัญดังกล่าวมา
นอกจากนี้หากจะกลับมาอีกครั้งก็ต้อง “เปิดกว้าง” เปลี่ยนแปลงทัศนคติเก่าๆเสียใหม่ เลิกรับฟังเฉพาะคนใกล้ชิดเพียงไม่กี่คน เพราะที่ผ่านมาถูกมองว่าทั้งรัฐบาลและในภายในพรรคเรื่องสำคัญถูกกำหนดโดย “แก๊งไอติม” จนทำให้เกิดความผิดพลาดมาตลอด
ถ้าพิจารณาจากรูปการณ์และโอกาสของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่จะกลับมาเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์รวมไปถึงการกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในวันหน้าก็ยังมีอยู่ไม่น้อย แต่ขณะเดียวกันก็ต้องมีการปรับกระบวนทัศน์กันใหม่ รวมไปถึงการเปลี่ยนทัศนคติในการทำงานของพรรคเสียใหม่ให้มีความฉับไว เปิดกว้างรับฟังความเห็นจากภายนอกให้มากขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงจะให้เห็นผลก็ต้องออกมาในลักษณะที่เรียกว่าแบบ “ปฏิวัติ” กันใหม่เลยทีเดียว ที่สำคัญหากจะก้าวเดินไปข้างหน้า เขาต้องเลิกจับคู่หรือเลิกเป็นหุ่นเชิดให้กับ สุเทพ ได้แล้ว และกลับมาเป็นตัวของตัวเอง สรุปบทเรียนในอดีตอย่างรอบคอบ
เชื่อว่าสิ่งเหล่านี้ คนฉลาด อย่างเขาน่าจะรู้และเข้าใจดีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าจะ “ใจถึง” กล้าเปลี่ยนแปลงหรือเปล่าเท่านั้